xs
xsm
sm
md
lg

“ครูไทย” ทั้งขาด ทั้งเกิน!! ปัญหาเรื้อรัง “จำนวนเรือจ้าง” ไม่ตรงตามความต้องการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แค่ 2 ชั่วโมง สนามสอบ “ใบประกอบวิชาชีพครู” เต็ม!! เกิดข้อสงสัย ตกลงแล้วครูไทย “ขาดแคลน” หรือ “ล้นไป” กันแน่? กูรูชี้ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ที่แน่ๆ สภาพที่เห็นสะท้อนการประสานงาน จัดการข้อมูลของ “คุรุสภา-สถาบันผลิตครู”

เต็มทุกสนาม เพราะเปิดสอบน้อยไป?

เป็นกระแสในโซเชียลไม่นานนี้ เมื่อการเปิดสอบ “ใบประกอบวิชาชีพครู” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ประกาศเปิดรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 4-22 ก.ย.66 รอบแรก 20,000 ที่นั่ง และหลังจากนี้เดือน ม.ค.67 จะเปิดสอบอีก 60,000 ที่นั่ง

แต่ในวันที่ 4 ก.ย. หลังเปิดให้ลงทะเบียนรอบแรกได้เพียง 2 ชั่วโมง ที่นั่งกลับ “เต็มทุกสนามสอบ”อีกทั้งยังมีระบบล้ม ทำให้หลายคนพลาดโอกาสในการสอบปีนี้ จนเกิดแฮชแท็ก #ใบประกอบวิชาชีพครู ขึ้นเทรนด์บน X (Twitter เดิม)



ผู้ใช้ X รายหนึ่งบ่นว่า “ทำไมเปิดที่นั่งสอบน้อยจัง แล้วประเด็นสำคัญคือ การสอบใบประกอบวิชาชีพ มันไม่ควรที่จะต้องมาแย่งกัน แล้วแต่ละภาคก็เปิดน้อยมาก ไม่คิดจำนวนประชากรคนที่จะเข้าสอบเลยใช่ไหม”



เพื่อคลายข้อสงสัย ทีมข่าวจึงขอให้ “ครูทิว” (ธนวรรธน์ สุวรรณปาล)จากกลุ่มครูขอสอน ให้ช่วยวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอะไรบ้าง?

“เรื่องของการสอบในประกอบ มันเป็นระบบใหม่ หมายความว่าหลักจากที่คุรุสภา เปลี่ยนกฎเกณฑ์ ก็มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการผลิตครูขึ้นมา”

คือมีการเปลี่ยนระบบการสอบใหม่ โดยจะแบ่งเป็นรอบๆ ใครที่มีคุณสมบัติเพียงพอตามเกณฑ์ ในการยื่นสอบใบประกอบวิชาชีพ ก็สามารถยื่นสอบได้เรื่อยๆ

“ด้วยความที่ มันเป็นรอบแรก และมีบัณฑิตจบใหม่เยอะ ก็ทำให้อัตราที่เปิดสอบในห้วงแรก มันไม่เพียงพอ ก็เลยเป็นปัญหา”

                                                      { “ครูทิว” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล }

มีไหม? แผนระยะสั้น-ระยะยาว

จำนวนครูกับตำแหน่งงานมันสวนทางกันหรือเปล่า?ถ้ามองกลับไปที่อัตราครู กับการผลิตครูแล้ว “ครูทิว”บอกว่า “ประการแรก ประเทศเราผลิตครูล้นเกิน”

ตอนนี้ในมหาวิทยาลัยแทบทุกที่ มีการเปิดสอนวิชาครู ทั้งของมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน แต่ปริมาณที่ผลิต “ไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการ”ใน 2 แง่ คือ 1.จำนวน และ 2.ความต้องการตามวิชาเอก

“ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ตัวคุรุสภา รวมไปถึงสถาบันการผลิตครูเนี่ย เขามีการพูดคุยกันอยู่แล้วแหละ แต่ว่าได้มีการนำข้อมูล ไปวางแผนในระยะสั้น-ระยะยาวบ้างหรือเปล่า”

 
ในแง่ของ “จำนวน”เคยมีการคำนวณหรือเปล่าว่า จะรับนักศึกษาที่เรียนครูเท่าไหร่ ผลิตออกไปเท่าไหร่ ความต้องการของประเทศมีขนาดไหน ข้อมูลพวกนี้นั้นสำคัญ “แต่ก็ยังผลิตครูจำนวนล้น เกินอยู่”

ในมิติที่ 2 คือ “ความต้องการตามวิชาเอก” ถ้าเราเอาจำนวนครู มาหารนักเรียนต่อหัว จะเห็นว่าสัดส่วนของครูกับเด็กไม่ได้ขาดแคลน อาจมองว่ากำลังพอดีด้วยซ้ำ

“แต่ปัญหาในหน้างานจริงๆเนี่ย บางโรงเรียนมีครูมากเพียงพอ บางโรงเรียนไม่มีครู บางโรงเรียนต้องสอนควบชั้น อย่างนี้เป็นต้น มันก็เลยทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนครู ในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล โรงเรียนประถม โรงเรียนขนาดเล็ก”

และตอนนี้ครูที่ขาดอยู่จำนวนมากคือ “ครูประถม” เพราะมหาวิทยาลัยไม่ค่อยมีการเปิดเอกนี้เท่าไหร่ และคนส่วนใหญ่มักเลือกเรียนวิชาเอกอย่าง “วิทย์คณิต” หรือ “สังคม” มากกว่า และมักจะเลือกสอน “โรงเรียนมัธยม”

 
 “พอเลือกสอบเขตมัธยม ก็ทำให้ครูประถมไม่เพียงพอ คือมีสอบเยอะก็จริง แต่ครูที่ผ่านการขัดเลือกก็น้อย บรรจุไปก็ไม่เพียงพอ ทำให้ในโรงเรียนเหลือครูคนเดียว หรือ 2 คน กับเด็กอีกหลายๆ ชั้น”

ครูไม่พอ เพราะไม่ได้แค่สอนหนังสือ?

ถ้ามองในแง่แค่จำนวนครู อาจกำลังพอดี ถึงขั้นล้นเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้ามองเรื่อง “ภาระงานที่ต้องทำ”จำนวนห้องเรียนที่สอน จำนวนวิชาที่สอน ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ครูต้องมี ตรงนี้มัน “ไม่เพียงพอ”

“ดังนั้น ถ้ามองในแง่ภารกิจ มันไม่เพียงพอ อันนี้พูดแค่การสอนนะ ยังไม่พูดถึงว่า พอครูไปบรรจุอยู่ในโรงเรียนจริงๆ แล้ว ภารกิจของครูมันไม่ใช้แค่การสอน”

 
งานของครูไม่ใช้แค่การสอน แต่รวมถึงการดำเนินงานในโรงเรียน ทั้งงานพัสดุการเงิน อาคารสถานที่ อนามัย ทุกอย่างในโรงเรียน ครูทำเองหมด “ทำให้เกิดปัญหาต่อมา มีการจ้างครูอัตราจ้าง แสดงว่าจริงๆ แล้ว ครูไม่พอหรือเปล่า”

คำว่า “ครูอัตราจ้าง” คือ สัญญาจ้างที่โรงเรียนจ้างครู แบบ 6 เดือน หรือแบบปีต่อปี ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่อาจจะได้เงินเดือนละ 15,000 บาท หรือมากว่านั้นแต่ 50% ของโรงเรียนในไทย เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีแค่ 10% ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่



“โอเค โรงเรียนขนาดเล็กขาดครู ก็ต้องจ้าง แต่ทีนี่ไม่มีเงินจ้าง ก็ต้องจ่ายด้วยเงิน 5,000 6,000 อะไรอย่างนี้”

“แล้วทำไมยังมีคนไปสมัครวะ ใช่ไหมครับ” ทิวอธิบายว่า การเป็นครูอัตราจ้างจะได้รับสิทธิพิเศษ ในการสอบบรรจุที่มีการแข่งขันที่น้อยกว่า เพราะเป็นการสอบเฉพาะกลุ่มครูอัตราจ้าง “หากทำงานครบเงื่อนไข 3 ปี”



คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นในช่วง 1-2 ปีคือ “ครูอยากลาออก”แต่อีกมุมหนึ่งก็มีคนที่อยากเป็นครูจำนวนมาก นี่คือสภาพแบบ “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” หรือเปล่า?

จากการเก็บข้อมูลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทิวบอกว่าครูที่ลาออกหลายคน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีทางเลือกในชีวิตและไม่ได้สนใจเรื่องของสวัสดิการเท่าไหร่

“แต่ครูอีกจำนวนมาก ผมบอกเลยว่าไม่ว่าจะเป็นครูแบบไหนก็แล้วแต่ จะเป็นครูที่ตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ทั้งหลายทั้งแหล่ ในระบบนี้ส่วนใหญ่เลยคือ การอยู่เพราะสวัสดิการ”


 

“ราชการ”คือความมั่นคงในการใช้ชีวิต มีสวัสดิการให้พ่อแม่หรือลูกได้ และอีกมุมประเทศที่ความเจริญไม่ได้กระจายไปทุกจังหวัด จะมีงานแบบไหนที่เรียนจบ ป.ตรี แล้วได้ทำงานใกล้บ้าน นอกจาก “ครู”เพราะโรงเรียนมีทุกตำบล ทุกอำเภอ

“ผมไม่ได้บอกนะว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ไม่มีความตั้งใจที่จะมาเป็นครู แต่ว่ามันเป็นแรงจูงใจส่วนใหญ่ ให้คนมาเป็นครู”

ในมุมมองของ “ครูทิว” ปัญหาพวกนี้ยังไม่ถูกแก้ไข ทั้งเรื่องการขาดแคลนครู ที่โรงเรียนต้องรอส่วนกลางในการเปิดสอบ เขตไม่สามารถทำเองได้ หรือไม่ก็ต้องรอการโยกย้าย ซึ่งก็ไม่แน่นอนว่า จะมีครูย้ายมาลงที่โรงเรียนเราหรือเปล่า



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : Twitter “@Bxl3e” , “@markmarkmarkbam” , ” @Iamkonsuayxyh” , placementyear.org , huahintoday.com, kroobannok.com, แฟนเพจ “ข่าวการศึกษา ครูบ้านนอกดอทคอม”, “ครูบ้านนอก”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น