xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง “ปตท.” องค์กรแถวหน้า TCNN นำลงทุน “ลดคาร์บอน-ปลูกป่า” สุดคุ้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•ล่าสุด อบก.ประกาศผลการประเมินและจัดระดับการรับรอง “องค์กรนำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (CALO)” ประจำปี 2566 และ ปตท. ก็เป็น 1 ใน 16 องค์กร


•“ปตท.” นับเป็นแบบอย่างของการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อลดคาร์บอนระดับแถวหน้าของประเทศไทย ที่แสดงถึงเจตนารมณ์และลงมือปฏิบัติจริงจนเกิดผลลัพธ์ ตามเป้าภารกิจสู่ Net Zero Emissions ขององค์กรที่กำหนดไว้ปี 2050


•ต่อประเด็นสุดฮอต “คาร์บอนเครดิตการปลูกป่า” และ “สร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมคาร์บอนต่ำ” ถือว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้วันนี้ เครือข่าย TCNN มีกว่า 500 องค์กรเข้าร่วม

ล่าสุด มีองค์กรเข้าร่วมเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN แล้วทั้งสิ้น 509 องค์กร (อ้างอิง
https://tcnn.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=YUc5dFpRPT0 ) ตามวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งนำโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

ทั้งนี้องค์กรขนาดใหญ่ ระดับแถวหน้าของประเทศไทย อย่างเช่น กลุ่มปตท. กลุ่มซีพี และธนาคารกสิกรไทย จัดว่าเป็นกลุ่มองค์กรชั้นนำที่แสดงถึงเจตนารมณ์และการลงมือดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศไทย และประชาคมโลก คือ เป้า Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions

และยังแสดงถึงหนทางและแนวทางที่ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมให้เกิดโครงการเพิ่มพูนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมปลูกป่าธรรมชาติที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ ผ่านการจูงใจด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้กับผู้พัฒนาโครงการต่อภาครัฐ ในสัดส่วน 90 :10 ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี

ปตท.ขับเคลื่อน 3 แกนหลัก “ปรับ เปลี่ยน ปลูกป่า”

นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย กล่าวว่าภาคการเกษตรและภาคอื่นๆ ที่มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดย่อมที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีไม่สูงมากนัก การจะให้ธุรกิจกลุ่มนี้ปรับกระบวนการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจทำได้ยาก ดังนั้น ในฐานะที่ ปตท. เป็นองค์กรใหญ่ จึงต้องทำให้มาก และทำให้เร็วกว่า เพื่อให้มีส่วนช่วยสนับสนุนและชดเชยภาคส่วนอื่นๆ โดย ปตท. ตั้งเป้าว่าจะช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเดียวกันกับแนวทางของประเทศที่ตั้งเป้า Net Zero Emissions (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ไว้ที่ปี 2065 ซึ่ง ปตท. ได้ตั้งเป้าภารกิจสู่ Net Zero Emissions ขององค์กรไว้ที่ปี 2050 ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยผลักดันและสนับสนุนภาคส่วนอื่นเข้ามาสู่แนวทางนี้มากขึ้น

“ก่อนจะไปถึงปี 2050 ที่ ปตท. ตั้งเป้าหมายไว้นั้น ต้องเข้าใจถึงคำว่า Net Zero Emissions อย่างถ่องแท้ก่อนว่า สุดท้ายแล้ว
ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจะมีค่าเท่ากับศูนย์ได้อย่างไร เพราะในการใช้ชีวิตของมนุษย์นั้นไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 100% เพียงแต่หากปล่อยออกไปเท่าไหร่ ต้องดูดกลับมากักเก็บ หรือนำกลับมาใช้ให้ได้เท่ากับที่ปล่อยไป ก็จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเท่ากับศูนย์ได้”


เขาอธิบาย ภารกิจสู่ Net Zero Emissions ในปี 2050 ว่าปตท. ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยขับเคลื่อนผ่าน 3 แกนหลัก คือ

1. เร่งปรับ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการทำงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
โดยเพิ่มขั้นตอนการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซธรรมชาติก่อนส่งก๊าซธรรมชาติต่อไปให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ทำให้ในขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์เล็ดลอดสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกออกมาก็จะถูก
นำกลับมาใช้ประโยชน์ หรือนำไปกักเก็บไว้แทน นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนเพิ่มเติมในโรงกลั่น ทั้งการติดตั้งเครื่องตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์ การเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้งานมานาน รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้โรงกลั่นแห่งใหม่ เพื่อลดการใช้พลังงานให้น้อยที่สุด

2. เร่งเปลี่ยน โดยเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ มุ่งสู่พลังงานแห่งอนาคต ซึ่ง ปตท. ได้ตั้งธุรกิจใหม่แยกออกจากธุรกิจเดิม เรียกว่า “Future Energy and Beyond” เพื่อสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจยาและสุขภาพ ธุรกิจใหม่ในส่วนนี้จะเข้ามาทดแทนธุรกิจเดิมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีแนวโน้มจะทยอยลดสัดส่วนลง

และ 3. เร่งปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวดูดซับคาร์บอน โดย ปตท. และกลุ่ม ปตท. มีเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 จะเพิ่มการปลูกป่าบกและป่าชายเลนให้เป็น 2 ล้านไร่ เพื่อให้มีส่วนช่วยในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังดูแลพื้นที่สีเขียวเดิมที่ ปตท. ได้ดำเนินการปลูกป่ามาตั้งแต่ปี 1994 อีกกว่า 1 ล้านไร่ควบคู่ไปด้วย โดยพื้นที่สีเขียวเดิมที่ ปตท. ดูแลอยู่นี้สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2 ล้านตันต่อปี

“ด้วยหลักและแนวคิดของ ปตท. ที่พยายามสร้าง Net Zero Emissions ตั้งแต่ต้นทางอยู่แล้ว แต่การที่เราเน้นสร้างพื้นที่สีเขียวควบคู่นั้นก็จะเป็นผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอื่น ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้พื้นที่รอบข้างได้อีกต่อหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนประเทศไทยในภาคส่วนอื่นๆ ให้มีความยั่งยืนร่วมกันต่อไปในอนาคต”

นายวรพงษ์ อธิบายว่า อีกส่วนที่จะถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกัน คือการนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บออกมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงนำไปใช้กับโครงการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือปัญหาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศด้วยส่วนวิธีลดคาร์บอน หรือ Decarbonization Pathway นั้น ปตท. และกลุ่ม ปตท. ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลุ่ม ปตท. PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ และผลักดัน




หนุนทุกองค์กรร่วม TCNN เพื่อภารกิจ Net Zero Emissions

ปตท. เป็น 1 ใน 5 องค์กรผู้พัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ของเครือข่าย TCNN และล่าสุด อบก.ประกาศผลการประเมินและจัดระดับการรับรอง “องค์กรนำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (CALO)” ประจำปี 2566 โดยที่ ปตท. เป็น 1 ใน 16 องค์กร

นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย บอกว่า การรับมือวิกฤต Climate Change ในภาพใหญ่นั้น ปัจจุบันหลายหน่วยงานในประเทศไทย มีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือวิกฤต Climate Change ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีการรวมตัวเป็นสมาคมเพื่อจัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน รวมถึงถ่ายทอดต่อประชาชน เช่น สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ Net Zero Emissions ของประเทศไทย

เขากล่าวว่า เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN) ที่ ปตท. เข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 500 องค์กร ทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ SME มหาวิทยาลัยชั้นนำ เข้ามารวมตัวกันเพื่อเป็นเครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ซึ่งการรวมตัวกันเหล่านี้ช่วยสร้างความตระหนักและสร้างความเข้าใจต่อสังคมถึงบทบาทที่แต่ละหน่วยงานเร่งดำเนินการอยู่

“ในส่วนกลุ่มปตท. เองก็จะกระจายองค์ความรู้ต่างๆ ไปสู่ภาคประชาชนภาคธุรกิจ สังคม ชุมชนต่างๆ ให้ตระหนักถึงปัญหานี้ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการแบ่งหน้าที่กันทำตามความเหมาะสม เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันก็จะทำให้ภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”




กำลังโหลดความคิดเห็น