xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเวนคืนรถไฟ”เด่นชัย-เชียงของ”จบใน ก.พ.67 โชว์ไฮไลต์เจาะ”อุโมงค์แม่กาเชื่อม”ลำปาง-พะเยา”เป้าเสร็จปี 71

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รถไฟทางคู่สายใหม่”เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” คืบหน้า 3.016% เร็วกว่าแผน 0.289% รฟท.เร่งเวนคืนแล้ว 80% คาดจบในก.พ.67 ผู้ว่าฯรถไฟ พาดูอุโมงค์แม่กา ไฮไลต์เจาะ เชื่อม”ลำปาง-พะเยา” รวมสัญญาโยธา-อาณัติสัญญาณ งานไม่สะดุด คาดทั้งโครงการเสร็จปี 71

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กม.ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 รฟท.ได้เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยการก่อสร้าง ณ เดือนตุลาคม 2566 มีความคืบหน้ารวม 3.016% เร็วกว่าแผน 0.289% ( แผนงาน 2.727%) โดยมีระยะเวลาก่อสร้างรวม 7 ปี (71 เดือน) สัญญาก่อสร้างสิ้นสุด วันที่ 14 มกราคม 2571 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2571

ทั้งนี้ ในส่วนของการเวนคืนที่ดินประมาณ 7,400 แปลง งบประมาณ 10,600 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์คืบหน้าประมาณ 80% และทยอยส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยตามแผนงาน มีระยะเวลาเวนคืน 24 เดือน ซึ่งจะครบในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน

โดยการเวนคืนมีทั้งที่ดินของประชาชนที่มีโฉนด ที่ดินหน่วยงานรัฐ เช่น สปก. กรมป่าไม้ และกรมธนารักษ์ ซึ่งได้มีการบูรณาการความร่วมมือกัน โดยใช้กลไกราคา มีกระบวนการยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนพอใจเนื่องจาก ให้ราคาที่ 3.2% สูงกว่าราคาประเมินของธนารักษ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาการใช้พื้นที่ส่วนของกรมธนารักษ์ และสำนักงานสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2567


โดยวันที่ 10 พ.ย. 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ บริเวณงานอุโมงค์รถไฟ (อุโมงค์แม่กา) ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดพะเยา เป็นอุโมงค์ที่มีความยาว 2.7 กิโลเมตร โดยเป็นอุโมงค์ ในงานสัญญา 2 ซึ่งได้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ก่อน โดยงานขุดเจาะอุโมงค์ใช้ระยะเวลา 45 เดือน ปัจจุบันทำงานมาแล้ว 8 เดือน งานมีความก้าวหน้าไปมากกว่าแผน ตอกจากนี้ ยังมีการสำรวจออกแบบวิธีการก่อสร้างที่ป้องกันเรื่องแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว แบะมีระบบระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย


สำหรับ อุโมงค์แม่กา เป็นหนึ่งในสี่อุโมงค์ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในพื้นที่สัญญา 2 ช่วงงาว-เชียงราย พื้นที่ประกอบด้วย ชั้นดิน และชั้นหิน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ คาบเกี่ยว 2 จังหวัดคือ ลำปาง และพะเยา เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว แบ่งเป็นฝั่ง up track และ down track มีความยาว 2,700 เมตร (ทั้งหมด 5,400 เมตร) ภายในอุโมงค์มีทางเชื่อม 2 ประเภท คือ ทางเชื่อมกรณีฉุกเฉินเพื่ออพยพ (cross passage) 11 จุด และทางเชื่อมที่เป็นห้องควบคุมงานระบบ (equipment room) 4 แห่ง


โดยอุโมงค์แม่กามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.4 เมตร สูง 7.341 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์ดินเหนียวแข็ง (Unconsolidated sediment) ร้อยละ 85 และชั้นหิน (Siltstone) ประมาณร้อยละ 15 จึงใช้วิธีขุดเจาะอุโมงค์แบบ New Austrain Tunnelling Method (NATM) และ drill and blast สำหรับหินแข็ง

โดยด้านทิศเหนือ อ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งได้เริ่มงานเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปัจจุบันขุดอุโมงค์ได้ 950 เมตร โดยมีอัตราการขุดเจาะวันละ 1 เมตร คาดว่าใช้เวลาขุดเจาะและดาดคอนกรีตรวมประมาณ 50 เดือน ส่วนด้านทิศใต้ อ.งาว จ.ลำปาง ดำเนินการระเบิดหินและขุดเจาะได้ 70 เมตร โดยมีอัตราการขุดเจาะวันละ 0.5 เมตร คาดว่าจะดำเนินการขุดเจาะทะลุหากันได้ภายในปี 2570


@รวมสัญญางานโยธา-ระบบอาณัติสัญญาณ ไร้รอยต่อเสร็จตามแผนปี 71

นายนิรุฒ กล่าวว่า ในแง่การก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานซึ่งโครงการนี้รวมงานก่อสร้างโยธา งานวางราง งานระบบอาณัติสัญญาณ ไว้ในสัญญาเดียวกัน จะทำให้การทำงานเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมดภายใต้ผู้รับจ้างเดียวกัน จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการไม่ล่าช้าเหมือนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ที่แยกสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณ กับสัญญา ก่อสร้างงานโยธา ออกจากกัน

“โครงการรถไฟทางคู่สายนี้ เป็นเส้นทางที่ประชาชนในพื้นที่รอคอยมานานมากเมื่อมีโครงการเกิดขึ้นประชาชนจึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก ส่วน การเวนคืนที่เหลือ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่วางไว้ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จเชื่อว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟที่สวยที่สุดเป็นเส้นทางด้านการท่องเที่ยวรวมถึงการเดินทางของประชาชนอีกทั้งเป็นเส้นทางหลักในการรองรับการขนส่ง ขนส่งสินค้าจากประเทศจีน ดยมีศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า (Intermodal Facilities) ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างรฟท. กรมการขนส่งทางบก กรมศุลกากร ช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ของประเทศ


สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย–งาว ระยะทาง 103.7 กิโลเมตรผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ มูลค่างาน 26,560 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง :2,160 วัน (71 เดือน) เริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 มกราคม 2571

สัญญาที่ 2 ช่วงงาว–เชียงราย ระยะทาง 132 กิโลเมตรผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ กิจการร่วมค้าซีเคเอสที – ดีซี2มูลค่างาน 26,890 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน เริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565สิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 มกราคม 2571

สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย–เชียงของ ระยะทาง 87 กิโลเมตรผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ กิจการร่วมค้าซีเคเอสที – ดีซี3 มูลค่างาน 19,385 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน) เริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 มกราคม 2571


กำลังโหลดความคิดเห็น