xs
xsm
sm
md
lg

“Everything JingleBell” ทุกหน้าที่ให้ดีที่สุด “อาจารย์ติ๊ก-พิไลพรรณ นวานุช” Head of สายงานทรัพยากรบุคคล DPU

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดวิธีการเป็น HR ของ “อาจารย์ติ๊ก-พิไลพรรณ นวานุช” ในฐานะผู้นำของสายงานทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ที่มีปรัชญาในการสนับสนุนความสำเร็จของ "คน" คือการทำทุกหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นทรัพยากรบุคคลในองค์กร

* สัมภาษณ์ อ.พิไลพรรณ โดย ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ จาก Health Wave FM 95.5

Life long Learning

อาจารย์พิไลพรรณเปิดประเด็นว่า ที่ผ่านมาโอกาสในการได้เรียนรู้ และสามารถตกผลึกประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับจากการทำงาน เกิดขึ้นจากการที่ได้ทำงานร่วมกับทั้งผู้คนและองค์กรที่หลากหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่การทำงาน ตั้งแต่ช่วงอายุยังน้อยๆ และเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา หรือที่ปัจจุบันเราเรียกว่า “Lifelong Learning” การสั่งสมประสบการณ์และองค์ความรู้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ทำงานที่มีค่าต่อการซึมซับและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของตนเอง ยิ่งกว่าการไปเรียน ไปเข้าคอร์สอบรมที่ไหนทั้งสิ้น

“จริงๆ ไม่เคยทำงานที่ไหนเกิน 5 ปี ยกเว้นที่ DPU ดังนั้นในทุกๆ 5 ปีก็จะมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นกับตัวเองมาโดยตลอด ซึ่งทำให้เราได้รับการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เป็น Lifelong Learning โดยปริยาย ตั้งแต่วันแรกที่ทำงานอันดียิ่งกว่าการไปอบรมที่ไหน ประสบการณ์ต่างๆ สอนให้ได้เรียนรู้เยอะมาก ได้เข้าใจทั้งเรื่องที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ หรือที่เรียกว่า Concrete และ Abstract ในความคิดและการปฏิบัติต่างๆ ของคน จากผู้ร่วมงานทุกสาขาอาชีพ ทั้งที่เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร เป็นนักบริหารต่างๆ หรือชาวต่างชาติในหลายทวีป

“โดยเฉพาะกับองค์กรระหว่างประเทศ แม้ว่าเราเข้าไปในตำแหน่งที่ยังไม่ได้ใหญ่โตมาก อาจจะไปในฐานะพนักงานธุรการ จดการประชุม และมีหน้าที่ดูแลจัดการประชุม แต่เนื่องจากว่าเป็นองค์กรขนาดเล็ก ทำให้ได้มีโอกาสเข้าไปรับฟังความคิด วิธีการตัดสินใจ วิธีการสื่อสาร ฯลฯ จากผู้คนในระดับรัฐมนตรีระหว่างประเทศหรือระดับโลก ณ ขณะนั้น ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า เหมือนเราได้ไปอบรมและฟัง Guru ที่เก่งๆ โดยที่เราไม่ต้องไปเข้าคอร์สเรียนอบรมใดๆ แถมยังได้รับเงินเดือนให้ไปนั่งฟังกูรูเหล่านี้ ถือเป็นโชคดีมากๆ ซึ่งแม้ว่าบางทีเราจะไม่เข้าใจในเรื่องที่ประชุมพูดคุยในเวลานั้น แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า เคยได้ไปฟังทั้งในกระทรวงการคลัง หรือห้องงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทั้งในเวทีต่างประเทศระดับนานาชาติ ฟังผู้ใหญ่พูดคุยกันในเรื่องเศรษฐกิจ ฟังการสนทนาประชุมระหว่างประเทศ กับผู้นำใน field ต่างๆ ถือว่าได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเราเองตลอดมา”

แม้งานดูเป็นงานธุรการ ในตอนแรก ในมุมมองของคนบางคน แต่สำหรับ “อาจารย์พิไลพรรณ” ถือประสบการณ์นี้นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง ที่ถ้าต้องเทียบราคาหลักสูตรที่จัดกันตอนนี้ เป็นราคาหลักแสนในการฝึกเป็นผู้บริหารจัดการต่างๆ กัน แต่ที่ผ่านมาอยากถือว่าราคาหลักสูตรประสบการณ์ชีวิตแบบนี้เป็นราคาหลักสูตรมูลค่าหลักล้าน และยังทำให้ได้พบกับคุณครูคนแรกที่สอนและผลักดันวิธีคิดและการทำงานแบบ “Analytical Thinking and Critical Thinking” ตั้งแต่ในวัย 23 ปี

“ตอนนั้นอายุ 23 ปีไปทำงานด้าน Information Analysis เราต้องเรียนรู้พฤติกรรมคน เรียนรู้จักประเด็นที่เขาพูดคุยกันแล้วเอามาบันทึก หน้าที่เหมือนเลขาฯ เหมือนล่าม หรือผู้ประสานงาน (Liaison) และเราก็ต้องทำรายงานส่งทุกครั้ง คุณครูชาวอเมริกันคนนี้มีวิธีการสอน หรือถ้าสมัยนี้คงเรียก Coaching ที่ดีมาก สอนโดยเอาจากชิ้นงานของเราแล้วมาสอนว่าเราพลาดเรื่องอะไร เรามองอะไรพลาด และครั้งต่อไปเขาก็ให้เราเช็กรายละเอียดเป็นข้อบทเรียนว่า 'ครั้งที่แล้ว' เรารู้อะไร และครั้งต่อไป ให้หาโจทย์ตรงนั้นมาให้ได้ แล้วมาตอบใหม่ ทำให้เราได้ฝึก Analytical Thinking and Critical Thinking แบบการสาธิตจากงานจริง คืออะไรที่เขาเตือนหรืองานที่เราทำบางทีโดนแก้ 1 หน้ากระดาษ คนเราสมัยนี้อาจจะรู้สึกน้อยใจ แต่ความน้อยใจตอนนั้นไม่มีเพราะเรายังเด็ก พร้อมมากที่เปิดประตูใจตัวเองในการเรียนรู้ และจดจำทุกอย่างที่เขาสอน ที่เขาแก้ไข เพื่อระมัดระวังไม่ให้ผิดซ้ำอีก และเพื่อทำให้เขาเห็นว่าเราปรับปรุงดีขึ้น”


“ผู้นำสายงานทรัพยากรบุคคล”

ปัจจุบันอาจารย์พิไลพรรณดำรงตำแหน่ง “ผู้ช่วยอธิการบดี” สายงานทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีโครงสร้างทั้งฝ่ายวิชาการ คณาจารย์ต่างๆ ฝ่ายกิจการนักศึกษา และฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ฝ่ายเครือข่าย ที่มีบุคลากรมากมาย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่ออนาคตประเทศ เนื่องจาก “บุคลากร” เหล่านี้คือคนที่จะต้องไปดูแลเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ

“ด้วยความผูกพันที่เคยมาขอรับทุนที่ DPU แต่ก็ตัดสินใจเปลี่ยนความคิดไปเมื่อครั้งยังเยาว์วัย จนได้มีโอกาสในภายหลังอีก 20 กว่าปีต่อมาเข้ามาทำงานที่นี่ ถ้าถามว่ามีโครงสร้างและการดูแลองค์กรและบุคลากรอย่างไร เราดูแลคนที่จะไปดูแลนักศึกษา นั่นก็คือ “บุคลากร” คนที่จะต้องไปดูแลเยาวชนของประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้ เป็นคนที่มีความสามารถสูง มีศักยภาพ และมีสติปัญญาฉลาดหลักแหลมกันอยู่แล้ว จบแทบจะไม่ต้องมีใครไปดูแลเขาเลย ฉะนั้นงานนี้จึงเป็นหน้าที่ท้าทายมาก ซึ่งทุกวันนี้ก็ทำทั้งงานที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล งานบริการบุคคลในทุกด้าน ความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตในองค์กรของบุคลากร ช่วยมหาวิทยาลัยคิดอ่านวางระบบที่จะทำให้องค์กรที่ประกอบด้วยคนที่เก่งในทุกๆ ด้าน สามารถเดินไปด้วยกันอย่างเข้าใจกัน อย่างสอดคล้องกัน”

สิ่งที่สำคัญคือ การเน้นในเรื่องของการสร้างความผูกพันของบุคลากรที่จะเดินไปเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน จึงจะเกิดผลลัพธ์นี้ขึ้นได้ โดยได้ร่วมกับอธิการบดี รองอธิการบดีทุกสายงาน และคณบดี ในการประสานประโยชน์ในเรื่องเหล่านี้

“ไม่ว่าความเป็นอยู่ของคน ความก้าวหน้าของคน ความรู้สึกนึกคิดของคน ล้วนแล้วมีผลต่อ Engagement ทำยังไงให้คนมี Self Esteem เห็นคุณค่าในตัวเอง และเมื่อเขาไปอยู่กับนักศึกษา ความคิด ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะถูกถ่ายทอดไปถึงนักศึกษาได้โดยอัตโนมัติ เราจึงต้องให้ความสำคัญมากๆ ต่อกระบวนการสร้าง Engagement”

ปรัชญาในการทำงานบุคคล

“ก่อนอื่น Procedure การดำเนินงานของกระบวนการงานบุคคลต้องแม่น คล้ายๆ เราเป็นตำรวจ เป็นมหาดไทยขององค์กร เพื่อที่จะทำให้ทุกคนในองค์กรรู้สึกถึงความยุติธรรม การอยู่อย่างไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และมีขั้นตอนในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”

นอกจากนี้ กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงานของคนในองค์กร ต้องพยายามให้เข้าใจหลักเกณฑ์ ขีดจำกัด (ถ้ามี) และ ปฏิบัติได้ รวมถึงการบริหารความขัดแย้ง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของการดูแลบุคลากรในองค์กร ซึ่งต้องใช้ทั้งการเปิดใจรับฟังทุกฝ่าย การไม่ด่วนตัดสิน การวิเคราะห์หาสาเหตุ และคิดทางออกที่ต้องช่วยผู้บริหารในองค์กรให้มองครบทุกมิติ เรียกว่าต้องใช้ทั้ง Negotiation Skills ร่วมกับ Communication Skills และมี Sentiment Analysis ที่ดี รวมถึงทักษะการแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจ เพื่อวิเคราะห์ได้ว่า อะไรควรพูด ในโอกาสไหน เวลาไหน กับใคร ที่สำคัญ ต้องไม่เป็นคนไปเสริมความขัดแย้งในองค์กร

คุณสมบัติ “บุคลากร” ที่ทุกองค์กรต้องการ

อาจารย์พิไลพรรณบอกว่าทุกองค์กรควรมีคนที่ “คิดเป็น” และ “เห็นคุณค่าตัวเองเป็น” : คิดและหาเหตุผลให้ตัวเองให้ได้ แต่ต้องไม่เข้าข้างตัวเอง สิ่งหนึ่งที่มักจะทำให้คนในองค์กรพังก็คือ ความ Innocent จนทำให้ไม่มีความอดทน เรื่องมีความอดทนฟังดูมันยากบางที มันก็เลยต้องมีความเคารพในตนเอง เข้าใจตนเอง และต้องรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ จะทำให้เรามองสถานการณ์จากความเป็นจริง และ ยอมรับ หรือหาทางแก้ไขได้ถูกต้องถูกทิศทาง

ส่วนวิธีรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ คือ “การให้โอกาส เพราะคนทุกคนต้องการโอกาส” “ทฤษฎีมาสโลว์” ระดับขั้นสูงที่เรียกว่า Self Realization คือให้ทุกคนรู้สึกว่าตนมีประโยชน์ต่อตนเองและองค์กร ตัวอย่างเช่น การให้ Job-description การจัดทำ Organization Structure ที่ Flat และ Flexible ที่เรียกว่า Agile การพัฒนาส่งเสริมต่างๆ การสร้างเวทีการทำงานที่หลากหลาย การใช้ Project Management ก็จะเป็นตัวช่วย เป็นต้น

นอกจากนี้ “อาจารย์พิไลพรรณ” ยังถ่ายทอดประสบการณ์เสริมอันมีค่าที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในเรื่องของการ “เตรียมบุคลากรรับงานต่อจากคนเกษียณอายุ” ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้บริหารทุกระดับ ทุกคนต้องมองหาคนเก่ง คนใหม่ๆ มาเติมเต็มให้องค์กร และทักษะ การให้ feedback หรือการโค้ชคน จึงสำคัญมาก


ว่าด้วยเรื่อง Coaching

“องค์กรควรมี Positive feedback ที่ดีให้แก่บุคลากร เพราะว่าสังคมไทยจะมีประเด็นหนี่ง คือเราจะไม่ค่อยกล้าติติงแนะนำกัน เพราะเราเกรงใจ เรานุ่มนวล เราไม่อยากทำลายน้ำใจใคร ตรงนี้จึงเป็นศิลปะทำอย่างไรให้คนกล้าที่จะแสดงข้อเท็จจริงและข้อควรที่อยากให้เขาปรับปรุง บางองค์กรจึงต้องมีระบบ Coaching ให้คนนอกมาบอก เพราะหัวหน้าและลูกน้องบางทีก็ทับเส้นทางเดียวกัน พูดไปแล้วมันเปราะบาง และที่สำคัญต้องสร้างโอกาส สร้างเวทีเพื่อจะให้มีผู้สืบทอดในรุ่นต่อไป หรือ Successor ซึ่งไม่ใช่แค่ตำแหน่งขึ้นเพราะอาจจะกลายเป็นองค์กรแบบพีระมิด แต่ต้องทำให้ทุกคนมีเส้นทางเดินของตัวเอง ที่เกิดผลดีที่สุดต่อองค์กรให้ได้”

Succession Plan หรือ Talent Management ที่พูดกัน ถ้าจะให้สรุปคือ การทำให้คนเป็น Somebody ในองค์กร อย่าให้มีความรู้สึกว่า I am nobody เพราะนั่นคือ เปรียบเสมือนบ่อนทำลายความมั่นคงขององค์กรเลย

สร้างวัฒนธรรมองค์กร

อาจารย์พิไลพรรณระบุว่า วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เหมือนประเทศชาติต้องมีวัฒนธรรม หรือ Core Value หรือ Value ของคน ฉะนั้น การที่จะทำวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นที่ประจักษ์ คือต้องทำให้คนยอมรับก่อนว่า “คุณค่า” ของตนเองคืออะไร เราสามารถเป็น somebody ในองค์กรได้อย่างไร มีเวทีไหนของเราได้บ้าง และจะมีผลอย่างไรต่อคุณค่าขององค์กร ที่องค์การอยากวางรากฐานไว้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ abstract มากที่จะมองเห็นผลออกมาชัดเจน แต่ลองนึกว่า ถ้าคนอยู่ร่วมกันโดยไม่มีวัฒนธรรมใดยึดมั่นไว้ เราก็คงจะอยู่กันอย่างหลวมๆ พร้อมแตกพ่ายกันไป

“ที่ DPU ที่ทำผ่านมาเรื่อง New DNA พยายามพูดเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการเอาภารกิจเหล่านั้นมาเชื่อมโยงให้ได้ ทาง HR ก็จะคอยเชื่อมโยง อาทิ กิจกรรมกีฬาบุคลากร เราก็เชื่อมโยงและจัดกิจกรรมให้ส่งเสริมการทำงานร่วมกันตาม DNA ขององค์กร นอกจากนี้เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เราต้องมี Counseling Center จริงๆ ต้องให้ทุกคนกล้าพูดและแสดงออกแบบตรงไปตรงมา แต่ในทางปฏิบัติทางสังคมไทยทำแบบนั้นไม่ได้ เราก็ต้องมีพื้นที่ในการรับฟังเขา ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า เดินไปทางไหนไม่หลงทาง ซึ่งจะนำมาซึ่งแรงบันดาลใจที่เกิดทุกที่” แต่เราก็ยังต้องพัฒนาต่อ เพราะการฝัง DNA ต้องไม่เกิดจากมีใครไปบอก แต่เกิดขึ้นเองโดยสัญชาตญาณ จึงต้องมีการกระตุ้น การย้ำเตือน และผูกโยงกับกิจกรรมทุกเรื่องในองค์กรให้ได้ ทุกคนตอบโจทย์นี้เหมือนกันให้ได้ทั้งองค์กร

ปรัชญา “Everything JingleBell” ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ถึงตรงนี้ประสบการณ์และความสำเร็จตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้ด้วยการยึดปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ว่า “Accountability” การทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและรับผิดชอบให้ดีที่สุดที่คนคนหนึ่งจะทำได้ เช่น เป็นแม่ ก็เป็นแม่ที่ดีที่สุด เป็นพนักงานก็เป็นพนักงานที่ดีที่สุด เป็นหัวหน้าก็เป็นหัวหน้าที่ดีที่สุด ถ้าต้องให้โอกาสคน ก็ให้อย่างเต็มที่ที่สุด ถ้าได้รับโอกาสจากใคร ก็ทำให้เต็มที่ที่สุด

“รับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำหรือได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะงานเล็กๆ หรืองานใหญ่ๆ หรืองานที่เป็นความจำเป็นต้องทำ ก็ต้องทำให้ดีที่สุดในทุกๆ หน้าที่ ทุกอย่างต้องมีการเตรียมตัวเพื่อทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ทำอะไรแบบลุยๆ ไปโดยไม่เตรียมตัว”

อาจารย์พิไลพรรณระบุต่อเมื่อถามว่า "สิ่งที่มีค่าที่สุดคืออะไร" คำตอบคือ “ครอบครัว”

“ลูก สามี คุณแม่ ครอบครัวเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด เพราะเราผ่านอะไรมาได้ก็ด้วยครอบครัว ซึ่งถ้าครอบครัวเริ่มต้นให้คนดี เริ่มให้คนถูกต้อง คนเหล่านั้นก็จะมาอยู่ในสังคมและสร้างประโยชน์ให้สังคม และตัวเองก็มีความสุข เห็นคุณค่าตัวเอง ที่เรียกว่า Self Esteem เพราะเขาถูกสร้างมาให้ดี จึงแคร์ที่สุดคือครอบครัว และสิ่งที่ทำเหล่านี้จะนำไปสู่อย่างอื่นๆ เช่น การทำงานที่ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นหรือความมั่นคงให้ ครอบครัว การทำงานให้ดีเพื่อเป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรีของครอบครัว ให้ทุกคนในครอบครัวรู้สึกเป็น Somebody ต่อกัน เรารู้สึกว่าเกิดมาคนหนึ่งคนมาจากครอบครัว ดังนั้นเรามีหน้าที่ทำให้ครอบครัวดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เช่น ต้องดูแลเลี้ยงดูคุณแม่ อายุ 99 ปี ติดเตียง ก็อยากและภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ เพราะเขาเลี้ยงเรามาเขาก็ไม่เคยเกี่ยงงอนจนมีเราในวันนี้ จึงรู้สึกดีใจและไม่เคยรู้สึกแม่เป็นภาระ มีแต่อยากทำให้ดีที่สุดและนานที่สุด คือทุกอย่างที่ต้องทำ ก็อยากทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เต็มที่กับทุกสิ่ง มุ่งมั่นกับทุกสิ่ง ที่เรียกว่า Everything JingleBell เกิดมาเป็นคนถ้าไม่ทำหน้าที่ให้ดีแล้ว เราจะทำอะไร” อาจารย์พิไลพรรณกล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น