xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกอินเดียยืนข้างอิสราเอลทำสงครามปราบฮามาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะลึกสาเหตุอินเดียออกตัวแรงหนุนอิสราเอลปราบฮามาส ทั้งที่เคยเป็นประเทศแรกๆ ที่สนับสนุนจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ แต่เปลี่ยนจุดยืนเพราะต้องพึ่งพาการนำเข้าอาวุธและเทคโนโลยีทางทหารจากรัฐยิว เพื่อสู้กับจีนและปากีสถานี และอินเดียยังได้ใช้ “เวสต์แบงก์โมเดล” เข้ายึดครองแคว้นชัมมูแคชเมียร์ ทั้งยังต้องการความร่วมมือจากอิสราเอลในโครงการระเบียงเศรษฐกิจ IMEC ซึ่งอินเดียจะสร้างขึ้นมาแข่งกับ BRI ของจีน



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงเบื้องหลังกรณีอินเดียแสดงท่าทีสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส โดยหลังจากที่กองกำลังติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ ฮามาส บุกเข้าโจมตีอิสราเอล เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 ไม่กี่ชั่วโมง นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ใช้โซเชียลมีเดียสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน โดยบอกว่า เรายืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับอิสราเอลในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และยังพูดอีกว่า ตกใจอย่างยิ่งกับข่าวการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในอิสราเอล ขอส่งกำลังใจและคำอธิษฐานไปยังเหยื่อผู้บริสุทธิ์ และครอบครัวของพวกเขา


หลังจากนั้น วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 นายโมดี ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากนายเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ท่ามกลางสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่กำลังดำเนินอยู่อย่างดุเดือด หลังจากนั้นแล้ว นายโมดี ก็ทวีตข้อความประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ประชาชนชาวอินเดียจะยืนหยัดร่วมกับอิสราเอลในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และอินเดียขอประณามการก่อการร้ายอย่างรุนแรงและชัดเจนในทุกรูปแบบและการแสดงออก แต่นายโมดี ไม่ได้ให้ความเห็นถึงการเสียชีวิตของชาวปาเลสไตน์นับพันจากเหตุการณ์ที่อิสราเอลดำเนินการตอบโต้กลับด้วยการยิงขีปนาวุธใส่ฉนวนกาซา ทำให้มีคนเสียชีวิตไปหลายพันคน
ส่วนนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นลูกไล่หรือคนรับใช้นายโมดี ได้รีโพสต์ทั้งสองข้อความของนายโมดี ซ้ำ

ทั้งหมดนี้เป็นการบ่งชี้จุดยืนของอินเดียในประเด็นนี้ แม้ว่าโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินเดียจะแถลงแก้เกี้ยวว่าอินเดียสนับสนุนให้รัฐปาเลสไตน์เป็นอิสระก็ตาม


การทวีตของนายโมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ดังกล่าว ชี้ถึงจุดยืนของอินเดีย ณ วันนี้ ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนเดิมทางประวัติศาสตร์ที่เคยสนับสนุนปาเลสไตน์ในสงครามความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ จุดยืนนี้ต่างจากแถลงการณ์เดิมที่เคยตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเอเชียตะวันออกกลางในอดีต

นโยบายของอินเดียเกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์ และอิสราเอล มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้ว่าอินเดียจะยอมรับความเป็นรัฐของอิสราเอลในปี 2493 แต่อินเดีย และอิสราเอล ไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันอย่างเป็นทางการ จนถึงต้นทศวรรษที่ 1990

ในปี 2531 อินเดียก็เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่รับรองรัฐปาเลสไตน์ อินเดียมักอ้างเหตุผลถึงความมุ่งมั่นต่อสู้ดิ้นรนของปาเลสไตน์ผู้ถูกกดขี่ เนื่องจากโดยลึกๆ แล้ว รากฐานของนโยบายนี้อินเดียไม่ต้องการสร้างศัตรูกับโลกอาหรับ เพราะต้องพึ่งพาแหล่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง นอกจากนี้แล้ว ยังต้องการแรงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศมุสลิมในปมปัญหาเรื่องเกี่ยวกับแคชเมียร์ด้วยในขณะนั้น


แต่หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น ด้วยภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป ท่ามกลางปัญหาการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นในประเทศอินเดีย และอินเดียสนใจในเทคโนโลยีป้องกันประเทศของอิสราเอล ก็เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่อินเดียเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลในปี 2535 หรือประมาณ 31 ปีที่แล้ว

นับตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา กว่าสามสิบปี ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย และ อิสราเอล ก็เติบโตขึ้น ทั้งสองประเทศร่วมมือด้านความมั่นคงแห่งชาติ การต่อต้านการก่อการร้าย

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อิสราเอลเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านอาวุธและการทหารให้แก่อินเดียมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างจีน และปากีสถาน


ปี 2542 อิสราเอลให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านยุทโธปกรณ์แก่กองทัพอากาศอินเดีย ในการทำสงครามโจมตีปากีสถาน ทำให้อิสราเอลกลายเป็นพันธมิตรทางทหารที่อินเดียผูกพันอย่างใกล้ชิด หลังจากการสิ้นสุดสงครามเย็น อินเดียซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์เบอร์ต้นๆ ของโลก พยายามกระจายแหล่งซัปพลายเออร์จัดหาอาวุธของตน รัสเซียยังคงเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุด รองลงมา แน่นอนที่สุด กลายเป็นอิสราเอลไปแล้ว ส่วนอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ยังคงเป็นซัปพลายเออร์อาวุธเจ้าใหญ่ของอินเดีย แต่ไม่แนบแน่นเท่ารัสเซีย และอิสราเอล

สำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้ที่อินเดียนำเข้ามาในอิสราเอล ยกตัวอย่างเช่น เรือตรวจการณ์ อุปกรณ์ซอฟต์แวร์ในการสอดแนมและเฝ้าระวัง โดรน ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีนเรทรา โมดี ผู้นำพรรคภารตียชนตา เข้ารับตำแหน่งปี 2557 ปรากฏว่าอิสราเอลได้ส่งอาวุธสงครามไปยังอินเดียประมาณ 42.1 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกอาวุธทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม ยังชี้ด้วยว่า ยุคนายโมดี ตั้งแต่ 2558-2562 อินเดียซื้ออาวุธจากอิสราเอลเพิ่มขึ้น 175 เปอร์เซ็นต์ โดยอินเดียจัดงบความมั่นคงซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารอิสราเอลมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์ต่อปี ทำให้อินเดียกลายเป็นลูกค้าด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารรายใหญ่ที่สุดของอิสราเอล


ทั้งอินเดียและอิสราเอลมีการเจรจาระดับคณะทำงานร่วมอินเดีย-อิสราเอลว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหมเพื่อป้องกันและการต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งสองอ้างป้องกันปราบปรามลัทธิการก่อการร้ายอิสลามเพื่อเดินหน้านโยบายความมั่นคงและความจำเป็นในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอิสราเอล และแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองนับตั้งแต่ปี 2560 โดยในช่วงห้าปีที่ผ่านมาทั้งสองประเทศได้ดำเนินการซ้อมรบทางการทหารร่วมกัน ผลัดกันเป็นเจ้าภาพฝึกอบรมกองกำลังตำรวจและกองทัพทหาร ตลอดจนแลกเปลี่ยนการเยือนผู้นำรัฐบาลและทหารซึ่งกันและกัน

อินเดียใช้ “เวสต์แบงก์โมเดล” ยึด “แคชเมียร์”


อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างอิสราเอล กับ อินเดีย มีความลึกซึ้งมากกว่ายุทโธปกรณ์ทางทหาร เพราะว่าในปี 2562 หลังจากที่อินเดียใช้กองกำลังทหารอินเดียยึดครองแคว้นแคชเมียร์ และยกเลิกสถานะพิเศษและสิทธิของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ โดยใช้กฎหมายมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญ และใช้กองกำลังทหารปราบปรามชาวแคชเมียร์ที่ประท้วง


ปรากฏว่านักการทูตอาวุโสอินเดียในสหรัฐฯ แนะนำให้รัฐบาลอินเดียใช้แบบแผนยึดดินแดนของอิสราเอลที่ย้ายถิ่นฐานของชาวอิสราเอลมาตั้งในเขตเวสต์แบงก์ และเยรูซาเล็มตะวันออก หรือพูดง่ายๆ คือยกเอาโมเดลปาเลสไตน์ของอิสราเอล เอามาใช้กับแคชเมียร์ของตัวเอง โดยส่งเสริมให้ชาวฮินดูเข้ามายึดแคชเมียร์แทนที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวมุสลิมที่ถูกรัฐบาลอินเดียคุกคามและหมายหัวเป็นผู้ก่อการร้าย ทำให้ทุกวันนี้แคชเมียร์เป็นหนึ่งในเขตที่มีทหารหนาแน่นที่สุดในโลก

ทหารอินเดีย 5 แสนคน ถูกนำไปต่อต้านผู้ก่อการร้ายเพียงน้อยนิดในแคชเมียร์

ปี 2563 อินเดียและอิสราเอลยังได้ร่วมลงนามข้อตกลงเพื่อขยายความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อใช้งานสอดแนมผู้ก่อการร้ายของกองทัพและหน่วยข่าวกรองของประเทศ อันเป็นข้อตกลงความร่วมมือภายหลังจากที่นายกฯ โมดี ไปเยือนอิสราเอลเมื่อปี 2560 เดือนกรกฎาคม

ต่อมาได้ปรากฏรายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์เมื่อเดือนมกราคม 2565 กล่าวว่า ในข้อตกลงกับอินเดียเมื่อปี 2560 นั้น อินเดียซื้อสปายแวร์ Pegasus ที่ผลิตโดย NSO บริษัทเทคโนโลยีสอดแนมของอิสราเอล ที่ใช้ในการแฮกบัญชีส่วนตัว ล้วงข้อมูลลับ ดักฟังนักการเมือง นักเคลื่อนไหว สื่อ และผู้นำฝ่ายค้านชาวอินเดีย กว่า 300 คน


ในขณะที่อินเดียได้ร่วมมือกับอิสราเอล เทคโนโลยีสอดแนมการก่อการร้ายในอิสราเอล มีบทบาทสำคัญในการติดตามชายแดนของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคชเมียร์ ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอิสราเอลกระชับแน่นขึ้น และอินเดียลดการสนับสนุนปาเลสไตน์ลง จากที่เคยประณามการยึดครองของอิสราเอลที่สนับสนุนมติของสหประชาชาติว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวาง เป็นระบบที่ร้ายแรง

การเปลี่ยนแปลงเงียบๆ ภายใต้รัฐบาลปี 2547-2557 นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เป็นครั้งแรกที่อินเดียไม่ได้ลงคะแนนต่อต้านอิสราเอลในองค์กรโลก

ต่อมาในปี 2558 อินเดียก็งดออกเสียงในการลงคะแนนเสียงที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต่อรายงานที่วิพากษ์วิจารณ์ฉนวนกาซาในอิสราเอล แล้วมาเปลี่ยนจุดยืนชัดเจนในยุครัฐบาลของนายนเรนทรา โมดี เข้ามามีอำนาจตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-อิสราเอลทวิภาคียิ่งวันยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น

แท้ที่จริงแล้ว นายกฯ โมดี ชื่นชมกลยุทธ์การต่อต้านการก่อการร้ายของอิสราเอล จำได้ว่า 2559 เมื่ออินเดียดำเนินการโจมตี ฆ่าผู้ก่อการร้ายแคชเมียร์ทางฝั่งปากีสถาน นายโมดี ได้เปรียบเทียบการกระทำของอินเดีย กับการกระทำที่อิสราเอลทำในเขตดินแดนฉนวนกาซาที่ถูดยึดครอง ก็เลยไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเมื่อนายโมดี ทวีตแสดงการสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ ทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบในบรรดาหมู่กลุ่มคนหัวรุนแรงในอิสราเอลและมหาอำนาจตะวันตก แทนที่จะวางตนให้ถูกทาง เรียกร้องให้อิสราเอลยุติการยึดครองรัฐปาเลสไตน์


เช่นเดียวกับที่เคยรักษาความเป็นกลางในนโยบายต่างประเทศกรณีสงครามยูเครน โดยไม่ประณามรัสเซีย เพราะอะไร ? ไม่ใช่เพราะมีจุดยืนหรอก แต่เพราะอินเดียต้องการซื้อน้ำมันรัสเซียราคาถูก และยังต้องการซื้ออาวุธสงครามของรัสเซีย นี่พิสูจน์ชัดเจนว่าความเป็นกลางของอินเดียในยุคนายโมดีนั้น เป็นเรื่องสับปลับ โกหก

ยิ่งกว่านั้น นายโมดี ยังหวังจะสนับสนุนคะแนนเสียงการเลือกตั้งปีหน้า เพื่อให้ตัวเองสามารถรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้ต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เขาต้องสร้างผลงานและผลประโยชน์สูงสุดในอินเดีย

ในปีนี้อินเดียเป็นประธานกลุ่มการประชุม G20 การประชุมสุดยอดที่ผู้นำ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และปูติน ไม่เข้าร่วมการประชุม มีแต่อเมริกาและตะวันตกที่ต่างพากันเอาใจอินเดียเพื่อใช้คานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้ ซึ่งในเบื้องลึกแล้ว ทั้งปูติน และสี จิ้นผิง รู้ว่าอินเดียเป็นคนที่คบไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว และเราก็ต้องจับตาดูการประชุมของ BRICS ในปีต่อๆ ไปว่าอินเดียจะแสดงบทบาทยืนข้างตะวันตกอย่างไร


ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่แล้ว ยกเว้นอินเดีย จะไม่เอาทางตะวันตก และรวมไปจนถึงจะไม่เห็นใจอิสราเอลในเรื่องของตะวันออกกลาง จะยืนข้างปาเลสไตน์

อินเดียพยายามที่จะทำตัวเป็นคู่แข่งกับจีน ในการประชุม G20 นั้น ประกาศว่า อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศพันธมิตรอื่นๆ จะสร้างทางรถไฟและทางเดินขนส่งสินค้าที่จะมีการเชื่อมอินเดียกับตะวันออกกลาง และยุโรป เป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร เรียกได้ว่าเป็นโครงการระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป ที่จะสู้กับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่ทำล่วงหน้ามาสิบปีแล้ว ซึ่งจีนได้ลงทุนอย่างมหาศาลในโครงการถนน ทางรถไฟ ท่าเรือทั่วโลก เพื่อควบคุมการค้าที่ไหลผ่านแอฟริกา ตะวันอกกลาง เอเชียกลาง และยุโรป ได้มากขึ้น


จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจที่นายเบนจามิน เนทันยาฮู ยกย่องโครงการ IMEC คือเส้นทางรถไฟที่เชื่อมอินเดีย เข้าสู่ตะวันออกกลาง และไปยุโรปนั้น ว่าเป็นโครงการความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา โดยวาดหวังว่าเมืองไฮฟาในอิสราเอลจะเป็นศูนย์กลางเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานนี้ สะท้อนความคิดของผู้นำอิสราเอลว่าชาวยิวจะต้องเป็นศูนย์กลางของโลก โดยนายเนทันยาฮู พูดว่า ประเทศของเรา (อิสราเอล) จะเป็นทางแยกกลางในระเบียงเศรษฐกิจนี้ ทางรถไฟและท่าเรือเราจะเปิดประตูใหม่จากอินเดีย ผ่านตะวันออกกลาง ไปยังยุโรป และกลับ

การเชื่อมต่อใหม่รถไฟบนคาบสมุทรอาหรับถือว่าเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เชิงกลยุทธ์ของผลลัพธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์อันมหาศาลที่อาจจะปรับเปลี่ยนบทบาทอินเดียในระเบียงเศรษฐกิจของเอเชีย เพราะการค้าและขนส่งสินค้าผ่านการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อ 3 ภูมิภาค ระหว่างอินเดีย ประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง และยุโรป ผ่าน Eastern Corridor เส้นทางเดินเรือข้ามอ่าวอาระเบีย จากอินเดีย UAE ดูไบ และเส้นทางของ UAE-ซาอุฯ-จอร์แดน-อิสราเอล (ไฮฟา) และผ่าน Northern Corridor เส้นทางเดินเรือจากเมืองท่าไฮฟาของอิสราเอล ไปยังเมืองท่าสำคัญทางยุโรปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการขนส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านสายเคเบิล ขนส่งไฮโดรเจนผ่านท่อแก๊ส เพื่อเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและความมั่นคง

นั่นคือความฝันของอินเดียและอิสราเอล แต่การสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสในครั้งนี้เป็นจุดจบของความทะเยอทะยานและความฝันของผู้นำอินเดียที่กล่าวว่า IMEC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานการค้าโลกอีกหลายร้อยปีข้างหน้า เพราะตะวันออกกลางตกอยู่ในภาวะสงครามที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของโครงการรถไฟเชื่อมต่อในคาบสมุทรอาหรับ และมีความเสี่ยงที่จะล้มโครงการนี้มาก เมื่อซาอุดีอาระเบียยุติการเจรจาเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสราเอล โดยมีสหรัฐอเมริกาพยายามทำตัวเป็นตัวกลาง


การสร้างระเบียงเศรษฐกิจ IMEC ระหว่างอินเดีย เอเชียตะวันออกกลาง และยุโรป ต้องอาศัยการเชื่อมต่อที่ราบรื่น แต่สงครามฉนวนกาซาที่เกิดขึ้นบนคาบสมุทรอาหรับเกิดขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องท้าทายผู้นำอินเดีย นเรนทรา โมดี ที่ปากไว ประณามการโจมตีอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ว่าเป็นการก่อการร้าย อาจจะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในประเทศอาหรับในภูมิภาคนี้จนเสียหายต่อผลประโยชน์ของอินเดีย

นี่คือสิ่งที่น่าเศร้า อินเดียเคยเป็นประเทศที่มีหลักการ แต่อินเดียมีปัญหาภายใน คือปัญหาแคชเมียร์ ที่อินเดียไม่สามารถจะแก้ไขได้ด้วยวิธีสันติ แต่อินเดียใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับอินเดียในแคว้นแคชเมียร์ เลยทำให้อินเดียจำเป็นต้องหันไปพึ่งอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนยุทโธปกรณ์และอาวุธต่างๆ ในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย มิหนำซ้ำแล้ว นายโมดี ยังไปใช้โมเดลของปาเลสไตน์และเวสต์แบงก์ ที่อิสราเอลสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวอิสราเอลบุกเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นของชาวปาเลสไตน์ ไปตั้งรกรากที่นั่น อินเดียก็ใช้นโยบายเดียวกัน


ความทะเยอทะยานของนายโมดีนอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว ก็ยังเป็นเรื่องที่พยายามทำตัวให้แข่งขันกับจีน โดยใช้นโยบาย Made in India ขึ้นมา เพื่อแข่งกับ Made in China นายโมดี ไม่เคยรับทราบถึงศักยภาพของคนของตัวเองเลยแม้แต่นิดเดียว ยกตัวอย่าง ไอโฟน 15 ครั้งนี้ Apple จ้างจีน โดยผ่านบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ ในประเทศจีน และ Apple ให้ฟ็อกซ์คอนน์ไปตั้งโรงงานที่อินเดีย ปรากฏว่าไอโฟนที่ผลิตจากอินเดีย คุณภาพต่ำมาก แต่ของจีนนั้นไม่มีปัญหาเลย แล้วบริษัทหลายบริษัทที่เข้าไปลงทุนในอินเดียนั้น พากันถอนตัวออกจากอินเดียกันเป็นแถว อินเดียไม่พูดสักคำ

“เพราะฉะนั้นอินเดียในขณะนี้ไม่ใช่อินเดียในอดีตที่ผมเคยชื่นชอบอีกต่อไป แต่เป็นอินเดียที่ปลิ้นปล้อน …แต่อินเดียคืออินเดีย สามารถกะล่อนเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ครับ”
นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น