MGR Online - แหล่งข่าวดีเอสไอ เผย สองพ่อลูกนายทุนหมูเถื่อนได้รับการประกันตัว ให้การเป็นประโยชน์ต้องจ่าค่าเคลียร์สินค้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยส่งของสะดวกขึ้น
วันนี้ (15 พ.ย.) แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าผลสอบปากคำ สองพ่อลูกที่เข้ามอบตัวซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนผู้สั่งการนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนแช่แข็งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี อาทิ ให้การว่ามีการจ่ายเงินให้กับบริษัทชิปปิ้งเอกชน 2 แห่ง รวมทั้งหมด 33 ตู้คอนเทเนอร์ จาก 161 ตู้ (คดีพิเศษที่ 59/2566) โดยจ่ายเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าเคลียร์ของ ตกตู้ละ 30,000 บาท และบริษัทชิปปิ้งจะรับหน้าที่ในการจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ
“หากไม่เคลียร์ก็สามารถทำได้แต่สินค้าจะไม่ได้ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่เช่าวางตู้คอนเทเนอร์นั้น ตกวันละ 3,000 บาท ทำให้ผู้ต้องหายอมจำนนจ่ายค่าเคลียร์ของดังกล่าวเพื่อให้จบ และสินค้าจะได้นำส่งไปตามออเดอร์ต่างๆ ได้ ไม่อย่างนั้นสินค้าจะเน่าเสีย หรือแม้กระทั่งเหตุผลที่ว่าเป็นตู้คอนเทเนอร์มีแอร์ แต่ถ้าผ่านวันเวลาไป คุณภาพของเนื้อหมูก็จะลดลง ถึงแม้จะอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นก็มีการคายน้ำในเนื้อหมูได้ ทำให้ยิ่งปล่อยไว้นานวัน ก็จะทำให้มีแต่เสียกับเสีย”
แหล่งข่าว เผยว่า การสั่งเนื้อหมูเป็นตามออเดอร์ของพ่อค้าคนกลางหรือกลุ่มนายทุน เช่น สองพ่อลูกคู่นี้ และเมื่อได้รับสินค้ามาแล้วก็จะกระจายส่งไปยังห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ โดยกรณีของผู้ต้องหา ทราบว่าได้กระจายเนื้อหมูส่งไปยังผู้สั่งซื้อหลายสิบราย ซึ่งมีลักษณะเป็นศูนย์กระจายสินค้า ไม่ใช่เขียงหมูตามตลาดนัดทั่วไป นอกจากนี้ ก่อนที่ผู้ต้องหาจะมาประกอบกิจการสั่งนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็ง ยังเคยเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูมาก่อนด้วย แต่เนื่องด้วยสาเหตุกฎระเบียบที่ค่อนข้างหลายขั้นตอนของหน่วยงานรัฐ จึงทำให้ไปไม่รอดต้องผันตัวมาเป็นนายทุนเอง
แหล่งข่าว เผยอีกว่า เมื่อทั้งคู่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงเป็นสาเหตุให้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว อีกทั้งที่ผ่านมาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เพราะมีการประสานขอเข้ามอบตัวกับดีเอสไออย่างต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาเรื่องการว่าจ้างทนายความ จึงลงตัววันที่ 14 พ.ย. ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหายอมให้การเปิดเผยข้อมูลสำคัญทั้งหมด อาจเพราะรู้ดีว่าข้อมูลต่างๆ นี้จะสามารถขยายผลไปสู่การเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและตัวเองอาจจะได้รับการพิจารณาถูกกันไว้เป็นพยานได้ อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอ ร่วมทำงาน ปปง. มาอย่างต่อเนื่อง แต่เบื้องต้นยังไม่ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินเพราะขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนของการสอบสวนทางคดีและขยายผล