วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนชื่อดังและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เขียนบทความ "23 ตุลารำลึก ลุกขึ้นมาจับดาบต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชของตน" เนื่องในวันปิยมหาราช ชี้หากไม่มีทหาร ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ป่านนี้คนไทยคงพูดภาษาชาติอื่นกัน
วันนี้ (23 ต.ค.) วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเนื่องในวันปิยมหาราช เผยหากในอดีตไม่มีทหาร ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันคนไทยคงพูดภาษาอื่นไปแล้ว ทั้งนี้ อดีตนักเขียนรางวัลซีไรต์ได้ระบุข้อความว่า
“รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือห้วงยามที่ฝรั่งเศสกับอังกฤษรุกรานไทย หาเรื่องยึดครองประเทศตลอดเวลา
การล่าอาณานิคมของชาวยุโรปในภูมิภาคนี้ ทำให้รัชกาลที่ ๕ ทรงตระหนักความสำคัญของการคมนาคม เวลานั้นการเดินทางข้ามจังหวัดใช้เกวียนและเรือเป็นหลัก ในภาวะฉุกเฉินย่อมใช้รับมือศัตรูไม่ทันการณ์
ไทยต้องปรับตัวเรื่องการเดินทาง รถไฟอาจเป็นคำตอบ
ทรงเห็นควรที่จะสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศ เพื่อจะติดต่อกับมณฑลชายแดนง่ายขึ้น ปกครองสะดวกขึ้น และยังสามารถดูแลสอดส่องผู้รุกรานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การค้าขาย
รถไฟสายแรกเป็นของเอกชน กรุงเทพฯไปสมุทรปราการ (ทางรถไฟสายปากน้ำ) ระหว่างสถานีรถไฟหัวลำโพงกับสถานีรถไฟปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 21.3 กิโลเมตร โดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ แม่ทัพเรือคนหนึ่งของกองทัพเรือสยามชาวเดนมาร์ก (ชื่อเดิม อองเดร รีเชอลีเยอ Andreas Richelieu)
ทางรถไฟสายนี้มีวิศวกรเดินรถชื่อ ร้อยเอก ที.เอ.ก็อตเช (T.A. Gottsche) ทหารชาวเดนมาร์ก ได้รับการชักชวนจากพระยาชลยุทธโยธิน มาช่วยกิจการทหารเรือในสมัยรัชกาลที่ ๕
ก็อตเชเป็นผู้บังคับการป้อมผีเสื้อสมุทรในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ต่อมาได้รับราชทินนามเป็น ขุนบริพัตรโภคกิจ ต้นสกุล คเชศะนันทน์ (เสียงพ้องกับ Gottsche) เป็นฝรั่งที่อยู่เมืองไทยนานจนกลายเป็นคนไทยไปแล้ว ตั้งรกรากในเมืองไทย
สามเดือนหลังจากเปิดรถไฟสายปากน้ำ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) กองเรือรบฝรั่งเศสแล่นถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ทหารไทยสู้ ฝรั่งเศสจมเรือปืนฝ่ายสยามได้หนึ่งลำ แต่เรือฌอง บัปติสต์ เซย์ ถูกปืนใหญ่สยามยิงเกยตื้นที่แหลมลำพูราย ทหารไทยเสียชีวิตแปดนาย บาดเจ็บสี่สิบนาย ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตสามนาย บาดเจ็บสามนาย
เรือแองกองสตองต์และโกแมตแล่นฝ่าปราการต่างๆ เข้ามาได้ ทั้งสองลำแล่นฝ่ากระสุนไปจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง จ่อปืนใหญ่ไปที่พระบรมมหาราชวัง แล้วยื่นคำขาดหกข้อต่อรัฐบาลสยาม ให้ตอบภายใน 48 ชั่วโมง
หนึ่งในหกข้อคือสยามต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อฝรั่งเศสเป็นเงินสองล้านฟรังก์
สยามจ่ายเงินให้ฝรั่งเศสก้อนหนึ่งชำระด้วยเหรียญนกจากท้องพระคลังจำนวน 801,282 เหรียญ หนักถึง 23 ตัน
เหรียญนกก็คือเงินถุงแดงที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสะสมไว้ซื้อเอกราชให้ประเทศ
เจ้าหน้าที่ขนเหรียญนกออกจากวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือที่ท่าราชวรดิฐตลอดวันตลอดคืน
บันทึกฝรั่งเศสเขียนว่า “ด้วยนายทหารฝรั่งเศสเพียง 50 นาย ทหารญวน 150 นาย และผู้เชี่ยวชาญทางปืนใหญ่อีก 4-5 นาย ก็สามารถยึดสยามทั้งประเทศไว้ได้สำเร็จ”
แต่ฝรั่งเศสไม่พอใจแค่นั้น ขอเพิ่มเติมเงื่อนไขคือ ขอยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายครบ
ฝ่ายไทยก็ต้องยอมรับอีก
สยามสูญเสียดินแดนครั้งใหญ่ รวมเนื้อที่ประมาณ 143,800 ตารางกิโลเมตร
การเสียดินแดนสยามจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้นทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง จนทรงพระประชวร
นายช่างเยอรมัน ลูอิส ไวเลอร์ ที่มาทำงานรถไฟในไทยบันทึกไว้ในอนุทินของเขาว่า เวลานั้นคนไทยเกลียดชาวฝรั่งเศส เพราะคิดกลืนกินดินแดนไทย หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสในตังเกี๋ยเขียนใส่ร้ายคนไทย รวมถึงพฤติกรรมของพวกทูตฝรั่งเศสในสยาม ทำให้ไม่เพียงคนไทยไม่ชอบคนฝรั่งเศส พวกยุโรปชาติอื่นๆ ก็ไม่ชอบเช่นกัน
บันทึกของ ลูอิส ไวเลอร์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2451 เขียนว่า “ชาวสยามเป็นชนชาติที่รักสงบมากที่สุดในโลกอย่างไม่น่าสงสัย แต่ทว่าผมจะไม่ประหลาดใจเลยหากชาวสยามจะลุกขึ้นมาจับดาบต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชของตน ภายหลังจากที่ประเทศสยามค่อยๆ ถูกตัดแบ่งออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่สิบห้าปีมาแล้ว” (จากหนังสือ กำเนิดการรถไฟในประเทศไทย ลูอิส ไวเลอร์ เขียน แปลโดย ถนอมนวล โอเจริญ และ วิลิตา ศรีอุฬารพงศ์)
วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้รัชกาลที่ ๕ ทรงตระหนักว่า ไม่มีผู้ใดช่วยเราได้ มีแต่มหาอำนาจหลายชาติต้องการกินเรา เราต้องมีแผนการที่ดีเพื่อรักษาเอกราชของชาติ
ทางหนึ่งคือการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เป้าหมายเพื่อหาพันธมิตรมาคานอำนาจศัตรู ก็คือซาร์ นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย
อีกทางหนึ่งคือปรับปรุงทางรถไฟของสยามให้ดีขึ้น พร้อมรับมือกับข้าศึกได้ทุกเมื่อ
เหตุการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้รัชกาลที่ ๕ ทรงเปลี่ยนแผน เลือกสร้างสายอีสานก่อน เพราะเรื่องยุทธศาสตร์ เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปแม่น้ำโขงจำต้องผ่านโคราช
ฝ่ายไทยโชคดีมากที่ได้ คาร์ล เบธเกอ และนายช่างเยอรมันหลายคนมาทำงานนี้ รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินไปดูการสร้างรถไฟเสมอ
รถไฟสายอีสานแล้วเสร็จในปี 2443 รวมระยะทางทั้งสาย 265 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายอื่นๆ ต่อไป เช่น ทางรถไฟสายเหนือจากชุมทางบ้านภาชีถึงเชียงใหม่ ระยะทาง 661 กม. เสร็จในรัชกาลต่อมา
ทรงมีวิสัยทัศน์ไกล จะต่อสู้กับอำนาจมารนอกประเทศ ต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ทั้งทางทหาร การเมืองระหว่างประเทศ การคมนาคม ไปจนถึงการปฏิรูประบบต่างๆ
ทหารมีไว้ทำไม กษัตริย์มีไว้ทำไม หากไม่มี ป่านนี้คนไทยคงพูดภาษาฝรั่งเศสกัน”