อุทัยธานี - จนท.บุกพิสูจน์ภาพเขียน-กะโหลกมนุษย์โผล่ถ้ำบนเขาผาแรด หลังชาวบ้านตามกลิ่นขี้ค้างคาวแล้วเจอครบทั้งหัว-โครงกระดูก เบื้องต้นศิลปากรมองเป็นโบราณสถาน-แหล่งโบราณคดี ภาพเขียนสีประวัติศาสตร์และแหล่งฝังศพ คาดอายุหลายพันปี
นายเกรียงศักดิ์ มิตรประกอบโชค นายอำเภอลานสัก ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เข้าตรวจสอบภาพเขียนโบราณ และกระดูกมนุษย์ ในถ้ำบนเขาผาแรด ต.ลานสัก อ.ลานสัก เมื่อเร็วๆ นี้
หลังมีชาวบ้านในพื้นที่ตามกลิ่นขี้ค้างคาวเข้าไปภายในถ้ำ แล้วพบเจอสิ่งดังกล่าว ก่อนแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ จนนำมาสู่การดำเนินการตรวจสอบว่ามีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรยกพื้นที่แห่งนี้เป็นโบราณสถานและเป็นแหล่งโบราณคดี ประเภทภาพเขียนสีประวัติศาสตร์และแหล่งฝังศพ ก่อนดำเนินการพิสูจน์รายละเอียดให้ชัดเจนทั้งหมดอีกครั้ง
นายปิยะ ยิ้มเนียม อายุ 45 ปี ชาวบ้านสวนใหม่เขาผาแรด เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้กลิ่นขี้ค้างคาวโชยจากถ้ำ พอดีตนจะเอามาใส่ผลไม้ที่ปลูกไว้จึงเดินตามกลิ่นไป เมื่อเดินผ่านป่าก็เจอหน้าผา จึงปีนขึ้นไปจนถึงถ้ำ ก็พบภาพวาดสีแดงน่าจะเป็นภาพวาดโบราณอยู่บริเวณปากทางเข้าถ้ำ พอเดินเข้าไปภายในถ้ำ แล้วลงมือคุ้ยดินเพื่อหามูลค้างคาว ก็พบโครงกระดูก ตอนแรกคิดว่าเป็นกระดูกเลียงผา ก็คุ้ยต่อจนไปเจอหัวกะโหลกคน จึงรีบลงมาแจ้งผู้ใหญ่บ้าน
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ นายอำเภอลานสัก กล่าวว่า ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมตรวจสอบสถานที่บริเวณเขาผาแรด ที่ชาวบ้านได้พบกระดูกมนุษย์และภาพเขียนสี อนาคตต้องดูผลพิสูจน์ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดเป็นภาพเขียนประวัติศาสตร์ก็คงจะต้องมีการพัฒนาต่อไป
นายปริวรรษ เจียมจิตต์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นโบราณสถานโดยสภาพ แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต่อจากนี้จะมีการดำเนินการทางวิชาการ โดยการสำรวจซ้ำและเก็บบันทึกภาพ นายช่างศิลปกรรมเข้ามาบันทึกภาพทั้งหมดเป็นการทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ (Photogrammetry) เป็นรูปแบบ 3 มิติเพื่อประโยชน์ต่อทางวิชาการต่อไป แล้วถ้าเป็นไปได้มีทุนมากพอ จะมีการดำเนินการขุดค้นโบราณคดีในระบบต่อไป
ซึ่งภูเขาแห่งนี้เป็นภูเขาหินปูน จากการประเมินเบื้องต้นน่าจะมีอายุประมาณ 360 ล้านปีแล้ว ก่อตัวในยุคเพอร์เมียน แต่ไม่ได้เกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ส่วนอายุภาพเขียนนั้นระบุแน่ชัดไม่ได้ แต่สามารถนำมาเทียบกับอายุของเขาปลาร้า น่าจะมีอายุราวๆ 3-4 พันปีลงมา เนื่องจากดูจากลักษณะภาพเขียนแล้วเป็นเทคนิคการเขียนแบบเดียวกัน และชุมชนบริเวณนี้มีความสัมพันธ์กัน-ระยะทางไม่ได้ห่างกันมาก
“ดูภาพเขียนด้วยตาเปล่าด้วยการระลึกรู้ของเรา เห็นมีสัตว์ มีคน มีอาวุธ มีการออกท่าทางต่างๆ เป็นวิถีชีวิตของเขาหรือเปล่า วิถีชีวิตของคนในละแวกนี้ที่เขาเห็นจนชินตา มีการเก็บของป่าล่าสัตว์ เพราะฉะนั้นคนที่เก็บของป่าล่าสัตว์ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ก็จะบันทึกด้วยการวาดภาพเนื่องจากยังไม่มีตัวอักษรใช้ หรือบางทีอาจจะเป็นพิธีกรรมต่างๆ โดยมีกระดูกของคนตายไปฝังก็อาจจะเป็นไปได้ มันมีการตีความหลากหลาย แต่โดยภาพรวมแล้วมันก็คือการบันทึกของเขา ว่าเขาทำอะไร มีวิถีชีวิตอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ได้ลงพื้นที่สำรวจ วัดขนาด บันทึกภาพให้ได้มากที่สุด และเร็วๆ นี้อาจจะมีนายช่างมาสำรวจรังวัดทำผัง และต้องสำรวจซ้ำฯ ซึ่งอาจต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ปกครอง ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรมาว่าขอความอนุเคราะห์เข้าสำรวจและขุดค้นโบราณคดี และช่วยกันหลายภาคส่วนเพื่อให้การดำเนินการสำเร็จ
พื้นที่แห่งนี้เป็นโบราณสถานและเป็นแหล่งโบราณคดี ประเภทภาพเขียนสีประวัติศาสตร์และแหล่งฝังศพ ตอนนี้ขอความร่วมมือประชาชนที่มาท่องเที่ยวห้ามสัมผัสภาพเขียนสีบนผนัง เพราะเกรงว่าจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีจากเหงื่อของคนที่ไปแตะอาจจะทำให้ภาพชำรุด ขอความร่วมมือหยุดขุดค้นอย่างไม่เป็นระบบในบริเวณนี้ เนื่องจากหลักฐานต่างๆ จะหลุดออกไปจากบริบทของมันและกระจัดกระจายไปทั่ว และอย่าเดินเหยียบย่ำบริเวณที่ขุดพบเจอ