xs
xsm
sm
md
lg

เจอแล้ว​! "จารึกประตูท่าแพ"​ ที่แท้ยังคงซ่อนอยู่ภายในโครงสร้าง​ประตูท่าแพปัจจุบัน​

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่เผย พบแล้ว จารึก​ประตูท่าแพ หรือ​ "จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ" ที่แท้ยังคงปักยืนตระหง่าน​ ซ่อนตัวอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพ​ปัจจุบัน​

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. เพจเฟซบุ๊กสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ระบุข้อความว่า ตามที่สังคมให้ความสนใจตามหา​ "จารึก​ประตูท่าแพ" หรือ​ "จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ" เมืองเชียงใหม่​ และได้มีกลุ่มนักวิชาการ​บางส่วน​ให้ข้อมูล​ว่า​ จารึกดังกล่าวเก็บรักษา​ไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน​แห่งชาติ​เชียงใหม่​ เพื่อทำให้ประเด็น​ข้อสงสัยดังกล่าวกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น​ สำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ จึงได้ประสานข้อมูล​กับภาคส่วนต่าง​ๆ​ จนทำให้เริ่มพบเบาะแส​ของจารึกประตูท่าแพ​ ซึ่งไม่มีผู้ใดพบเห็นเลย​ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ

เพื่อไขปริศนา​ดังกล่าว​ วันที่ 1 พฤศจิกายน​ 2566​ สำนักศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ นำโดย​ นายเทอดศักดิ์​ เย็น​จุ​ระ​ ผู้อำนวยการ​กลุ่ม​อนุรักษ์​โบราณสถาน​ พร้อมด้วย​ผู้แทนเทศบาลนคร​เชียงใหม่​ ผู้แทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์​ ผู้แทนคณะวิจิตรศิลป์​ ผู้แทนคลังข้อมูล​จารึก​ล้านนา​ มหาวิทยาลัย​เชียงใหม่​ และนักวิชาการ​ท้องถิ่น​ ร่วมกันเปิดประตูห้องที่ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพปัจจุบัน​ ซึ่งไม่ได้เปิดมาตลอดระยะเวลา​หลายสิบปี​ และเข้าไปทำการสำรวจภายในจนพบว่า​ "จารึก​ประตูท่าแพ" หรือ​ "จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ" ยังคงปักยืนตระหง่าน​ ซ่อนตัวอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพ​จนกระทั่งปัจจุบัน​ นำมาซึ่งความปีติ​ของทีมผู้ร่วมค้นหาทุกท่าน

ทั้งนี้ จารึก​ประตูท่าแพ​ เป็นหนึ่งในจารึกหลักสำคัญ​ที่ฝังอยู่​ร่วมกับประตูเมืองมาตั้งแต่อดีต​ ต่อมาราวช่วงปี​ พ.ศ.​ 2529-2530 จารึกหลักนี้ถูกเคลื่อนย้าย​ในช่วงระยะเวลาที่มีการปรับปรุง​ประตู​ท่าแพให้เป็น​ Landmark ของเมืองเชียงใหม่​ หลังจาก​นั้น​ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นจารึกประตูท่าแพตลอดระยะเวลาเกือบ​ 40​ ปี​ จนกระทั่งมีการตามหาจนพบในวันนี้

สำหรับ​ความสำคัญ​ของจารึก​ประตูท่าแพ​ จากการศึกษา​ของ​ ศ.​ประเสริฐ​ ณ​ นคร​ พบว่า​ เป็นจารึกอักษร​ธรรมล้านนา​ ตารางบรรจุตัวเลข​ และวงดวงชะตา​ ข้อความอักษร​เมื่อถูกกลับให้ถูกทิศทางแล้ว​ ถอดความตามส่วนดังนี้​ ข้างบนมีข้อความว่า​ "อินทขีล​ มังค (ล)​ โสตถิ" ข้างซ้ายมีข้อความ​ว่า​ "อินทขีล​ สิทธิเชยย" ข้างขวามีข้อความว่า​ "อิน...." และข้างล่างมีข้อความว่า​ "อินทขีล​ โสตถิ​ มังคล" โดยคำสำคัญ​ที่ปรากฏในจารึกหลักดังกล่าว​ว่า​ "อินทขีล" เป็นภาษาบาลี​ แปลว่า เสาเขื่อน​ เสาหลักเมือง​ หรือธรณีประตู​ จึงสรุปนัยสำคัญ​ได้ว่า​ จารึก​หลักนี้​มีความสำคัญ​ในฐานะเสาประตูเมือง

นอกจากข้อความ​ข้างต้นแล้ว​ จารึกประตูท่าแพยังมีความพิเศษ​ตรงที่​เทคนิคการทำจารึก​ ซึ่งแต่เดิมจารึกด้านที่​ 1 ไม่มีผู้ใดสามารถอ่านได้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี​ จนกระทั่งในช่วง​ พ.ศ.​ 2529 อ.เรณู​ วิชาศิลป์​ แห่งวิทยาลัยครู​เชียงใหม่​ (ขณะนั้น)​ ได้ค้นพบและเสนอว่าเป็นจารึกตัวหนังสือกลับ​ คล้ายดังเป็นเงาในกระจก​ จึงสามารถอ่านจารึกประตูท่าแพได้

การค้นพบจารึกหลักสำคัญ​ที่หายไป​จากความทรงจำในวันนี้​ สำนักศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ต้องขอขอบคุณ​ผู้มีส่วนร่วมสำคัญทุกท่าน​ ประกอบด้วย​ ศาสตราจารย์​เกียรติคุณ ​สุรพล​ ดำริห์กุล, พ่อครูศรีเลา​ เกษพรหม​ ศูนย์​การเรียนรู้จารึก​และเอกสารโบราณ, เทศบาลนคร​เชียงใหม่, คุณ​อรช บุญ-หลง​ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.ปรัชญา​ คัมภิรานนท์และ​ ผศ.กรรณ​ เกตุเวต​ คณะวิจิตรศิลป์​ มหาวิทยาลัย​เชียงใหม่ และ​ ดร.อภิรดี​ เตชะศิริวรรณ​ คลังข้อมูล​จารึก​ล้านนา​ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​

เครดิต​ภาพสำเนาจารึก​ฯ : ฐานข้อมูล​จารึกในประเทศ​ไทย​ ศูนย์​มานุษยวิทยา​สิรินธร​ (องค์​การมหาชน) และภาควิชาภาษาตะวันออก​ คณะโบราณคดี​ มหา​วิทยาลัย​ศิลปากร

//📣พบแล้ว​ จารึกประตูท่าแพ​ ที่แท้ยังคงซ่อนอยู่ภายในโครงสร้าง​ประตูท่าแพปัจจุบัน​📣//
.
🔎🔎 ตามที่สังคมให้ความสนใจตามหา​ "...โพสต์โดย สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ เมื่อ วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2023



กำลังโหลดความคิดเห็น