เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย (TPFA, Thai Pet Food Trade Association) ร่วมงานแสดงสินค้าและบริการด้านสัตว์เลี้ยงนานาชาติแห่งภูมิภาคเอเชีย (Pet Fair South East Asia 2023) จัดแบบ B to B (Business to Business) ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา พร้อมขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม “รักษ์โลก ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy” เพื่อส่งเสริมการนำหลักเศรษฐกิจ ชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว ไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงให้มากที่สุด
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยยังคงศักยภาพในการเป็นผู้นำอันดับ 3 ของโลก ในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมว รองจากประเทศเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 7-8 หมื่นล้านบาท โดยสมาคมมุ่งอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านนโยบายหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความปลอดภัยอาหาร จริยธรรมด้านแรงงาน และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” ดร.ชนินทร์เสริมว่า “ในครั้งนี้สมาคมจัดกิจกรรมเสวนาส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม หัวข้อ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไทยกับความยั่งยืนภายใต้ BCG Model สอดคล้องนโยบายระดับชาติ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal) อีกทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในกรอบการเจรจาสำคัญ เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (FTA Thai-EU) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (The Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity, IPEF) ซึ่งริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา ดังนั้น อุตสาหกรรมต้องปรับตัว และปฏิบัติตามกฎระเบียบสากล ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปกป้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในมหาสมุทร การลดขยะทะเล ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารสำคัญของโลก”
การนำหลักการ BCG ประยุกต์ใช้ในสมาคม และประเมินผลสำเร็จอย่างไร
ดร.ชนินทร์ชี้แจงว่า “ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนสูญเสียของการผลิต (Food loss food waste) จากอุตสาหกรรมทูน่า ไก่ เครื่องในวัว แกะที่มีคุณภาพ ผ่านการวิจัยพัฒนาสูตร สู่กระบวนการผลิต ตามกฎหมายกรมปศุสัตว์และมาตรฐานสากล จนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงเกรดพรีเมียมส่งออกไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในกลุ่มพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ขึ้นกับความพร้อมของบริษัท เช่น ขยายการผลิตไฟฟ้าจาก Solar roof top, การเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังความร้อนใช้ในระบบทำความเย็นและไอน้ำ การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ การเปลี่ยนเชื้อเพลิงบอยเลอร์จากถ่านหินเป็น Biomass การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycled) เป็นต้น” และกล่าวถึงการประเมินผลสำเร็จของ BCG ว่า “อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมีการใช้ประโยชน์จากการนำกลับมาใช้ใหม่ (Circular) และพัฒนาไปใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green) มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
จากแผนประเทศไทยกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas, GHG) ลดลง 40% ภายในปี 2030 โดยการสนับสนุนของนานาชาติ และตั้งเป้าหมายภายในปี 2065 บรรลุการปล่อย GHG เป็น 0% (Net Zero GHG Emission) ในเรื่องนี้ ดร.ชนินทร์กล่าวว่า “สมาคมตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำข้อมูล Carbon Footprint องค์กร เพื่อหา Baseline ของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณเท่าใด ซึ่งเป้าหมายการลดเป็นไปตามแผนของชาติ ทางสมาคมตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ข้อมูลของสมาชิกเพื่อนำมาประเมินตัวเลขในภาพรวมคาร์บอนฟุตพรินต์ของอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์การอบรมความรู้เชิงวิชาการ กฎระเบียบ แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในแผนงานสมาคมปี 2023-2024
แนวทางการคืนสู่สังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) สมาชิกสมาคมได้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชนและหน่วยงานราชการในพื้นที่ เช่น รณรงค์ทำความสะอาดขุดลอกคลอง, สร้างฝายชะลอน้ำ, ปลูกป่าชายเลน, กำจัดขยะเศษอาหาร, บริจาคถังขยะให้ชุมชน, ร่วมกับโรงเรียนเก็บขวด PET มาเข้ากระบวนการรีไซเคิล เป็นต้น โดย ดร.ชนินทร์เสริมว่า “สมาคมได้นำเจตนารมณ์ กิจกรรม และขีดความสามารถของสมาชิก สื่อสารต่อสาธารณะให้เห็นถึงพลังของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การลดและจัดการขยะทั้งบนบกและในทะเลได้อย่างมีนัยสำคัญและยั่งยืน ต้องอาศัยการเชื่อมโยงและทำงานไปในทิศทางเดียวกันของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม”
ดร.ชนินทร์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภาคเอกชนต้องลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทางภาครัฐควรสร้างมาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”