“ทุกวันนี้มองว่าชีวิตข้าราชการเดินมาไกลเกินกว่าที่คาดหวังไว้ ส่วนตัวใฝ่ฝันทำงานสืบสวนมาตั้งแต่เรียนอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชอบอ่านหนังสือพิมพ์คดีอาชญากรรม จึงเกิดความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่แกะรอยจากสิ่งใด จนสามารถตามจับกุมคนร้ายได้ แรงจูงใจลงมือของผู้ต้องหาคืออะไร ก็นำประสบการณ์มาใช้กับงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยต่อยอดองค์ความรู้ปรับให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้สามารถไขปริศนาคดีอาชญากรรม”
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผอ.กองเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เล่าว่า ปัจจุบันโลกออนไลน์ไร้พรมแดน ทุกคนติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ชีวิตสะดวกสบายขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีด้านมืดเช่นกัน บางคนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฯ กลับนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น หลอกลวงเหยื่อเพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือเงินทอง อาชญากรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อบุคคลทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน แผ่ขยายวงกว้างระดับประเทศ
ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าวว่า ภารกิจงานกองเทคโนฯ ทำงานด้านอาชญากรรมทางออนไลน์ การโจมตีผ่านระบบหรือพวกแฮกเกอร์ วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ ภัยคุกคาม และคดีละเมิดทางเพศเด็กผ่านสื่อโซเชียล ฯลฯ มีข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยจะไม่ทำงานทับซ้อนกับตำรวจไซเบอร์เนื่องจากมี พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547
หากย้อนปี 2539 หลังจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.รุ่น 50) เป็นพนักงานสอบสวนหรือร้อยเวร สน.มีนบุรี คือ โรงพักแรกที่ฝึกงาน ปีถัดมาย้ายอยู่ สน.ลาดพร้าว ประมาณ 2 ปี คิดว่าตัวเองโชคดีได้ทำสำนวนการสอบสวนหลายคดีแตกต่างกันเพราะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ละแวกพื้นที่รับผิดชอบเปรียบเสมือนเมืองใหม่กำลังเจริญเติบโต หมู่บ้านจัดสรรผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด คดี “ลัก-วิ่ง-ชิง-ปล้น” คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญก็เกิดขึ้นตามมา เนื่องจากส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เปลี่ยว ไม่มีกล้องวงจรปิดเหมือนปัจจุบัน บางคืนมีเหตุเรียกแท็กซี่มาปล้นหรือฆ่าข่มขืนตามซอกซอย รวมทั้ง อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ยักยอก ฉ้อโกง เทคนิคความซับซ้อนวิธีการโกง ริเริ่มนำบัตรเครดิตเข้ามาใช้
ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าวอีกว่า ตามคำชักชวนของตำรวจรุ่นพี่ที่นับถือจึงได้รับโอกาสเข้าร่วมงาน กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 (กก.สส.บก.น.4) เมื่อปี 2543 นับเป็นท้องที่คดีอุกฉกรรจ์มากสุดในนครบาลยุคนั้นและเรียนรู้กับตำรวจฝีมือดีหลายท่าน ยกตัวอย่าง คดีฆ่าหั่นศพชาวจีนและคนร้ายก็เป็นชาติเดียวกันทิ้งหมกข้างทาง แกะรอยจากเศษกระดาษกล่องยาแปรงสีฟันยี่ห้อหนึ่งติดอยู่แผ่นหลังของศพ เพียงชิ้นเดียว ขนาด 1*1 นิ้ว เริ่มจากแผนประทุษกรรม วิเคราะห์บุคคลคาดว่าจะก่อเหตุ จนสามารถจับกุมคนร้ายได้สำเร็จ หรือ คดีโจรสะพานลอยดักชิงทรัพย์ผู้หญิงช่วงกลางคืนในสถานที่เปลี่ยวๆ จะค่อนข้างยากเพราะไม่มีต้นสายปลายเหตุ คนร้ายกับเหยื่อไม่รู้จักกันมาก่อน
กระทั่งปี 2548 โอนย้ายจากตำรวจเปลี่ยนเครื่องแบบ “ดีเอสไอ” ตามคำแนะนำของ พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ อดีต ผบก.สส.ภ.8 (มาช่วยราชการตอนก่อตั้งองค์กรใหม่ ก่อนย้ายกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ว่าน่าจะเหมาะกับเรา ประกอบกับข้อกฎหมายของดีเอสไอเอื้อต่องานสืบสวน มีมาตรการพิเศษต่างๆ อาทิ การแฝงตัวในองค์กรอาชญากรรม การได้มาซึ่งข้อมูลที่มีกฎหมายรองรับ โดยตำแหน่งแรก พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 6 (ยศ ร.ต.อ.) กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับมอบหมายลงไปปฏิบัติหน้าที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 1 ปี ช่วยงานสืบสวนหาข่าวในพื้นที่ สมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรองอธิบดีดีเอสไอ และ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดี
และกลับส่วนกลาง กรุงเทพฯ ปี 2549 อยู่ส่วนสืบสวนและสะกดรอย กองพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ เป็นชุดสืบสวนตามประเด็นต่างๆ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย แฝงตัวในองค์กรอาชญากรรมตามจับกุมคดีค้างเก่า และมีโอกาสเดินทางไปอบรมกับ เอฟบีไอ ได้นำองค์ความรู้มาใช้ อาทิ ปลอมตัวอยู่ในแก๊งชาวต่างชาติ สะกดรอย เป็นต้น
ต่อมา ย้ายทำงานกองกิจการต่างประเทศ ประมาณปี 2550 รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมระหว่างประเทศ จนปี 2557 เป็น รอง ผอ.กองกิจการต่างประเทศ เดินหน้าปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือโรแมนซ์สแกม (หลอกให้รัก) , คดีแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร หลอกโอนคืนภาษี และรับหน้าที่เดินทางไปอบรมหลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย เพื่อประสานความร่วมมือคดีอาชญากรรม
จากผลงานดังกล่าวก็ได้ขยับเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีการค้ามนุษย์และคดียาเสพติด ปี 2564 ส่วนใหญ่เน้นกรอบความร่วมมือทั้งคดีค้ามนุษย์ ยาเสพติด ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เช่น “เนเน่โมเดลลิ่ง” ที่เจอภาพลามกเด็กกว่า 5 แสนภาพ เป็นผลงานโดดเด่นด้านงานละเมิดทางเพศเด็กผ่านสื่อออนไลน์
ระหว่างเป็นผู้เชี่ยวชาญ ประมาณปี 2565 อธิบดีไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ แต่งตั้งให้เป็น ผอ.ศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก (หน่วยงานขึ้นตรงอธิบดี) ควบตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญฯ ด้วย กระทั่ง 19 มิ.ย.2566 ได้ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ปัจจุบัน) ในสมัยอธิบดี พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ที่ให้ศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก มาสังกัดกองเทคโนโลยีฯ เพราะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางสื่อออนไลน์
ผอ.เขมชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้กิจกรรมยามว่างหรืองานอดิเรกไม่มีอะไรมาก คือ การดูแลครอบครัว เลี้ยงลูกอยู่กับบ้านเติมพลังกายพลังใจ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ และใช้ชีวิตให้มีความสุข พร้อมกับภารหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
"จิบชาตราชั่ง"