xs
xsm
sm
md
lg

3 เดือนจีนปลดฟ้าผ่ารัฐมนตรี 2 คน กฎเหล็ก ใหญ่แค่ไหนเมื่อผิดต้องโดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนเอาจริงปราบคอร์รัปชั่น 3 เดือนปลดผู้นำดาวรุ่งถึง 2 คน ทั้ง “ฉิน กัง” อดีต รมต.ต่างประเทศ และ “หลี่ ซ่างฝู” อดีต รมต.กลาโหม ซ้ำยังถูกปลดจากจากมนตรีแห่งรัฐอีก ขณะสื่อตะวันตกคาดเดาไปไกลว่าเป็นผลพวงของการแย่งชิงอำนาจ แต่ความจริงการปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงจีน ต้องเป็นมติของรัฐสภา จากนั้นประธานาธิบดีจึงลงนามในคำสั่ง เป็นการกลั่นกรอง 2 ชั้น และ สี จิ้นผิง ได้ออกมาตรการ "ไม่กล้าโกง, ไม่คิดจะโกง และไม่สามารถโกง" ตั้งแต่ 10 ปีก่อน




ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการปลดรัฐมนตรี 2 คนของรัฐบาลจีนในรอบ 3 เดือน โดยเริ่มจากการปลดนายฉิน กัง ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการประจำสภาผู้แทนประชาชนจีน ได้ตัดสินปลด พล.อ.หลี่ ซ่างฝู ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมนตรีแห่งรัฐ (State Councilor) และปลดนายฉิน กัง ออกจากมนตรีแห่งรัฐอีกตำแหน่งหนึ่ง

สำหรับ พล.อ.หลี่ ซ่างฝู นั้น หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมของจีนก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยบรรดานักการทูตและผู้สังเกตการณ์ เพราะ พล.อ.หลี่ มีตำแหน่งเป็น 1 ใน 5 มนตรีแห่งรัฐ เช่นเดียวกับนายฉิน กัง โดยตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐนั้น ถือเป็นตำแหน่งที่สูงกว่ารัฐมนตรีทั่ว ๆ ไป

พล.อ.หลี่ ซ่างฝู
พล.อ.หลี่ ซ่างฝู เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมใน เดือนมีนาคม 2566 ทว่า ในช่วงสองเดือนมานี้ ตั้งแต่ ปลายเดือนสิงหาคม 2566 เขาหายหน้าไปจากสื่อและสาธารณชน ทั้งยังไม่ได้มาร่วมงานเลี้ยงฉลองวันชาติจีนที่จัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน ขณะเดียวกันมีข่าวลือว่า พล.อ.หลี่ ซ่างฝู อาจจะมีเอี่ยวในคดีคอร์รัปชั่นของกองทัพ

อนึ่ง เมื่อสองเดือนก่อน พล.อ.หลี่ ช่างฝู หายตัวไปหลังจากที่จีนเพิ่งจะสั่งปลด นายฉิน กัง ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และยังมีการเปลี่ยนตัว ผู้นำระดับสูง 2 นายของกองกำลังจรวด (Rocket Force) ซึ่งควบคุมการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ โดยปลด นายพลหลี่ ยู่เชา และ นายพลสีว์ จงโป แห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนออก โดยให้ นายพลหวัง โฮ่วปิน และ นายพล สีว์ ซีเซิ่ง ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

พล.อ.หลี่ ปรากฏตัวครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม โดยกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมด้านความมั่นคงกับกลุ่มประเทศแอฟริกาที่กรุงปักกิ่ง และก่อนหน้านั้นก็ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจที่รัสเซีย และเบลารุส

สำหรับ พล.อ.หลี่ ซ่างฝู ถูกสหรัฐฯ สั่งขึ้นบัญชีดำตั้งแต่ปี 2561 โดยอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธจาก โรโซโบรอนเอ็กซ์ปอร์ต (Rosoboronexport) ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย

พล.อ.หลี่ ซ่างฝู และ พล.อ.ลอยด์ ออสติน จับมือกันระหว่างการประชุมด้านความมั่นคงที่สิงคโปร์เมื่อ 2 มิถุนายน 2566
เจ้าหน้าที่จีนเคยออกมาย้ำหลายครั้งว่าต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกคว่ำบาตร พล.อ.หลี่ เพื่อขจัดอุปสรรคในการเจรจาพูดคุยกันระหว่างกองทัพทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่ พล.อ.ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เคยพยายามขอพูดคุยกับ หลี่ ระหว่างที่ทั้งสองเข้าร่วมประชุมด้านความมั่นคงที่สิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน 2566 แต่สุดท้ายก็ได้แค่เพียง “จับมือ” เท่านั้น

"หลี่ ซ่างฝู" นายพลอวกาศ

พล.อ.หลี่ ซางฟู่ (李尚福) เกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2501 ปัจจุบันอายุ 65 ปี เขาเกิดที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน แต่บรรพบุรุษเป็นชาวมณฑลเจียงซี พ่อของ พล.อ.หลี่ คือ หลี่ เจ้าจู (李绍珠) อดีตทหารผ่านศึกของกองทัพแดง และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพปลดแอกประชาชน (เคยดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตะวันตกเฉียงใต้ของกองรถไฟแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน มีผลงานสำคัญคือการสร้างและบำรุงทางรถไฟระหว่างสงครามกลางเมืองของจีน และสงครามเกาหลี)

หลี่ ซ่างฝู เข้าร่วมกับกองทัพ โดยเขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีป้องกันประเทศแห่งชาติในปี 2521 โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 2525 และเริ่มทำงานที่ ศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง มณฑลเสฉวน ในตำแหน่งช่างเทคนิค โดยพล.อ.หลี่ ทำงานที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชางยาวนานถึง 31 ปี โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ นานถึง 10 ปี

พล.อ.หลี่ ซ่างฝู ถือเป็นคีย์แมนสำคัญของโครงการอวกาศของจีน โดย

ปี 2550 เขารับผิดชอบภารกิจ “ฉางเอ๋อ 1” ซึ่งเป็นการปล่อยยานอวกาศไร้คนขับลำแรกของจีนที่โคจรรอบดวงจันทร์

ปี 2553 ดูแลภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของยาน “ฉางเอ๋อ 2”

พล.อ.หลี่ มีส่วนร่วมในโครงการอวกาศของจีน ซึ่งรวมถึงการพัฒนา “ยานอวกาศฉางเอ๋อ 4” ของจีนที่ลงจอดบนด้านมืดของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นบริเวณดวงจันทร์ที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน ในเดือนมกราคม 2562

ฉางเอ๋อ-4
นอกจากนี้ เขายังเป็นหัวหน้าผู้บัญชาการภารกิจอวกาศที่มีคนขับ “เสินโจว-12” ซึ่งมีการส่งนักบินอวกาศ 3 นาย ไปยังสถานีอวกาศเทียนกงใน เดือนมิถุนายน 2564

ปี 2556 หลี่ได้รับเลือกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพใน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพาวุธทั่วไปของกองทัพปลดแอกประชาชน ซึ่เงป็นหน่วยงานหลักของกองทัพจีนที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการออกแบบ การพัฒนา การผลิต และการจัดซื้อระบบอาวุธ


ทั้งนี้ พล.อ.หลี่ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมศาสตร์สาขาทฤษฎีการควบคุมและวิศวกรรมควบคุมจากมหาวิทยาลัยฉงชิ่งด้วย เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองกำลังสนับสนุนเชิงกลยุทธ์ของกองทัพจีน และรองผู้บัญชาการแผนกอาวุธยุทโธปกรณ์ทั่วไป ต่อมาเขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัฒนาอุปกรณ์ของคณะกรรมาธิการการทหารกลางตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565

เขาได้รับยศนายพลในเดือนกรกฎาคม 2562 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางในเดือนตุลาคม 2565

“ฉิน กัง” อดีตคนใกล้ชิด สี จิ้นผิง


นายฉิน กัง นั้นเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศสหรัฐฯ และถือเป็นผู้ใกล้ชิดกับ สี จิ้นผิง โดย ฉิน กัง ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ปี 2565 และกลายเป็นผู้นำดาวรุ่งที่โลกกล่าวขวัญ และจับตามอง จนกระทั่งช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายฉินหายหน้าไปจากสาธารณะนับเดือนท่ามกลางข่าวลือหึ่งเรื่องสัมพันธ์ชู้สาวกับนักข่าว-พิธีกรสาวคนดังคือ ฟู่ เสี่ยวเถียน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นสายลับสองหน้าโดยเธอทำงานให้กับจีนและยังแปรพักตร์ไปทำงานให้สหรัฐฯ ด้วย (รายการ คุยทุกเรื่องกับสนธิ EP.200 ตอน ปลดฟ้าผ่า “ฉิน กัง” ออกอากาศวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2566)


ปัจจุบัน สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนนั้น มี นายหวัง อี้ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้อำนวยการสำนักงานกิจการต่างประเทศของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายการต่างประเทศของจีน เหนือกว่า รมว.ต่างประเทศ) กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแทน นายฉิน กัง

นายหวัง อี้
ปราบคอร์รัปชั่นจริงจัง ใหญ่แค่ไหนก็โดน

การที่บุคคลระดับรัฐมนตรี และ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนมากถูกปลดในยุคของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สะท้อนความจริงจังต่อนโยบายปราบคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะมีตำแหน่งสูงแค่ไหน หากฉ้อฉลหรือละเมิดวินัยก็ล้วนแต่ต้องถูกจัดการ

ค่ำวันอังคารที่ 24 ตุลาคม รายการข่าวภาคค่ำของสถานีโทรทัศน์ CCTV รายงานว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นผู้ลงนามในคำสั่งปลด พล.อ.หลี่ ซ่างฝู พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและมนตรีแห่งรัฐเอง นอกจากนี้ยังให้ นายฉิน กัง ที่ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศก่อนหน้านี้ พ้นจากตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐด้วย

คำสั่งครั้งนี้ยังมีการปลดและแต่งตั้งรัฐมนตรีอื่น ๆ ด้วย บางกรณีเป็นการสับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อความเหมาะสม ไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใด แต่ในกรณีของ พล.อ.หลี่ ซ่างฝู และ นายฉิน กัง ทั้งคู่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่กี่เดือนก็ถูกปลด จึงน่าจะเกี่ยวข้องกับความผิดบางประการ เพียงแต่รัฐบาลจีนยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนเท่านั้น

สื่อตะวันตกต่างวิจารณ์ว่า จีนขาดความโปร่งใสทางการเมืองและคาดเดาไปไกลว่า นี่อาจเป็นผลพวงของการแย่งชิงอำนาจ

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าจีนมีรูปแบบการปกครองของตัวเอง คือ สังคมนิยมแบบจีนแต่ต่างชาติใช้กรอบความคิดของตัวเอง คือ ระบอบประชาธิปไตยมาใช้กับจีน

ตามรัฐธรรมนูญของจีน การปลดและแต่งตั้งรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง จะต้องผ่านการลงมติของคณะกรรมการประจำสภาประชาชนจีน หรือก็คือ รัฐสภาจีน จากนั้นประธานาธิบดีจึงลงนามในคำสั่ง

นี่เป็นการตรวจสอบ 2 ชั้น แตกต่างจากหลายประเทศที่การปลด แต่งตั้ง โยกย้าย สามารถทำได้โดยอำนาจของนายกรัฐมนตรี เพียงผู้เดียว ไม่จำเป็นต้องผ่านการลงมติของรัฐสภา

นี่จึงเป็นคำตอบว่า นายฉิน กัง ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพิ่งถูกปลดจากตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ

ส่วน พล.อ.หลี่ ซ่างฝู วัย 65 ปี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อเดือนมีนาคมและถูกปลดในเวลาไม่กี่เดือน

ในประเทศจีนนั้น หากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหายหน้าไปเป็นเวลานานมีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกสอบสวนในความผิดบางอย่าง


โดย พล.อ.หลี่ ซ่างฝูเติบโตขึ้นมาจาก กองกำลังขีปนาวุธ หรือ กองกำลังจรวด ซึ่งเป็นกองทัพที่ 4(นอกเหนือจาก 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก เรือ และอากาศ)ของจีน เขาเคยรับผิดชอบเรื่องการจัดหาอาวุธของกองทัพจีน ซึ่งอาจจะทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตบางอย่าง ตำแหน่งงานนี้ยังทำให้เขาถูกรัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรจากกรณีการซื้ออาวุธจากรัสเซีย

กองกำลังขีปนาวุธ ยังเผชิญกับมรสุม หลังจากมีข้อมูลการพัฒนาขีปนาวุธของจีนรั่วไหลไปให้สหรัฐ แบบละเอียดยิบจนน่าตกตะลึง

สี จิ้นผิง ในฐานะผู้นำสูงสุดของกองทัพจึงจำเป็นต้องเข้าไปจัดการกับความไม่ชอบมาพากลในกองกำลังขีปนาวุธ นายพลผู้บัญชาการของกองกำลังนี้ถูกปลดไปหลายรายและอาจลุกลามไปถึงการจับกุม พล.อ.เว่ย เฟิ่งเหอ อดีต รมต.กลาโหม


เมื่อเดือนที่แล้ว “หนังสือพิมพ์เจี่ยฟ่างรื่อเป้า” สื่อของกองทัพจีน ได้ออกบทความเตือนให้ เจ้าหน้าที่เคร่งครัดในจริยธรรม และ “ระมัดระวังการคบคน”...แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อใคร แต่คนวงในก็รู้กัน

หลังจากการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 ซึ่ง สี จิ้นผิงขึ้นเป็นผู้นำจีนเมื่อ 10 ปีก่อน ได้ออกนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชั่น 3 ประการ คือ ไม่กล้าโกง, ไม่คิดจะโกง และไม่สามารถโกง (ปู้ก๋านฝู่, ปู้เสียงฝู่, ปู้เหนิงฝู่ (不敢腐 不想腐 不能腐))

ไม่กล้าโกง เพราะ มีโทษหนัก
ไม่คิดจะโกง เพราะ มีจริยธรรม
ไม่สามารถโกง เพราะ สร้างระบบตรวจสอบที่ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นได้ยาก

ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงแค่ไหนก็จะไม่ถูกยกเว้นตัวอย่างเช่น นายโจว หย่งคัง อดีตกรมการเมืองหรือโปลิตบูโร ผู้มีอำนาจสูงสุดด้านความมั่นคงและกฎหมาย ในยุคของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ก็ถูกดำเนินคดีจากข้อหาคอร์รัปชั่น ลบล้างคำกล่าวในอดีตที่ว่า “สมาชิกโปลิตบูโรไม่เคยถูกดำเนินคดี (สิงปู๋ซ่างฉางเหว่ย 刑不上常委)” (คล้าย ๆ กับวลีของคนบ้านเราที่ว่า “คนรวยไม่เคยติดคุก”)

โจว หย่งคัง (ซ้าย) และ สี จิ้นผิง (ขวา)
นอกจากนี้ยังมี รัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูงและนายพลในกองทัพจำนวนมากถูกดำเนินคดีจากกรณีคอร์รัปชั่น โดยหลายคนถูกดำเนินคดีถึงแม้ว่าจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว หรือเกษียณไปแล้วก็ตาม

ข้าราชการระดับสูงของจีนนอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายแล้ว ยังต้องถูกควบคุมโดยวินัยพรรคคอมมิวนิสต์ การกระทำบางอย่างที่ไม่ผิดกฎหมายแต่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ผิดระเบียบวินัย ก็ถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น การมีเมียน้อยหรือลูกนอกสมรส ก็ถือเป็นความผิด เพราะกฎหมายของจีนระบุให้มี “ผัวเดียวเมียเดียว”

หรือการโยกย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะได้มาเพราะคอร์รับชั่น หรือสุจริต ก็เป็นความผิดทั้งนั้น เพราะจีนมีกฎหมายควบคุมการปริวรรตเงินตรา เจ้าหน้าที่ระดับสูง ขนาดพาสปอร์ตยังต้องถูกอายัดไว้ จะเดินทางไปต่างประเทศต้องขออนุญาต

การซุกกิ๊ก ซุกลูก ซุกทรัพย์สิน อาจถือเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงในบางประเทศที่อ้างว่าไม่กระทบต่อหน้าที่การงาน แต่สำหรับประเทศจีนแล้วนี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้ เพราะถ้าหากผู้นำองค์กรประพฤติผิดระเบียบวินัยเสียเองจะควบคุมกฎระเบียบขององค์กรได้อย่างไร ?

ถ้าผู้นำองค์กรมีสิทธิพิเศษเหนือกฎหมายแล้วจะให้ประชาชนเข้าใจว่ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร จีนไม่ลังเลที่จะจัดการกับคนที่ประพฤติผิดกฎหมายละเมิดวินัยแม้ว่าเป็นโปลิตบูโร หรือรัฐมนตรี ก็จะถูกดำเนินคดีหรือตรวจสอบวินัย ถ้าทำผิดก็ต้องไปนอนคุกจริงๆ จะไม่มีข้ออ้างอื่นเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น