MGR Online - อธิบดีดีเอสไอ เผยเข้าตรวจค้นโรงรับฝากแช่เย็น อ.เมืองสมุทรสาคร ไม่เจอหลักฐานนำเข้าซากเนื้อหมู คาดนายทุนสองพ่อลูกสร้างเอกสารเท็จตบตาเจ้าหน้าที่
วันนี้ (21 พ.ย.) เวลาประมาณ 09.30 น. พ.ต.ต.สุริยา สิงกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และชุดปฏิบัติการพิเศษ ดีเอสไอ นำกำลังเข้าตรวจค้นโรงรับฝากแช่เย็นอาหารแช่แข็งขนาดใหญ่ ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาคร บนพื้นที่มากกว่า 30 ไร่ หลังมีข้อมูลว่า โรงรับฝากแช่เย็นดังกล่าวเป็นบริษัทนอมินีของนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง จำนวน 24 บริษัท นำเข้าเนื้อหมูเถื่อนซึ่งสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลและสินค้าอื่นๆ มาจากต่างประเทศและนำมาลงที่ท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่จุดต่างๆ จำนวนประมาณ 250,000 ตันหรือกว่าหมื่นตู้ ก่อนจะนำเนื้อหมูเถื่อนบางส่วนทยอยมาฝากไว้ที่ห้องแช่เย็นต่างๆ
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า การเข้าตรวจค้น วันนี้คือ 1 ในจำนวนนั้น โดยการนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนมีการนำเข้ามาในช่วงปี 2565 ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรค AFS ในหมู ซึ่งทำให้มีภาวะขาดแคลนเนื้อหมูมาบริโภคในประเทศ จึงทำให้มีกลุ่มนายทุนสั่งเนื้อหมูเถื่อนเข้ามากับตุนไว้ภายในประเทศและนำออกจำหน่ายเพื่อหวังกำไร ซึ่งในจำนวนนี้มีเนื้อหมูบางส่วนที่อาจเกี่ยวข้องกับเครือข่ายชิปปิ้งที่ ดีเอสไอ แจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหารบริษัทจำนวน 8 คน และอาจเกี่ยวพันไปถึงนายทุน สองพ่อลูกที่ดีเอสไอ พึ่งจับกุมไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
“ทั้งนี้ ภายหลังจากเจ้าหน้าที่แสดงหมายค้นได้มีการพูดคุยกับพนักงานของโรงแช่เย็นดังกล่าวพร้อมกับเก็บรวบรวมพยานหลักฐานและเข้าไปตรวจสอบภายในโกดังแช่เย็นที่อยู่ภายในเพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อหมูเถื่อนที่ถูกลักลอบนำเข้ามาจากเครือข่ายขบวนการที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่”
ต่อมา อธิบดีดีเอสไอ ออกมาเปิดเผยหลังการตรวจค้น ร่วม 2 ชั่วโมง ว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบโรงแช่เย็นภายในพื้นที่พบว่าไม่มีเนื้อหมูเถื่อนต้องสงสัยตามที่มีข้อมูลอยู่ มีเพียงเอกสารการนำฝากเนื้อหมูเถื่อนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวพันไปถึงบริษัทชิปปิ้งที่แจ้งข้อกล่าวหาและสองพ่อลูกนายทุนที่ได้จับกุมตัว ส่วนเนื้อหมูที่นำมาฝากไว้จากการตรวจสอบไม่พบเนื้อหมูจำนวนดังกล่าวภายในโรงแช่ แต่บริษัทของนายทุนสองพ่อลูกได้สร้างเอกสารหลักฐานเท็จว่านำเนื้อหมูจำนวนดังกล่าวมาฝากไว้
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวยอมรับว่า มีการพยายามนำเนื้อหมูจำนวนดังกล่าวเข้ามาฝากไว้ที่โรงแช่ดังกล่าวแต่โดยกระบวนการตรวจสอบของโรงงานที่ค่อนข้างเข้มงวดสกัดไว้ เนื่องจากมีระเบียบการรับฝากที่ค่อนข้างชัดเจนจึงพบพิรุธหลายอย่าง อาทิ ไม่มีเอกสารการนำเข้า การเสียภาษี และการตรวจจากกรมปศุสัตว์ หรือกรมประมงอีกครั้งเมื่อเปิดดูภายในตู้แช่กลับพบว่ามีการสำแดงเท็จ โดยในเอกสารรับฝากระบุว่าเป็นหัวปลาแซลมอนแต่เมื่อทางโรงงานขอเปิดดูกลับกลายเป็นชิ้นส่วนหมูจึงปฏิเสธการรับฝากไป
ด้าน นายลือศักดิ์ ลือสุขประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รักชัย ห้องเย็น จำกัด ยืนยันว่าทางโรงงานไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับฝากเนื้อหมูเถื่อนจำนวนดังกล่าวล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะทางบริษัทมีมาตรฐานการตรวจสอบและรับฝากอย่างชัดเจน โดยสังเกตได้จากขั้นตอนการตรวจสอบที่ตรวจพบว่าบริษัทของกลุ่มผู้ต้องหามีการสำแดงเท็จมาตั้งแต่แรกก็ปฏิเสธไป ทั้งนี้เชื่อว่าที่กลุ่มผู้ต้องหาแอบอ้างชื่อของบริษัทไปเนื่องจากทางโรงแช่มีขนาดใหญ่พอที่จะรับฝากเนื้อหมูเถื่อนจำนวนดังกล่าวได้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทางบริษัทเป็นอย่างมากเพราะจะต้องเตรียมนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีเรื่องการแอบอ้างชื่อและทำเอกสารเท็จกับกลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าว
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังกล่าวถึงกรณีของนายสมนึก กยาวัฒนกิจ บุคคลที่มีกระแสข่าวว่าถูกออกหมายเรียกมาสอบปากคำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษในวันนี้จากกรณีนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนในจำนวน 161 ตู้ ว่า เบื้องต้นกรณีดังกล่าวนายสมนึกไม่ได้เป็นผู้ถูกออกหมายเรียกแต่เป็นผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีนำเข้าหมูเถื่อน ซึ่งขณะนี้พนักงานสอบสวนได้รับการประสานว่าจะเข้ามามอบตัวที่ DSI ภายในวันนี้ แต่หากเจ้าตัวไม่เดินทางเข้ามามอบตัวหรือไปพบตัวในพื้นที่ใดก็จะเข้าจับกุมดำเนินคดีทันที ซึ่งจากข้อมูลพบว่านายสมนึกมีการนำเข้าเนื้อหมูเขื่อนเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบัง 1 ตู้จากจำนวน 161 ตู้ ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นจำนวนไม่มากแต่ได้มีการสืบสวนย้อนกลับไปพบว่านายสมนึกมีการสั่งนำเข้าเนื้อหมูเข้ามาตั้งแต่ปี 2564 จำนวนมากกว่า 2,385 ตู้ จึงเตรียมดำเนินคดีย้อนหลังในเรื่องดังกล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเข้าไปมีส่วนในการสำแดงเอกสารนำเข้าสินค้าเทปของผู้ต้องหาเครือข่ายค้าหมูเถื่อนจำนวนดังกล่าว ดีเอสไอ เตรียมทำสำนวนส่ง ปปช.ภายในสัปดาห์นี้ โดยพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่า 10 คนซึ่งมาจาก 3 หน่วยงาน คือ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง