xs
xsm
sm
md
lg

อ.ทัศนัยเล่าประสบการณ์ชีวิต ขรก. ถูกหักเงินเดือนเหลือ 118 บาท กระอักเลือดต่อหน้า นศ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.ทัศนัย ศิลปินชื่อดัง และอาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ เล่าประสบการณ์เป็นอาจารย์ประจำเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เงินเดือน 17,500 บาท ถูกหักเหลือใช้ 118 บาท เอาตัวรอดอย่างกระเบียดกระเสียน ชี้โชคดียุคนั้นไม่แบ่งจ่าย มิเช่นนั้นเหลือเงิน 59 บาท

หลังจากประชุม ครม.รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นั่นคือ การเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวด โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ทำให้ข้าราชการมีเวลาปรับตัวล่วงหน้าประมาณ 3 เดือนก่อนใช้จริง แต่ถึงอย่างไร นโยบายดังกล่าวก็เป็นที่ถกเถียง เพราะคนที่มีหนี้สินจะบริหารเงินลำบาก เงินมาทีละน้อยๆ แต่หนี้ต้องจ่ายเต็ม ยิ่งคนที่มีเงินเดือนน้อยอยู่แล้ว พอถูกหักเหลือครึ่งก็ยิ่งน้อยกว่าเดิม

ล่าสุดวันนี้ (14 ก.ย.) นายทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ม.เชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความเล่าประสบการณ์การได้เงินแบบถูกหักไปตั้งแต่ต้น ต้องใช้ชีวิตแบบกระเบียดกระเสียน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thasnai Sethaseree โดยระบุว่า

ตอนมาบรรจุเป็นอาจารย์ประจำเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วได้รับเงินเดือนประมาณ 17,500 บาท พ่อกับแม่เอาเงินบำนาญซื้อที่ดินให้แปลงหนึ่งและออกค่าสร้างบ้านให้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งผมไปกู้สวัสดิการมหาวิทยาลัยมาทำบ้านให้เสร็จโดยไม่บอกพ่อกับแม่

ในทุกเดือน เงินเดือน 70% ถูกหักอัตโนมัติ จ่ายหนี้ให้สวัสดิการฯ เหลือสตางค์ไม่กี่พันบาทสำหรับใช้จ่าย ซึ่งสำหรับผมพอ เพราะไม่ได้ใช้เงินกับอะไรเลยในตอนนั้น มีเพียงค่ากินอยู่ ค่าน้ำมันรถไปทำงาน ซื้อต้นไม้มาปลูก อะไรประมาณนั้น

จนมีข้อพิพาทกับมหาวิทยาลัยเรื่องการลาศึกษาต่อ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการรับทุนฯ และต้องไปจบที่ศาลปกครอง ใช้เวลาอยู่ 5 ปี กว่าเรื่องจะสิ้นสุด แต่ก่อนเรื่องจะจบที่ศาลปกครอง ก็โดนมหาวิทยาลัยหักเงินเดือนที่เหลือไม่กี่พันบาทอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลของการใช้เวลาในการลาศึกษาเกินกำหนด ทั้งที่ความจริงเรื่องการลายังไม่มีการอนุมัติและยังมาปฏิบัติงานสอนหนังสือปกติ กว่า 5 ปีที่ผู้บริหารไม่ลงความเห็นว่าจะอนุมัติให้ลาหรือไม่ให้ลา จนมหาวิทยาลัยใช้วิธี (หรือวิชามาร) ให้อนุมัติการลาย้อนหลัง และจ่ายเงินส่วนที่เคยหักไปจากเงินเดือนทั้งหมดคืนมา

ตลอดเวลา 1 ปีเต็ม ยอดเงินที่เข้าบัญชีทุกเดือนหลังหักหนี้สวัสดิการและส่วนที่มหาวิทยาลัยหักไปอีก เหลืออยู่ 118 บาท

ผมมีเงินเดือนใช้ 118 บาทเป็นเวลา 1 ปี คงจะจินตนาการกันไม่ออกว่าใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร?

บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดทุกใบที่มีอยู่ มียอดการใช้เต็มทุกใบ หมุนเอาบัตรใบนั้นมาจ่ายบัตรใบนี้ วนๆ ไป ธนาคารโทร.ทวงหนี้จนกลัวที่จะรับโทรศัพท์ เวลาแม่มาหาทีก็จะไปซื้อเสบียงมาตุนไว้ให้ ซึ่งเป็นปกติทุกครั้งที่แม่หรือพ่อมาหา แต่ผมไม่เคยเอ่ยปากบอกว่าอยู่โดยไม่มีสตางค์สักบาท

รถยนต์ก็ไม่ขับ ไม่มีเงินเติมน้ำมัน ใช้มอเตอร์ไซค์เก่าๆ น้ำปลา น้ำซอสต่างๆ ที่แม่ซื้อไว้ให้ก็เอาไว้กินกับข้าวต้มที่หุงจากข้าวเหนียวเพื่อให้ได้ปริมาณเยอะๆ พอที่จะแบ่งกับลูกหมา 2 ตัว ที่พ่อส่งมาให้จากกรุงเทพฯ ลุงคนหนึ่งปลูกกระต๊อบอยู่หน้าบ้าน ทำแปลงผักเล็กๆ ก็จะแบ่งผักมาให้กินบ้างเป็นบางครั้ง ก็มีกินเพียงแค่นั้น บุหรี่ก็เก็บจิ้งหรีดสูบบ้าง ซื้อยาเส้นมาสูบบ้าง ขี่มอเตอร์ไซค์เก่าไปสอนหนังสือ น้ำมันหมดกลางทาง ไปไม่ถึงห้องเรียนก็เคย หลังการบรรยายเสร็จหน้ามืดจะเป็นลมเพราะไม่ได้กินข้าวก็บ่อย นักศึกษาในปีนั้นเคยเห็นผมสะอึกออกมาเป็นเลือดบนโต๊ะในวิชาสัมมนาก็เคยมี ไม่สบายมาก แต่หยุดสอนหนังสือไม่ได้

เรื่องที่เล่าให้ฟังคือประสบการณ์ของพนักงานของรัฐคนหนึ่งที่ไม่ได้มีสมบัติพัสถานติดตัวอะไรเลยมาโดยกำเนิด ผมเชื่อว่าข้าราชการและพนักงานของรัฐอีกหลายแสนคนในประเทศนี้คงไม่ได้มีความสุขสบายไปมากกว่าตัวผมเองนัก

โชคดีอยู่เรื่องหนึ่งคือ ตอนนั้นไม่มีใครจะมีความคิดจ่ายเงินเดือนเป็น 2 รอบ ไม่เช่นนั้นผมคงจะได้รับเงิน 59 บาท ทุก 2 อาทิตย์

ตอนมาบรรจุเป็นอาจารย์ประจำเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ได้รับเงินเดือนประมาณ 17,500 บาท...โพสต์โดย Thasnai Sethaseree เมื่อ วันพุธที่ 13 กันยายน 2023



กำลังโหลดความคิดเห็น