xs
xsm
sm
md
lg

DSI ประกาศปิดจ๊อบหมูเถื่อนเดือนธันวา...นายกฯ ต้องช่วยแล้ว!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม นับเป็นข่าวดีที่สุดของคนเลี้ยงหมูและประชาชนชาวไทย ยิ่งเมื่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ประกาศว่าจะปิดจ๊อบคดีหมูเถื่อนภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้ ก็ทำให้ทุกคนรอชมโฉมมาเฟียผู้บงการหมูเถื่อนอย่างใจจดจ่อ
 
คดีหมูเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ แหลมฉบัง เป็นจุดตั้งต้นที่มีความหมายมาก เมื่อ DSI เข้ามาทำการสืบสวนสอบสวน และสามารถขยายผลเป็นรูปธรรม ออกหมายจับแล้ว 5 บริษัท 6 รายบุคคล นอกจากนี้ยังค้นพบว่าตั้งแต่ปี 2563 จนถึง 2566 กลุ่มผู้ต้องหาเหล่านี้ทำการนำเข้าหมูเถื่อนผิดกฎหมายมาประเทศไทยโดยตลอด รวมแล้วถึง 2,385 ใบขนสินค้า หรือคิดเป็นปริมาณมากถึง 76 ล้านกิโลกรัม สร้างมูลค่าความเสียหายในภาพรวมต่อประเทศไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมหมูเถื่อนที่ยังไม่ถูกตรวจพบซึ่งเชื่อว่าจะมีจำนวนมหาศาลกว่านี้มากนัก โดยที่ทุกวันนี้หมูเถื่อนเหล่านี้ซุกซ่อนอยู่ในห้องเย็นทั่วประเทศที่ยังรอการปูพรมตรวจสอบอย่างละเอียดจากกรมปศุสัตว์ และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
 
ขณะเดียวกัน การผสานความร่วมมือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ที่ทำงานร่วมกับ DSI อย่างใกล้ชิด ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งกรณีการลักลอบนำหมูเถื่อน เนื้อเถื่อนต่างๆ ถือเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรและผู้เกี่ยวข้องจะมี “ข้อหาฟอกเงิน” ติดตัวด้วย โดยคดีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเป็นเครือข่ายอยู่ 3 คดีใหญ่ และพบว่ามีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท ซึ่งจะเริ่มได้เห็นการยึดอายัดทรัพย์ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ความผิดฐานนี้ผู้ต้องหาอาจถูกยึดทรัพย์ให้หมดตัวได้ ซึ่งสาสมแก่ความผิดที่ทำร้ายทำลายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหมดตัวไปหลายราย
 
การนำเข้าหมูเถื่อนจำนวนมหาศาล 76 ล้านกิโลกรัมให้ผ่านด่านเข้าสู่ประเทศไทยได้นั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการรู้เห็นเป็นใจจาก “เจ้าหน้าที่รัฐ” ขณะที่ “หลักฐานการนำเข้าสินค้าต้องสงสัยทั้งหมด” อยู่ในมือกรมศุลกากร จนทำให้เกิดข้อกังขาว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะส่งมอบหลักฐานทั้งหมดให้ DSI จริงหรือ? เพราะหากกรมศุลฯ ให้ความร่วมมือส่งมอบให้ DSI ทั้งหมด การออกหมายจับทั้งขบวนการย่อมเป็นไปได้รวดเร็วกว่านี้มาก
 
ความผิดที่เห็นชัดเจน ณ ตอนนี้ของเจ้าหน้าที่คือ การที่ใบขนสินค้า 2,385 ใบขนสินค้า ซึ่งสำแดงว่าเป็นโพลิเมอร์ เป็นเม็ดพลาสติก และเป็นปลาแช่แข็ง ทั้งๆ ที่ในตู้คือหมูเถื่อนนั้น เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรปล่อยผ่านไปได้อย่างไร จนทำให้หมูเถื่อนกระจายขายในท้องตลาดจำนวนมหาศาล เกิดผลกระทบใหญ่หลวงและยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน  
 
แว่วว่ามีคำกล่าวกันในวงเจ้าหน้าที่รัฐว่า “ถ้าไม่ร่วมมือ DSI ไม่ส่งหลักฐานต่างๆ ให้ ก็อาจถูกลงโทษทางวินัยหรือสั่งย้าย แต่ถ้าให้ความร่วมมือโดยส่งหลักฐานทั้งหมดให้ DSI ก็อาจต้องเข้าคุกเข้าตะราง” แบบนี้คงไม่ต้องบอกว่าเจ้าหน้าที่ที่มีเอี่ยวจะตัดสินใจแบบไหน ซึ่งนี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้การออกหมายจับผู้ต้องหาในอีกหลายๆ บริษัทนำเข้าที่เหลือเป็นไปอย่างล่าช้า
 
น่าเห็นใจ DSI ที่ปฏิบัติงานอย่างจริงจังและมีประสิทธิผล พร้อมตั้งเป้าปิดจ๊อบหมูเถื่อนภายในเดือนธันวาคมนี้ แต่กลับพบอุปสรรคจากตัวแปรสำคัญก็คือ “กรมศุลกากร” ที่ยังไม่ส่งมอบ “หลักฐานการนำเข้าสินค้าต้องสงสัย” ให้ DSI ทั้งหมด เห็นทีท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นทั้งผู้บังคับบัญชาโดยตรงของกรมศุลกากร และเป็นผู้บัญชาการกำกับคดีนี้อย่างใกล้ชิดด้วยตนเอง คงจำเป็นต้องออกแรงสั่งการเด็ดขาดให้ลูกน้องส่งมอบเอกสารทั้งหมดโดยเร็ว ... อย่าปล่อยให้มีการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบ และทำให้เจ้าหน้าที่น้ำดีต้องแปดเปื้อนไปด้วย แล้วธันวาคมนี้จะได้เห็นตัวละครทั้งหมดในขบวนการทุจริตคอร์รัปชันระดับประเทศคดีนี้กันเสียที
 
โดย สามารถ สิริรัมย์






กำลังโหลดความคิดเห็น