เปิดขบวนการนำเข้า “หมูเถื่อน” จากต่างประเทศ ขยายใหญ่โตจนมีเงินหมุนเวียนนับแสนล้านบาท ตัวการใหญ่คือการบูรณาโกงระหว่างเจ้าหน้าที่ 3 กรม เมื่อของมาถึงท่าเรือ “ศุลกากร” รับแจ้งสำแดงเป็น “เนื้อปลา” โดยมี “กรมประมง” รับรอง เมื่อออกจากท่าเรือส่งไปยังลูกค้า “ปศุสัตว์” ปล่อยผ่านด่าน รับส่วยเฟื่องฟูปีละ 2 พันล้าน
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงขบวนการค้าหมูเถื่อนซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาหลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ไล่บี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างหนัก ในช่วงก่อนการเดินทางไปประชุมเอเปคที่สหรัฐอเมริกา เพราะไม่พอใจที่ทำคดีล่าช้ามาก ทั้ง ๆ ที่ นายกฯ สั่งการเป็นพิเศษให้จัดการนานแล้ว
ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนนั้นมีมานาน กระทำการกันเป็นขบวนการ และอย่างเป็นล่ำเป็นสัน “สมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร” ประเมินกันว่า แต่ละปีมูลค่าของหมูเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาว่า อยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าคำนวณค่าความเสียหาย เสียโอกาสของห่วงโซ่การเลี้ยงหมูที่ได้รับผลกระทบจากหมูเถื่อน เช่น การเพาะปลูกพืชเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์, ข้าว, ข้าวโพด, ถั่วเหลืองของเกษตรกรอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ห้างค้าปลีก ค้าส่ง ร้านค้า ร้านอาหารเช่น ร้านอาหารอย่างร้านหมูกระทะ หมูยางเกาหลี หรือ ชาบู-หมาล่า ที่เอาหมูเถื่อนไปทำกำไรขายให้ผู้บริโภค ก็ว่ากันว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนในวงจรจะไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท
เพราะฉะนั้น นี่เป็นคำตอบว่า ทำไม “หมูเถื่อน” จึงมิเพียงสร้างปัญหา และ กระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรอย่างถูกต้อง แต่กระทบเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จนไปถึงผู้บริโภค และ ในที่สุดกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมด้วย ?
เนื่องเพราะ ผลประโยชน์มหาศาลของขบวนการผู้ที่เข้าไปเอี่ยวมีผลประโยชน์หมูเถื่อนจึงมีเป็นจำนวนมาก มีตั้งแต่ นักการเมืองขาใหญ่ที่ว่ากันว่าบางคนเคยเป็นถึงอดีตรัฐมนตรี , ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น, พ่อค้านายทุน,เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่, บริษัทชิปปิ้ง, เจ้าของห้องเย็น
โดยการสมรู้ร่วมคิดรับสินบนของข้าราชการคนใหญ่คนโต เจ้าหน้าที่ในกรมศุลกากร, กรมปศุสัตว์ไม่เว้นแม้แต่กรมประมงซึ่งเป็นอยู่ภายใต้ 2 กระทรวงสำคัญ คือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
แต่เรียกได้ว่า ถ้าจะปราบปรามแบบถอนรากถอนโคน“ปัญหาหมูเถื่อน”เอาแบบให้ขุดรากถอนโคน จัดการสิ้นซากกันจริง ๆ คุกที่จะจับกุมคุมขังคนเหล่านี้แทบจะไม่พอ
เมื่อพูดถึงนักการเมืองใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง จึงมีกระแสข่าวเชื่อมโยงไปถึง “ขาใหญ่” ของรัฐบาลที่แล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นช่วงที่หมูเถื่อนทะลึกเข้ามามาก บ้างก็ว่ารัฐมนตรีซึ่งสมัยที่แล้วเป็น "รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ" กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ แต่ทางด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ถ้าใช่ก็คงเป็นข่าวไปแล้ว เป็นเรื่องที่ดีที่สังคมตั้งข้อสงสัย
นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวผู้ต้องสงสัยร่วมขบวนการหมูเถื่อนอีกคนเชื่อมโยงไปถึง “นาย ส.” หน้าห้องอดีตรัฐมนตรีเกษตรฯ
โดย มือไม้ของหน้าห้องรัฐมนตรีนั้นมีชื่อว่า“นายเก้า”เป็นเสี่ยโรงงานผลิตผ้าอ้อมสำเร็จรูป รับเป็นหน้าเสื่อ เป็นมือประสานกับพ่อค้าหมูเถื่อน และเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริต ดึงเงินส่วนแบ่งมาส่งให้กับนาย ส. หน้าห้องของรัฐมนตรี
จริงเท็จประการใด นี่ก็ต้องไปถาม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ผู้ยิ่งใหญ่จากพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่กำกับดูแลเรื่องต่าง ๆ ในสมัยที่แล้ว
เพราะฉะนั้น พูดกันจริง ๆ ตอนนี้คดีที่อยู่ในมือดีเอสไอที่ไปจับกุมนายทุนผู้สั่งนำเข้าหมูเถื่อน 161 ตู้แล้วขยายผลไปโยงบริษัทชิปปิ้ง ห้องเย็น เจ้าหน้าที่ศุลกากรรับสินบน เพียงแค่ปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งที่จับได้ถือว่าเป็นส่วนเล็กน้อยมาก ๆ
สถิติการจับกุมที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า เล็กน้อยจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นขบวนการใหญ่
โดยปี 2564 จับกุมได้ 14 ราย น้ำหนักหมู 236,177 กิโลกรัม
ปี 2565 จับกุมได้ 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม
ปีนี้ 2566 จับกุมได้มากหน่อย 181 ราย น้ำหนักรวม 4,772,073 กิโลกรัม
สถิติข้างต้นนี้ เทียบไม่ได้แม้แต่น้อย กับที่เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเว้น เหมือนกับเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง เรียกได้ว่าที่จับได้นั้นเป็นแค่ส่วนน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนที่ถูกปล่อยออกสู่ท้องตลาด
คำถามสำคัญ คือ รัฐบาลจะกล้าพอหรือไม่ที่จะใช้โอกาสนี้ ยกเครื่องเรื่องนี้ หรือ พูดให้ชัดจะปฎิวัติระบบราชการที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ละเว้น ปล่อยปละ เรียกรับสินบน หากินกับหมูเถื่อน เพราะ ถือเป็นต้นตอเอื้อประโยชน์ให้กับขบวนการ !?!
ส่วนการจะจัดการจับ “ตัวการใหญ่” เป็นเรื่องดีถ้าทำได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า จับคนนี้ ประเดี๋ยวจะมีคนใหม่ขึ้นมาแทน ไม่มีที่สิ้นสุด
ตัวการใหญ่ที่สุดจริง ๆ ก็คือ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐนี่เอง ทั้งกรมประมง-กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กรมศุลกากร ของกระทรวงการคลังภายใต้การกำกับดูแลของ นายกฯเอง
3 กรม ประสานบูรณาโกง
ถามว่าเรื่องนี้ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน รู้หรือไม่? ก็ต้องบอกว่า รู้แน่นอน เพราะ รัฐบาลเศรษฐาได้สั่งหน่วยงานต่างๆ ร่วมกัน“บูรณาการ”แก้ปัญหาหมูเถื่อน แต่ผลการสอบสวนที่ออกมา ปรากฏชัดว่า แทนที่จะบูรณาการ กลับเป็น“บูรณาโกง” กัน ของหน่วยงานราชการ ร่วมกันทึ้งผลประโยชน์จากขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน จนอิ่มหมีพีมันมาหลายปีต่อเนื่อง ระหว่าง 3 ประสานบูรณาโกง ได้แก่ 1.กรมศุลกากร 2.กรมปศุสัตว์ 3.กรมประมง
โดยต่างก็ร่วมด้วยช่วยกัน เปิดไฟเขียวให้การนำเข้าหมูเถื่อน ผ่านฉลุยในทุกขั้นตอนการตรวจสอบ เพราะ งานนี้ จะขาดความร่วมมือจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ ต้องชงส่งต่อกันเป็นทอด ๆ หมูเถื่อนจึงผ่านด่าน มาเป็นหมูทอด หมูกระทะให้คนบริโภคกัน
เส้นทางหมูเถื่อน หรือ หมูกล่อง
หมูเถื่อนนั้นนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น บราซิล รัสเซีย สเปน เนเธอร์แลนด์
กลุ่มนำเข้าเป็นนักการเมืองใหญ่,ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น พ่อค้านายทุน,ฟาร์มหมู
ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง –เจ้าหน้าที่ศุลกากร รับสินบน ตู้ละ 2-3หมื่นบาท
บริษัทชิปปิ้งวิ่งเคลียร์ จ่ายส่วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง
ห้องเย็น รับฝาก
เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์รับสินบนเคลื่อนย้าย(ปลอมแปลงเอกสาร)
ส่งศูนย์กระจายสินค้าไปตามช่องทางต่างๆ ทั้งออนไลน์ และ ออฟไลน์ ส่งตรงถึง ผู้บริโภค และ ผู้ประกอบการแปรรูปอาหาร ห้างค้าปลีก ร้านอาหาร-ร้านหมูกระทะ
ต้นทุนนำเข้าหมูเถื่อนอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 50-70 บาท
ขายราคาต่ำถูกราคาตลาดที่อยู่ประมาณ 120-140 บาท (กำไรเท่าตัว)
มูลค่าการนำเข้าและลักลอบจำหน่ายแต่ละปีประมาณ 40,000 ล้านบาท
หากประเมินความเสียหายจากการเสียโอกาสของผู้เลี้ยงสุกร และ ห่วงโซ่การเลี้ยง เกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ การนำเข้าหมูมาจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ใช่ว่าจะเอาหมูจากประเทศไหนเข้ามาก็ได้ เพราะประเทศไทยมีข้อตกลงไว้กับหลายประเทศ เนื้อหมูที่จะนำเข้ามาต้องผ่านการตรวจคุณภาพ ผ่านการตรวจโรค
อีกทั้งพ่อค้าหัวใสเอง ก็ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เพราะต้องการทำกำไรสูงสุด จากโอกาสที่เห็น จึงนำมาสู่การนำเข้าหมูเถื่อน แบบเถื่อนทุกขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อหมูจากประเทศที่มีข้อตกลงกับไทย พอมาถึง ก็ไม่ต้องผ่านการตรวจมาตรฐานใดๆ
กรมศุลกากรกับกรมประมงเป็น 2 หน่วยงานแรก ที่มีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันทุจริตกับขบวนการหมูเถื่อน
เมื่อเนื้อหมูในตู้คอนเทนเนอร์ ถึงท่าเรือแหลมฉบัง ในความดูแลของกรมศุลกากร พวกมันจะถูกแจ้งสำแดงว่าเป็น “เนื้อปลา” ส่วนใหญ่เป็นหัวปลาแซลมอนแช่แข็ง หรืออาหารแช่เย็น แช่แข็ง ตรงนี้เองที่กรมประมงมีบทบาทในการเข้ามาฮั้ว เสก“เนื้อหมู”นับร้อย ๆ ตู้คอนเทนเนอร์ ให้กลายเป็น “หัวปลาแซลมอน” ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ
เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ถือเป็นหน่วยงานหลัก ฟันส่วนแบ่งไปถึง 60%
ต่อมา กลิ่นตุๆ ลอยไปเข้าจมูกกรมปศุสัตว์ ถึงคนระดับบริหารกรมปศุสัตว์ จะเข้าไปขัดขวางก็จะถูกมองว่า “ไม่โง่ก็บ้า” ก็กลายเป็นว่าโดดเข้าไปขอเอี่ยวด้วย เพราะถ้าไม่จ่าย กรมปศุสัตว์ก็จะตรวจสอบ การสำแดงเท็จอะไรทั้งหลายแหล่จะถูกเปิดโปง ไม่สามารถส่งหมูเถื่อนผ่านไปสู่ตลาดได้
ด้วยเหตุนยี้ จึงกลายเป็น “บูรณาการบูรณาโกง” กันถึง 3 หน่วยงานเปิดไฟเขียวผ่านตลอดให้กับหมูเถื่อน การแบ่งเค้กจึงกลายเป็น 60-20-20 ในหมู่กรมศุลกากร-กรมประมง-กรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ว่ากันว่า เงินส่วยหมูเถื่อนเข้าปากเจ้าหน้าที่ศุลกากรหน่วยงานเดียวก็ปาเข้าไปปีละกว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว
ขณะที่“เส้นทางหมูเถื่อน” ออกจากด่านเข้ามาเมือง จะถูกนำไปพักที่ห้องเย็นก่อนที่จะกระจายส่งขายไปในตลาด โดยห้องเย็นขนาดใหญ่ที่รับหมูเถื่อนอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอำนาจการตรวจสอบตามกฎหมายอยู่ที่กรมปศุสัตว์แต่เพียงเจ้าเดียว แต่ลำพังข้าราชการจะลักลอบทำกันเอง โดยไม่มีนักการเมืองรู้เห็น ย่อมเป็นไปไม่ได้ งานนี้ก็เช่นกัน มีคนระดับรัฐมนตรี ร่วมในขบวนการหมูเถื่อนด้วยดังว่า
ทำไม “หมูเถื่อน” จึงเป็นเรื่องใหญ่ ?
ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในบ้านเรามีมานานแล้ว ทำไม “หมูเถื่อน”จึงเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาในห้วงเวลานี้ และ นายกฯต้องลงมาล้วงลูกจี้ไปยังหน่วยรายการอย่าง “ดีเอสไอ”
ประการแรก หมูแท้ที่เลี้ยงอย่างถูกต้องโดยเกษตรกรรายย่อย และ ฟาร์มขนาดเล็กถึงกลาง พากันล้มหายตายจากจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ทุกวันนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งยังไม่ใหญ่ที่สุดถึงอยู่รอดได้แต่ก็ทำได้แค่ประคองตัวให้เลี้ยงตัวเองเท่านั้น กลุ่มขบวนการหมูเถื่อน เห็นเป็นโอกาสจึงร่วมมือกับนายทุน เจ้าของฟาร์มบางแห่ง ลักลอบเอาหมูนำเข้ามา แล้ว 3 หน่วยงานรัฐ กรมศุลฯ กรมปศุสัตว์ ก็จัดการ“บูรณาโกง”ปลอมแปลงเอกสารให้เป็น หมูแท้
เรียกว่า สวมรอยหมูในฟาร์มจริง นำออกจำหน่ายตามกลไกได้กำไรมากกว่าจะลงทุนเลี้ยงเองตามเดิมที่เสี่ยงต่อโรคระบาด และ แบกภาระต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่แพง
ทำไปทำมา กลุ่มนำเข้าหมูเถื่อนกลุ่มนี้ก็ติดใจ ก็นำเข้ามาเรื่อย ๆ สั่งเข้ามาเป็นปริมาณมากขึ้น ๆ ขยายวงออกไปในแวดวงเครือข่ายฟาร์มของพวกพ้อง
เรื่องนี้ในบรรดาสมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเองก็อิดหนาระอาใจ เพราะพฤติการณ์แบบเห็นแก่ตัวของฟาร์มบางฟาร์มนี้บ่อนทำลายพวกเดียวกันเอง และ เป็นปัญหาทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจ ห่วงโซ่การเลี้ยงหมูอีกต่างหาก
การเมืองภายในสมาคมฯ เองก็แรง และ ช่วงนี้ก็กำลังเป็นช่วงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กรเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ ซึ่งว่ากันว่า การที่ข้อมูลหมูเถื่อนหลุดออกจากแหล่งไปอยู่ในมือของทางการ หรือนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ก็เป็นเรื่องการเมืองภายในที่ “ชี้เป้า” เพื่อเตะตัดขา สกัดขัดขวางทำลายอีกฝ่าย
แต่ไม่ว่าจะเป็นใครขึ้นมานั่งนายกสมาคมแหล่งข่าวในทางลับระบุว่า ยังไง ๆ สุดท้ายก็ต้องให้ขาใหญ่ฟาร์มยักษ์พยักหน้าไฟเขียวเห็นด้วย
เป็นที่รู้กันในสมาคมฯว่า ยุคทองของหมูเถื่อนเกิดขึ้นต่อเนื่องนาน 3 ปีแล้ว ปล่อยให้เจ้าสัวธนิน เจียรวนนท์ ผู้ค้าเนื้อหมูถูกกฎหมาย ได้แต่มองตาปริบ ๆ ทำได้แค่แอบไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ให้จัดการหมูเถื่อน
จนเมื่อเปลี่ยนขั้วรัฐบาล รัฐมนตรีคนเก่าสิ้นวาสนา กระเด็นไปเป็นฝ่ายค้าน เจ้าสัวธนินจึงอยากให้สมาคมฯ ผลักดันเร่งรัดให้รัฐบาลเศรษฐา เร่งรัดปราบปรามขบวนการหมูเถื่อน ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็อาสาแก้ปัญหานี้ โดยต้องการให้จบไวที่สุด เพื่อให้เจ้าสัวยิ้มออกไวที่สุด เพราะยังมีเรื่องต้องพึ่งพาเจ้าสัวหลายเรื่อง
ที่ผ่านมา คนที่กัดฟันกรอด ๆ ก็คือ ยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตร ที่โดนขบวนการหมูเถื่อนเหยียบจมูก กลไกตลาดใดๆ ที่ออกแบบไว้อย่างรัดกุมสำหรับหมูถูกกฎหมาย โดนหมูเถื่อนฉีกกฎกระจุยกระจาย เกิดเป็นความเสียหายทางธุรกิจมหาศาล
ประการที่สอง ความต้องการบริโภคเนื้อหมูเพิ่มสูงขึ้น จากความนิยมพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ชื่นชอบรับประทานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง“หมูกระทะ”ที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการซอฟต์เพาเวอร์ ถึงกับจะผลักดันให้เป็น ซอฟต์เพาเวอร์ ส่งออกไปทั่วโลก
ขณะที่การเลี้ยงหมูได้ผลผลิตน้อย เพราะ เสียหายจากโรคระบาด ASF เกิดช่องว่างทำให้หมูเถื่อนเข้ามาทดแทน แถมหมูเถื่อนมีราคาถูกกว่า ร้านค้าปลีก ค้าส่ง หรือ ผู้ประกอบการแปรรูปอาหาร ร้านอาหาร จึงเสาะแสวงหาหมูที่มีราคาถูกเอามาจำหน่าย หรือ เพื่อลดต้นทุน สู้การแข่งขันที่แข่งขันกันรุนแรงได้
คราวนี้หลายคนอาจจะถึงบางอ้อว่า ทำไมร้านหมูกระทะ หรือ บุฟเฟ่ต์หมูกระทะ ที่ไปกินกันบ่อยๆ จึงทำราคาโปรโมชั่น หรือ เช็คบิลต่อหัวราคาถูก ๆ ได้
ต้องบอกว่า “หมูเถื่อน” หรือ ภาษาในวงการคนเลี้ยงหมูเรียกว่า “หมูกล่อง” เป็นหมูที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น บราซิล รัสเซีย สเปน เนเธอร์แลนด์
ถามว่า ประเทศเหล่านี้เกิดโรคระบาดหรือไม่? เป็นหมูอนามัยหรือไม่? ตอบว่า โรคระบาดเกิดขึ้นไปทั่วโลก ซึ่งหมูเถื่อนที่นำเข้า อาจจะมีหมูเป็นโรคระบาดนำมาชำแหละ หรือ ก็อาจจะมีทั้งหมูที่เลี้ยงถูกต้องได้รับการรับรองปะปนกันมา
“หมูเถื่อน” หรือ “หมูกล่อง” ที่เข้าในบ้านเราทั้งหมดก็คือเป็นหมูที่ไม่มีการตรวจรับรอง แต่ขบวนการหมูเถื่อนก็จัดการให้เป็นหมูแท้ มีเอกสารการรับรองถูกต้องได้ โดยเปิดช่องทางขายทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ส่งให้ห้างค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร เราจึงไม่มีทางรู้ว่า จริงๆ แล้วเรารับประทานหมูแท้ หรือ หมูกล่อง
เราคงเคยได้ยินว่า ห้างค้าส่งใหญ่ๆ บางแห่ง ถูกจับได้ว่า “ขายหมูเถื่อน” เพราะ ปลอมแปลงเอกสารมาแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องคิดพิจารณาให้ดีๆ อย่าเห็นแก่ของถูกอย่างเดียวในการเลือกซื้อ หรือบริโภคเนื้อหมู ดูให้ดีๆ
เอาง่าย ๆ ราคาหมูแท้ที่ผ่านการรับรอง ราคาตลาดตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 125-140 บาท ขณะที่ราคา“หมูกล่อง”หรือ“หมูเถื่อน” ต้นทุนนำเข้าอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท บวกค่าส่วย ค่าสินบน ค่าชิบปิ้ง ค่าห้องเย็น ก็ไม่เกิน 70 บาท กลุ่มขบวนการหมูเถื่อน ขายส่งและส่งต่อไปแค่กิโลฯ ละ 80-100 บาทก็กำไรเละ
ประการที่สาม จากปัญหาหมูเถื่อนทะลัก ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน เพราะหมูเถื่อนเข้ามาขายถูก ดั้มพ์ราคาตลาดเป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงหมูรายกลางถึงใหญ่แต่ไม่ใหญ่ที่สุดเดือดร้อน ขายหมูไม่ได้ราคา หรือ ขาดทุน ขณะเดียวกัน ผลทางจิตวิทยาทำให้หุ้นบริษัทใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การเลี้ยงหมูตกระนาว
ประเด็นการปราบปรามหมูเถื่อนถูกจุดขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่ อย่างน้อยถ้าปราบปรามได้ หรือ รัฐบาลแสดงความจริงจัง ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ปฎิเสธไม่ได้ว่า ดีต่อผู้เลี้ยง และ ห่วงโซ่การเลี้ยงหมู หรือ ส่วนรวมผู้บริโภค นั่นคือ ราคาหมูจะกลับสู่ความเป็นจริง กลไกตลาดจะพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำเกินไป
แต่ก็อีกนั่นแหละมีคำถามตามมา ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง? ณ วันนี้ ฟาร์มไหนใครอยู่รอดจากโรคระบาด? ใครมีหมูในฟาร์มตุนไว้มากที่สุด? ใครมีหมูพร้อมไว้ขายก็ได้กำไร ต้องไม่ลืมว่า ฟาร์มรายย่อย ๆ ได้ตายไปพร้อมเกษตรกรที่เลี้ยงตามครัวเรือนจากโรคระบาด
นี่คือ ความจริงที่มีหนึ่งเดียว การปรามปรามหมูเถื่อนเป็นเรื่องดี เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำเพื่อจัดการกับผู้กระทำผิดกฎหมาย และ เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตมาลงโทษ แต่ยอมรับหรือไม่ว่า นี่เป็นแค่เรื่องปลายเหตุ และ อาจจะถูกข้อครหาว่า “เตะหมูเข้าปากหมา”
ถ้าจะทำเรื่องนี้ ต้องกล้าปฎิวัติวงราชการที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหมูเถื่อน จัดการกับ “ตัวการใหญ่” 3 ประสานบูรณาโกง ให้เด็ดขาด
แล้วต้องแก้ที่รากฐานการเลี้ยงหมู ฟื้นฟูส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ดูแลเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ จัดหาปัจจัยการผลิต จัดหาพันธุ์หมู ให้การช่วยเหลือฟาร์มขนาดกลางและขนาดเล็กในเรื่องลดต้นทุนอาหารสัตว์ และ ยารักษาโรค ที่ปัจจุบันราคาแพงมาก
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สมัยก่อน ชาวบ้านคนเลี้ยงหมูรายย่อย เลี้ยงกันในครัวเรือน หลายๆ คนมีเงินมีรายได้จุนเจือครอบครัว หลายๆ คนมีการศึกษาได้เล่าเรียน เติบโตมาก็เพราะบุญคุณของหมูที่พ่อแม่เลี้ยงไว้ รัฐบาลต้องฟื้นฟูแก้ไขระบบการเลี้ยงหมู ทำให้ทุกๆ คนได้ประโยชน์ร่วมกันได้หรือเปล่า?