“ครูฝาย” แจงโพสต์เรื่องปัญหาเด็กมองเห็นคุณค่าตัวเองต่ำ (low self-esteem) ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน แต่เป็นการเล่าประสบการณ์ที่เจอ ขออย่าเข้าใจผิด เสียใจต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัว วอนอย่าโยนผิดให้ “วิชาการ” ทำเด็กเครียด อยากให้ย้อนมองวิธีเลี้ยงลูกมากกว่า
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “ครูฝาย สอนลูกปลูกทักษะชีวิต” ได้โพสต์ข้อความพร้อมวิดีโอคลิปชี้แจง กรณีก่อนหน้านี้ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 4 ต.ค.เกี่ยวกับประสบการณ์การสอนเด็กคนหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กในเหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอน โดยมีรายละเอียดดังนี้
“เนื่องจากการโพสต์ถึงข่าว #พารากอน ของครูฝายอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิด และมีช่องหนึ่งเอาโพสต์นั้นไปออกข่าวยิ่งอาจทำให้มีคนเข้าใจผิดในวงกว้างไปอีก
มีคนส่งคลิปมาให้ดูทั้งวัน รวมถึงมีคนเอาข้อความไปดัดแปลงเพื่อให้สังคมเข้าใจผิด (ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่ช่วยกันส่งมาให้ดูนะคะ รัก❤️)
ถ้าถามความรู้สึกจริงๆ มันก็หน่วงๆ อยู่นะคะ ทั้งวันเลย เล่นเอาปวดหัวไปเลย มันรู้สึกแย่ที่คนอื่นถูกเข้าใจผิดเพราะเราเป็นต้นเหตุ แต่ก็รู้สึกดีที่สังคมตระหนักเรื่องการเลี้ยงลูกมากขึ้น หลายคนเปรียบเทียบกับพ่อเป็นหนึ่ง ในมาตาลดา
ครูฝายก็บอกไม่ถูกว่าต้องรู้สึกยังไง แต่ไปในทางรู้สึกแย่มากกว่า แล้วพอเห็นข่าวที่มีคนส่งมาให้ยิ่งรู้สึกว่ามันไปกันใหญ่มาก
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วขอใช้ประโยชน์ตรงนี้ออกมาพูดเรื่อง self-esteem ไปเลยแล้วกัน ซึ่งจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้ครูฝายเพิ่งรู้ว่ายังมีคนอีกหลายคนที่ไม่รู้จักคำนี้ เพราะเรื่องนี้เราคุยกันในเพจนี้บ่อยมาก คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เคยมีใครถาม เลยคิดว่าเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้อยู่แล้ว
ในคลิปครูฝายเล่าเรื่องราวจริงๆ จากประสบการณ์ที่เจอ (เล่าแบบเร็วๆ) และฝาก 3 ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ในท้ายคลิป..หวังว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าแค่พูดเรื่องเดิมๆ นะคะ
ปล. ขออภัยในการตัดต่อที่ไม่ค่อยเนียนเท่าไรนะคะ 😅
ปล. อีกที ฝากแชร์คลิปนี้ให้คนที่เข้าใจผิด และให้คนที่คิดว่าพวกเขาน่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านี้ให้หน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ🙏
#กราดยิง #พารากอน
สำหรับข้อความที่โพสต์เมื่อวันที่ 4 ต.ค.มีรายละเอียดดังนี้
"เด็กคนหนึ่งที่ครูฝายเคยสอน มีคุณพ่อเป็น ผศ.อยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
(บทความนี้ยาว แต่รับรองว่าควรค่าแก่การอ่านให้จบค่ะ)
น้องมักมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจอยู่เสมอ มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ครูฝายสอนอยู่ น้องลงไปนอนราบกับพื้น เตือนครั้งหนึ่งก็ลุกขึ้นมา จนถึงคำถามที่ครูฝายถามเด็กๆ ทุกคนในกลุ่มนั้นด้วยความภูมิใจที่เด็กๆ ทำผลงานสำเร็จว่า "โอ้โห หนูทำได้ยังไง เล่าให้ครูฟังหน่อยสิคะ" เด็กคนนั้นตอบว่า
ก็ ค ว ย ง่ะ
ครูฝายหันหน้าไปมอง แล้วถามต่อว่า หมายความว่ายังไงคะ
น้องบอกว่า ก็ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ไง
ฝายเลยมองหน้า เพื่อให้เขารู้ว่าเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรทำอีก ยังไม่ทันจะเอ่ยปากสอนอะไร
เด็กคนนั้นลงไปนอนดิ้นกับพื้น โวยวาย อาละวาดและร้องไห้ ครูฝายงงมาก จนต้องให้ครูผู้ช่วยพาออกไปสงบสติข้างนอก
ครูผู้ช่วยเอาคลิปมาให้ครูฝายดูหลังเลิกคลาส พบว่า เด็กคนนั้นร้องไปพูดไป ประโยคที่เขาบอกคือ
"ครูฝายเห็นผมเป็นกิ้งกือ ไส้เดือน เป็นขยะที่อยู่ในถังขยะ"
วินาทีที่ได้ยินนั้นตกใจมาก เพราะสิ่งที่เขาพูดมา ไม่ใช่สิ่งที่ครูฝายมอง แต่เป็นสิ่งที่เขา "มองตัวเอง"
และนี่คือสัญญาณของเด็กที่ low self-esteem และอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตายได้ เมื่อโตขึ้น
อะไรทำให้น้องคิดกับตัวเองได้แย่ขนาดนี้นะ!! ครูฝายหาข้อมูลต่อ เย็นวันนั้นเลยโทร.ถามคุณแม่ เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้คุณแม่ฟัง คุณแม่สะอื้นเล็กน้อย พร้อมเล่าว่า คุณพ่อเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ดูถูกและกดทุกคนในบ้านว่าโง่ และไม่เก่ง น้องถูกว่าแทบทุกการกระทำ รวมถึงแม่ด้วย
ครูฝายจึงเข้าใจของเหตุการณ์ทั้งหมด อย่างที่เคยบอกไป คำพูดพ่อแม่ สร้าง "self concept" หรือตัวตนของลูก
เคสนี้ น้องไม่ได้เรียนกับครูฝายต่อ เพราะคุณพ่อเป็นคนจ่ายค่าเรียนทั้งหมด เลยฝากคุณแม่ (ที่ก็ low self-esteem เช่นกัน) บอกรักน้อง กอด หอม บอกว่าแม่ภูมิใจในตัวเขาแค่ไหน และเรื่องอะไรบ้าง❤️❤️
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวว่าพ่อมียศ ตำแหน่งอะไร ทำงานที่ไหน รวยหรือจน ไม่เกี่ยวอะไรเลย อย่างเดียวที่เกี่ยวคือ mindset ของพ่อ ที่มีต่อตัวเอง ต่อครอบครัว จนความคิดนั้นแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมและคำพูด แถมด้วยความเป็นใหญ่ของบ้าน พ่อจึงมีอิทธิพลมากกว่าแม่
คนที่ดูถูกคนอื่น คือคนที่รู้สึกว่าตัวเองต่ำ ไม่เก่ง ไม่มีดีอยู่ตลอดเวลา จึงต้องดูถูกผู้อื่น เพื่อให้ตัวเองสบายใจว่าตัวเองสูงขึ้นแล้ว
ดังนั้นหากเจอคนที่ดูถูกเรา ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร พี่น้อง สามีภรรยา หรือเพื่อนก็แล้วแต่ ขอให้เมตตาและสงสาร ช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์นั้น หากช่วยไม่ได้ ออกมาให้ไกล เพราะผลที่ตามมาเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะรุนแรงแค่ไหน
แค่ลูกฆ่าตัวตาย หรือจะลามไปถึงฆ่าคนอื่น..เราไม่มีทางรู้เลย
ปล. มีการปรับเนื้อหาตัวละครเล็กน้อย เพื่อความเป็นส่วนตัวนะคะ แต่สาระสำคัญเป็นไปตามเหตุการณ์จริงค่ะ"
ทั้งนี้ “ครูฝาย” ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมกรณีเหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอนว่า
ครูฝายขอแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต ญาติและผู้เกี่ยวข้องทุกคนด้วยนะคะ
สิ่งที่อยากให้มองเห็น คือต้นตอของปัญหานี้ ที่ทุกคนบอกว่าครอบครัวกดดันเด็ก ให้เด็กเรียนวิชาการมากเกินไป จนเหมือน #วิชาการ เป็นตัวร้ายของเรื่องนี้
มีหลายคนบอกว่า เก่งวิชาการจะไม่เก่งวิชาชีวิต อันนี้ขอยกมือเถียง
ลูกเราสามารถเก่งได้ ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต อย่ายัดเยียดว่าเด็กที่เก่งวิชาการ จะใช้ชีวิตได้ห่วยและเข้ากับใครไม่ได้ มันตื้นเขินมากๆ
หากเรียนวิชาการเยอะ แต่เด็กเป็นคนเลือกเอง มีเป้าหมายเอง ตัดสินใจ และรับผิดชอบเอง ไม่มีทางเลยที่เด็กจะรู้สึกกดดันจากพ่อแม่ (อาจจะมีบ้างที่กดดันตัวเอง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกดดันเล็กๆ จะทำให้เราเติบโต)
อย่าโยนความผิดให้ #วิชาการ อยากให้หันกลับมามองการเลี้ยงลูกของตัวเองมากกว่า ทุกวันนี้มีเด็ก pre teen (ช่วงอายุ 9-12 ปี) บ่นอยากฆ่าตัวตายมากขึ้น อยากหนีออกจากบ้านมากขึ้น
ถ้าเรายังไม่เริ่มเปลี่ยนที่ตัวเอง มัวแต่รอกฎหมาย หรือสถาบันต่างๆ เด็กที่ฆ่าตัวตายจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ
วันนี้ เริ่มที่ให้ลูกได้ลองตัดสินใจเอง เราจะเห็นว่าลูกเรามีศักยภาพแค่ไหน
เฝ้ามองเขาห่างๆ ถ้าล้ม ค่อยเข้าไปประคอง ไม่ต้องจับมือทำทุกอย่าง ไม่ต้องสั่งทุกเรื่อง เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด