เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจี้ภาครัฐออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายพร้อมเข้มงวดการเข้าถึงของเยาวชน ยกตัวอย่างการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของไต้หวันที่ผลลัพธ์ไม่ต่างจากไทย หลังทางการไต้หวันพบร้านค้าและโรงงานบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนเกลื่อนเมือง ล่าสุดมีการจับกุมโรงงานบุหรี่ไฟฟ้ารวมมูลค่ากว่า 11 ล้านบาท
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 ราย กล่าวว่า “มีหลายประเทศที่เลือกที่จะใช้กฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้า และผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ต่างกับประเทศไทยนัก คือบุหรี่ไฟฟ้ายังคงพบเห็นได้ทั่วไปและไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนได้ ในขณะที่ประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อย่างประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ที่มีการควบคุมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์นิโคตินของเยาวชน มีการเก็บภาษี และควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และปกป้องเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า”
นายมาริษระบุว่า “ไต้หวันเพิ่งมีการออกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่กลับมีเคสการขายบุหรี่ไฟฟ้าว่อนอินเทอร์เน็ต รวมถึงการเปิดหน้าร้าน และล่าสุดมีการจับโรงงานบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนมูลค่ากว่า 11 ล้านบาท ซึ่งปัญหาเหล่านี้คงไม่ต่างกับสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังเผชิญอยู่เท่าไหร่ เพราะต่อให้แบนก็ยังมีการลักลอบขายไม่หมดไม่สิ้น”
แม้รัฐบาลไต้หวันออกกฎหมายให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา แต่การตรวจพบร้านค้าบุหรี่ไฟฟ้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์กลับยังมีมากกว่า 2,000 คดีหลังออกกฎหมายเพียงแค่เดือนเดียว และล่าสุดมีการเข้าจับกุมโรงงานบุหรี่ไฟฟ้า มูลค่ามากกว่า 11 ล้านบาท
ในช่วงเดือนเมษายน 2566 เพียง 1 เดือนหลังออกกฎหมายให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย องค์การส่งเสริมสุขภาพไต้หวัน ร่วมกับ 22 องค์กรสุขภาพท้องถิ่นรายงานว่ามีการสำรวจพบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 6,100 รายการที่วางขายอย่างผิดกฎหมาย โดยกว่า 5,495 รายการเป็นการขายทางช่องทางออนไลน์ ซึ่งร้านค้าออนไลน์เหล่านี้มีกลยุทธ์การขายที่ดึงดูดลูกค้า และมีการจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อลดราคาสินค้า โดยจากการตรวจสอบยังพบว่าร้านค้าออนไลน์เหล่านี้จะมีการเปลี่ยนบัญชีผู้ใช้ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะสามารถขายสินค้าผิดกฎหมายได้ต่อไป
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการจับกุมโรงงานผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่นครนิวไทเป (New Taipei City) ในไต้หวัน โดยรัฐบาลท้องถิ่นระบุว่าเป็นโรงงานผลิตบุหรี่ไฟฟ้าโรงงานแรกที่ตรวจพบหลังมีการออกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2566
ด้านนาย Chen Hsin-jung เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข (The City Health Department) กล่าวกับนักข่าว CNA ว่า หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (National Immigration Agency หรือ NIA) ได้ทำการเข้าตรวจค้นในละแวก Sanchong District และจับกุม 4 แรงงานต่างด้าว และ 1 นักท่องเที่ยวที่วีซ่าหมดอายุ พบกำลังทำการบรรจุบุหรี่ไฟฟ้า ภายหลังตำรวจพบเครื่องบรรจุบรรจุภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า 3 เครื่อง บุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 84 ลัง น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 35 ลัง และชิ้นส่วนบุหรี่ไฟฟ้าที่ประกอบไม่สมบูรณ์อีก 4 ลัง คิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านไต้หวันดอลลาร์ หรือราว 11 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานจะทำการสืบค้นโรงงาน รวมถึงผู้ค้าที่รับของจากโรงงานไปขายและผู้กระจายสินค้าต่อไป
โดยผู้กระทำความผิดฐานผลิตหรือนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและส่วนประกอบในประเทศไต้หวันจะโดนโทษปรับเป็นจำนวนเงินราว 11-55 ล้านบาท ส่วนผู้ขายหรือวางโชว์สินค้ามีความผิดและโดนโทษปรับคิดเป็นเงินไทยจำนวน 200,000-1,000,000 บาทไทย
“คงเป็นที่ชัดเจนว่ามาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าที่หวังจะทำให้ไม่มีบุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่สัมฤทธิผล กลับกัน กรณีศึกษาทั้งในและนอกประเทศชี้ให้เห็นว่าการแบนตามแนวทางของ WHO มีแต่จะทำให้เกิดตลาดมืดที่มีมูลค่ามหาศาล รวมทั้งเยาวชนยังสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสถานการณ์ของไต้หวันคงไม่ต่างกับสิ่งที่ประเทศไทยเป็นอยู่ทุกวันนี้ รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าบุหรี่ไฟฟ้าคงไม่หมดไปง่ายๆ หากตลาดและผู้บริโภคยังมีความต้องการ เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลไทยต้องเร่งแก้ไข เลิกล้มความเชื่อที่ว่าของผิดกฎหมายจะทำให้เข้าถึงยากขึ้น เราอยากเรียกร้องให้รัฐบาลนำบุหรี่ไฟฟ้ามาควบคุมให้ชัดเจนด้วยกฎหมาย โดยไม่ต้องเสี่ยงกับของเถื่อนที่ไม่ได้คุณภาพ ตรวจสอบไม่ได้ และลงโทษการซื้อขายให้แก่เยาวชนอย่างเข้มงวด” นายมาริษกล่าวทิ้งท้าย
Ref:
- การตรวจร้านค้าผิดกฎหมายในเดือน เมษายน https://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2023/04/26/2003798632
- การจับกุมโรงงานบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อน https://focustaiwan.tw/society/202310050017