23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 - คณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (ACCMSME) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ: จีไอแซด) เปิดตัวอาเซียน แอคเซส เลิร์น (ASEAN Access LEARN) ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของ ASEAN Access แพลตฟอร์มชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนที่ให้บริการด้านเครือข่ายธุรกิจและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ โดย ASEAN Access LEARN จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการนำเข้า การส่งออก และอีคอมเมิร์ซได้อย่างสะดวกสบายบนโลกออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความความสามารถของเอสเอ็มอีในไทยและภูมิภาคต่อไป
อาเซียน แอคเซส เลิร์น (ASEAN Access LEARN) คัดสรรผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและธุรกิจระหว่างประเทศอย่างพิถีพิถันมาจากทุกอุตสาหกรรมทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานจะเข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพสูงสุด โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกเข้าเรียนในรูปแบบห้องบรรยายสดออนไลน์ (Live training) หรือคอร์สเรียนด้วยตนเอง (Self-study) และมีภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน ซึ่งผู้ใช้งานจะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อแสดงความยินดีจากทางแพลตฟอร์มเมื่อเรียนเสร็จ
นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า อาเซียน แอคเซส (ASEAN Access) เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศแก่ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนในภูมิภาคอาเซียน และเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีฐานผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นทุกเดือน หลังจากที่เปิดตัวเมื่อสองปีก่อน โดยปัจจุบันมีกว่า 40 สถาบันและสมาคมธุรกิจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายบนแพลตฟอร์ม นอกจากนั้น ASEAN Access ยังพัฒนาฟีเจอร์ใหม่อยู่เสมอเพื่อตอบสนองกับความต้องการของนักธุรกิจและผู้ใช้งานที่เติบโตขึ้นทุกวัน ซึ่งการเปิดตัว ASEAN Access LEARN ในครั้งนี้ถือเป็นอีกความตั้งใจที่จะผลักดันธุรกิจอาเซียนออกสู่ตลาดโลกให้มากขึ้น โดยเน้นไปที่การนำเข้า การส่งออก และอีคอมเมิร์ซ จึงเหมาะสำหรับธุรกิจทุกประเภท ทุกอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน
นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะประสบความสำเร็จในตลาดสากล จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น วิธีการรับมือกับกฎและระเบียบทางการค้าที่แตกต่าง ซึ่ง ASEAN Access LEARN จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการด้วยการรวบรวมคอร์สเรียนออนไลน์ การบรรยายสดในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้าและธุรกิจระหว่างประเทศซึ่งบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจากอาเซียนและนานาประเทศมาไว้ในที่เดียว โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเนื้อหาทั้งหมดได้ทุกที่ ทุกเวลา และไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นนายไรน์โฮลด์ ในฐานะตัวแทนของกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ยังกล่าวขอบคุณพันธมิตรเครือข่ายและพันธมิตรระดับภูมิภาค รวมไปถึงสภาธุรกิจ สมาคมธุรกิจและสถาบันธุรกิจต่างๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์และพัฒนา ASEAN Access LEARN ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเอสเอ็มอีไทยและภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป
ภายในงานยังมีเสวนาหัวข้อ “โอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อขยายฐานการค้าข้ามพรมแดน” ดำเนินรายการโดยนายอัมรี บุคคารี บัคติยา (Amri Bukhairi Bakhtiar) จากสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) โดยมีผู้แทนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสวนา
อาเซียน แอคเซส (ASEAN Access) เปิดตัวครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เพื่อให้บริการข้อมูลการค้าและธุรกิจในอาเซียน พร้อมสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการขยายฐานธุรกิจเข้าสู่ตลาดสากล เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน (ACCMSME) โดยมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ดูแลหลักในประเทศไทย ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ผ่านโครงการพัฒนาโครงสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN SME II) ผู้ที่สนใจใช้บริการหรือต้องการเรียนรู้ผ่าน ASEAN Access LEARN สามารถเข้าชมเว็บไซต์ www.aseanaccess.com