ปูดเรื่องฉาวใน กสทช. “ที่ปรึกษากรรมการ” ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศพนักงานหญิง ขณะไปสัมมนาที่ภูเก็ต ปิดข่าวกันวุ่น อ้างไม่ให้กระทบผู้เสียหาย หวั่นเสียภาพลักษณ์องค์กร วิจารณ์แซ่ดนี่หรือหน่วยงานที่อ้างความโปร่งใส ชี้ควรตั้งกรรมการสอบเป็นเรื่องเป็นราว หากมีมูล กรรมการคนตั้งที่ปรึกษาผู่ก่อเหตุน่าละอายต้องลาออกด้วย
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกจับตามอง
สืบเนื่องมาจากการลาออกของ “ที่ปรึกษาประจำกรรมการ กสทช.” คนหนึ่ง โดยอ้างเหตุผลด้านสุขภาพ เพียง 1 วันให้หลังการลาออก กลับมีประกาศ กสทช. ลงนามโดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการ เลขาธิการ กสทช. ให้ “ที่ปรึกษาประจำกรรมการ กสทช.” คนเดียวกัน พ้นจากตำแหน่ง
สอดรับกับรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่า เกิดเหตุอื้อฉาวขึ้นภายใน กสทช. หรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
เป็นเหตุ “หญิงสาวผู้เสียหาย” ที่เป็นพนักงาน กสทช.คนหนึ่ง ที่มีชาติตระกูลดีถูก“ที่ปรึกษาประจำกรรมการ กสทช.”ระหว่างเดินทางไปร่วมงานสัมมนาของ กสทช.ที่ จ.ภูเก็ต โดยมีการระบุว่า ผู้ก่อเหตุเป็นที่ปรึกษาประจำกรรมการ กสทช.ที่เป็น “อาจารย์นักวิชาการ”
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า หลังเกิดเหตุการณ์มีความพยายามของ “กรรมการ กสทช.” ที่ต้องการปิดเหตุอื้อฉาวไม่ให้แพร่งพรายออกมาสู่สาธารณะ มีการข่มขู่คาดโทษพนักงาน กสทช.ที่ล่วงรู้เหตุอื้อฉาวที่เกิดขึ้น
กระทั่งมีบางสำนักข่าวรายงานเหตุอื้อฉาวที่เกิดขึ้น ก็มี “กรรมการ กสทช.” คนหนึ่ง ใช้คอนเนกชันส่วนตัว ร้องขอให้ “ถอดข่าว” ออก อ้างว่าเกรงจะกระทบภาพลักษณ์องค์กร
ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในสำนักงาน กสทช.ในวงกว้าง เนื่องจากพนักงาน กสทช.หลายคนที่ถูกข่มขู่คาดโทษรู้สึกเสียขวัญ และผิดหวังกับท่าทีของ “กรรมการ กสทช.” ที่ไม่เพียงพยายามช่วยปกป้องคนผิดเท่านั้น แต่กลับไม่ปกป้องผู้เสียหายที่เป็นเพศเดียวกันด้วย
ต่อมามีการพาดพิงว่า “ผู้ก่อเหตุ” เป็นที่ปรึกษา กสทช. ของ รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (ด้านเศรษฐศาสตร์) ขณะที่ “ผู้เสียหาย” ก็เป็นผู้ปฏิบัติการประจำในส่วนหน้าห้องของ รศ.ศุภัช เช่นกัน
วันที่ 20 ธันวาคม 2566 รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว 6 ข้อ ด้วยกัน แต่สาระสำคัญเรื่องที่ชี้แจง ไม่ได้กล่าวถึงในส่วนของ “ผู้ก่อเหตุ” แต่มุ่งไปการประกาศจุดยืนต่อต้านการการใช้ความรุนแรงและการคุกคามผู้อื่น รวมทั้งการเข้าไปช่วยเหลือ “ผู้เสียหาย” ในด้านต่างๆ ภายหลังเกิดเหตุ
ในแถลงชี้แจง รศ.ศุภัช ย้ำหลายช่วงว่าการดำเนินการใดต้องกระทำด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบทางจิตใจและการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหาย และเรียกร้อง-วิงวอนให้เคารพความเป็นส่วนตัว และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เสียหายด้วย
รวมถึง ขอให้บุคลากรในสำนักงาน กสทช. ตลอดจน สื่อมวลชน และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ อันอาจเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกของผู้เสียหาย
คำชี้แจงของ รศ.ศุภัช ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสำนักงาน กสทช.อย่างมากว่า เป็นการยกผลกระทบที่จะมีต่อผู้เสียหายขึ้นมาอ้างเพื่อไม่ให้มีการขยายข่าวเรื่องที่เกิดขึ้น ใช่หรือไม่?
ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมามีขบวนการปดปิดเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะแม้ว่า การปกปิดชื่อ หรือรูปของผู้เสียหายเป็นเรื่องที่ต้องกระทำ แต่การปกปิดเรื่องอื้อฉาวนี้ ทั้งที่เกิดมานานหลายวันแล้ว สมควรหรือไม่
โดยหลังเกิดเหตุถูกล่วงละเมิดทางเพศ “หญิงสาวผู้เสียหาย” พนักงาน กสทช.ที่มาจากครอบครัวที่มีหน้าตาในสังคม ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างหนักจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งหากสภาพจิตใจมีความพร้อมแล้ว ทางผู้เสียหายและครอบครัวก็ยืนยันว่า จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดจนถึงที่สุด โดยมีการเก็บหลักฐานข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ไว้หมดแล้ว
เรื่องฉาวครั้งนี้กลายเป็นเหตุการณ์อื้อฉาวที่มาซ้ำเติมภาพลักษณ์ กสทช. ที่ขณะนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกรณีที่ทีการเล่นเกมการเมืองภายในระหว่าง 7 กรรมการ กสทช.ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะมาจากคนละที่ แต่ละคนต่างมีฤทธิ์ จนกระทบต่อทำงานของ กสทช.
น่าเสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้นใน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ องค์กรที่ควรจะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้สมกับตำแหน่งที่มีการแย่งชิงกันเลือดซิบเพราะค่าตอบแทนสูง
เหมือนที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการ แทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวไว้ว่า “สำนักงาน กสทช. จะเป็นองค์กรอิสระที่โปร่งใส เป็นที่เชื่อถือและพึ่งพาได้ ของประชาชน”
เหตุการณ์อื้อฉาวที่เกิดขึ้นนี้ กสทช. ควรต้องตั้งกรรมการสอบสวนให้เป็นเรื่องเป็นราว หากมีมูล ผู้ก่อเหตุไม่เพียงต้องถูกไล่ออก หรือถูกดำเนินคดี แต่ “กรรมการ กสทช.” คนที่เป็นผู้แต่งตั้ง “ที่ปรึกษา” ผู้ก่อเรื่องน่าละอายดังกล่าว ควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เพื่อเป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไปด้วย
ไม่ใช่งุบงิบซุบซิบ ทำตัวลึกลับ ปกป้องพวกพ้องตัวเอง ปิดบังความจริงกับประชาชน
ถามว่านี่หรือคือ หน่วยงานที่อ้างว่า เป็นอิสระ โปร่งใส น่าเชื่อถือ และพึ่งพาได้หรือครับ เพราะแม้แต่ “ขี้” ในสำนักงานพวกคุณเองก็ยังออกมาช่วยกันกลบ โดยไม่สนความถูกผิด !?!