xs
xsm
sm
md
lg

การเจรจาจีน-สหรัฐฯ บนหนทางสู่สันติภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านความมั่นคงและวัฒนธรรมสัมพันธ์เอเชีย
ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ระหว่างการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก 2023 ที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ท่าทีของมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ได้รับการจับตามากที่สุด เพราะการเจรจาหนนี้บ่งชี้ทิศทางของโลกท่ามกลางกระแสขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ในเวทีการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร แก่นการประชุม “การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกฝ่าย” เผยนัยการเจรจาตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน และเมื่อผู้นำสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากันจริงๆ โลกก็ได้เห็นทิศทางอันชวนผ่อนคลาย

การเจรจาทวิภาคีจีน-สหรัฐฯ เกิดขึ้น ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่น หรือเพียงสองวันก่อนเอเปก 2023 จะสิ้นสุด แหล่งข่าวจำนวนมากรายงานตรงกันว่า การเจรจาจบลงด้วยดี มีความพยายามจะสานต่อความร่วมมือมากกว่าขยายความแตกแยก ประธานาธิบดี โจ ไบเดนถึงกับเอ่ยว่า บทสนทนารอบนี้เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และให้ผลน่าพึงพอใจมากที่สุดนับตั้งแต่สาบานตนรับตำแหน่ง ขณะที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนยืนยันความตั้งใจที่จะสรรค์สร้างเอกภาพบนหลักมิตรภาพอย่างที่เคยเป็นมา

การพบปะระหว่างสองผู้นำได้เปิดทางไปสู่ข้อสรุปอันน่าสนใจหลายประการ หนึ่งในนั้นคือข้อตกลงทางทหาร โดยจีนและสหรัฐฯ ยินดีเพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ส่งเสริมความโปร่งใสของปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่อาจนำไปสู่การใช้กำลัง อีกหนึ่งคือประเด็นไต้หวันซึ่งประธานาธิบดีไบเดนเปิดเผยว่าสหรัฐฯ ยังคงรับรองสถานะปัจจุบันของจีนกับไต้หวัน ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเอ่ยในวงประชุม จีนไม่คิดวางแผนใช้กำลังใดๆ เพราะการเจรจาคือหนทางสำหรับทุกวิกฤตของจีน

ยังมีประเด็นความร่วมมืออีกมากมายในการประชุมครั้งนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใด โลกก็ได้เห็นแนวทางสันติภาพของสองชาติ หากมองจากมุมสหรัฐฯ ซึ่งสร้างบทวิพากษ์จีนเสมอมา จะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติโดยเฉพาะจากคำแถลงของประธานาธิบดีไบเดนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน เช่น สหรัฐฯ จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสหรัฐฯ กับจีนจะต้องรักษาความสัมพันธ์กันต่อไป เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจะนำโลกไปสู่เสถียรภาพพร้อมกับเพิ่มพลังให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง เป็นต้น

ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่มาจากความพยายามของจีนในช่วงก่อนหน้าที่ใช้หลักความร่วมมือ การค้า กับการเจรจา จีนแสดงออกบนทุกเวทีผ่านหลักคิด win-win cooperation หมายความว่า การใช้กำลังไม่ใช่ทางเลือกในสายตาจีน แต่เป็นการหันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กัน นี่คือเหตุผลว่า ทำไมจีนพยายามรณรงค์เกี่ยวกับประเด็นการอยู่ร่วมกันตลอดเวลา อย่างการนำเสนอข้อริเริ่มว่าด้วยอารยธรรมโลกซึ่งหมายถึงความพยายามเชิดชูความหลากหลายทางอารยธรรม หรือข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกที่เน้นความสงบสันติกับความยั่งยืนของการพัฒนา ยังมีข้อริเริ่มว่าด้วยความมั่นคงระดับโลกที่เลี่ยงการเผชิญหน้า แต่สรรหาแนวทางก้าวเดินไปด้วยกัน ทั้งหมดนี้สื่อความมุ่งมั่นของจีนที่เลือกเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือและแก้ปัญหาความไม่ลงรอย

แต่หากพิจารณาในบริบทที่ใหญ่ขึ้น จะเห็นว่า จีน ณ วันนี้มีบทบาทต่อประชาคมนานาชาติมากเกินกว่าจะยอมอ่อนข้อให้แก่วิถีสงคราม แม้ขนาดเศรษฐกิจจีนยังเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ จีนกลับเป็นโรงงานผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกและยังเป็นตลาดที่ทรงศักยภาพลำดับต้นๆ ของโลก สัดส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโลกอยู่ที่ประเทศจีนมากถึง 28.4% ขณะที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้สัดส่วนเพียง 16.6% และ 7.5% ตามลำดับ พลังการซื้อของจีนก็อยู่ในระดับไม่ธรรมดา ประชากร 1.4 พันล้านคนจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หลายร้อยล้านคนพร้อมใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและเปิดรับสินค้า/บริการจากภายนอก ยังไม่นับการเชื่อมโยงด้านการศึกษา เทคโนโลยี พลังงาน และอีกมากมาย ดังนั้น การกระทบกระทั่งเพียงเล็กน้อยจะส่งผลต่อเนื่องเป็นโดมิโนไปทั่วทุกภูมิภาค และระบบซัปพลายเชนจะปั่นป่วนในทุกพื้นที่เหมือนยุคสงครามการค้า กระทั่งจะไม่มีใครได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดในเกมแห่งความขัดแย้งนี้

น่าสนใจที่ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับจีน หรือเสียงยั่วยุในอดีตไม่เคยสั่นคลอนแนวทางความร่วมมือข้างต้น และเมื่อถึงจุดที่ชัดเจนแล้วว่าการหันหลังให้แก่เจตจำนงของจีนมีแต่จะบ่อนทำลายทุกฝ่าย สหรัฐฯ จึงกำหนดท่าทีใหม่ดังเห็นในบทสรุปเอเปก 2023 ซึ่งทำให้การประชุมหนนี้มีสถานะประหนึ่งปฐมบทของสันติภาพยุคหลังโควิด-19 และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แนวทางแก้ปัญหาจีน-สหรัฐฯ จะมุ่งสู่ทิศทางแห่งความราบรื่นเพื่อประกันความปลอดภัยของโลกยุคต่อไป

ความเป็นไปในเอเปก 2023 ช่วยยืนยันอุดมการณ์การเมืองระหว่างประเทศของจีนอีกครั้ง สำหรับจีน สันติภาพทำให้ทุกชาติมีพื้นที่ดำรงอยู่ แต่ความขัดแย้งจะทำลายโอกาสของทุกฝ่าย และเอเปก 2023 ช่วยตอกย้ำ “ทูตานุภาพ” อันแน่วแน่จากฝ่ายจีน






กำลังโหลดความคิดเห็น