การรถไฟแห่งประเทศไทยจะดำเนินการย้ายสถานีรถไฟหัวหินไปยังอาคารแห่งใหม่ทางทิศใต้ของสถานีเดิม รองรับเปิดใช้โครงการรถไฟทางคู่ ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 66 หลังอาคารเดิมให้บริการมายาวนานถึง 97 ปี ส่วนอาคารหลังเดิมยังคงอนุรักษ์ไว้
วันนี้ (20 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยจะดำเนินการย้ายสถานีรถไฟหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปทำการที่อาคารสถานีหัวหินแห่งใหม่ ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป และจะประกาศใช้กำหนดเวลาเดินรถใหม่ (ทางคู่) ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋ว สถานีรถไฟหัวหิน โทร. 0-3251-1073
สำหรับสถานีรถไฟหัวหิน ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนพระปกเกล้า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะเป็นอาคารแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ สีครีมตัดแดง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2469 หรือเมื่อ 97 ปีก่อน โดยพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาการรถไฟแห่งกรุงสยามในสมัยนั้น ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย มีการสร้างลวดลายประดับเสาค้ำยัน ด้านทิศเหนือของสถานีจะเป็นพลับพลาพระมงกุฎเกล้า เป็นพลับพลาจตุรมุข สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เดิมเคยตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เพื่อใช้เป็นที่ประทับขึ้นและลงรถไฟ เสด็จประทับทอดพระเนตรกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศทำการฝึกซ้อมยุทธวิธีเป็นประจำทุกปี
หลังจากสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รื้อถอนนำมาเก็บรักษาไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 พันเอก แสง จุละจาริตต์ ผู้ว่าการการรถไฟฯ ขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่าควรนำกลับมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่สถานีหัวหิน เพื่อเป็นที่ประทับขึ้นและลงรถไฟของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ปลูกสร้างขึ้นใหม่ และตั้งชื่อใหม่ว่า "พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ" มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2517 โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่เก็บหัวรถจักรไอน้ำโบราณ ที่การรถไฟฯ ได้สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งหัวรถจักรนี้เคยวิ่งให้บริการในไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ได้มีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร วงเงินรวม 40,192 ล้านบาท หนึ่งในนั้นคือการก่อสร้างอาคารสถานีหัวหินแห่งใหม่ ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางรางระบุว่า สถานีหัวหินแห่งใหม่เป็นสถานียกระดับที่มีทางเดินใต้สถานีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นโครงสร้างยกระดับ มีที่ทำการและที่พักคอยอยู่ชั้นล่าง ชานชาลาอยู่ชั้นบน การออกแบบยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของสถานีเดิมที่ออกแบบตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย โครงสร้างสถานีใหม่ประกอบด้วยเหล็กและคอนกรีต ทาสีครีมตัดแดงอย่างสวยงาม ตั้งอยู่ถัดจากสถานีหัวหินเดิมไปทางทิศใต้ สำหรับทางรถไฟเดิมยังคงมีอยู่สำหรับขบวนรถสินค้า และขบวนรถพิเศษในโอกาสสำคัญ อาคารสถานีเดิมยังคงอนุรักษ์ไว้ โดยมีแผนจะพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ต่อไป