หมอนิธิพัฒน์ร่ายยาว จม.เปิดผนึกฉบับที่ 2 ถึง รมว.สาธารณสุขคนใหม่ วอนผลักดันนโยบาย 30 บาท ขออย่าให้เป็นเพียงนโยบายประชานิยมทางการแพทย์ชั่วครั้งชั่วคราว
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความฝากไปถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในประเด็น นโยบาย 30 บาท หวังคงไม่ใช่นโยบายประชานิยมทางการแพทย์ชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งนี้ นายแพทย์ นิธิพัฒน์ได้ระบุข้อความว่า
“จดหมายเปิดผนึกถึงศิษย์รุ่นน้องร่วมบ้านริมน้ำ ฉบับที่ 2
14 กันยายน 2566
วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก นี่ก็นับได้ครึ่งเดือนหลังจากพี่ส่งจดหมายฉบับแรกออกไป ส่วนตอนนี้ตัวน้องคงเตรียมตัวมุ่งมั่นทำงานในรับผิดชอบ เพื่อสร้างชื่อให้คนเลื่องลือว่า ลูกศิริราชยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม ประกอบกิจโดยยึดโยงกับประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนพรรคพวกหรือประโยชน์ส่วนตน
วันนี้คนไทยดีใจกันถ้วนหน้า ที่รัฐบาลข้ามขั้ว (ความขัดแย้ง) และข้ามหัว (ประชาชน) ประกาศผลงานชิ้นแรกคือ ลดราคาดีเซล ลดค่าไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่หลายคนอดห่วงไม่ได้ว่าจะเป็นเพียงการดึงเงินภาครัฐในอนาคตมาใช้ก่อนเวลาแบบไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ไปแตะต้องหรือแตะเล็กน้อยในผลกำไรของกลุ่มทุนผูกขาดที่ชักใยโครงสร้างพลังงานของประเทศ
สืบเนื่องจากใจความหนึ่งในจดหมายน้อยฉบับก่อนเรื่องนโยบาย 30 บาท วันนี้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เปิดเผยถึงข้อสั่งการของนายกฯ ในที่ประชุม ครม.ครั้งแรกว่า “มอบหมายให้น้องไปคิดหาทางยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้มีผลเร็วที่สุด โดยยกเรื่องการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ว่า ต่อจากนี้จะไม่มีโรงพยาบาลประจำของแต่ละคน แต่ใครสะดวกหรือชอบโรงพยาบาลไหนสามารถไปได้หมดเลย เหมือนประกันของเอกชนดูแล”
ปัจจุบันยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ของศักยภาพระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่กับโรงพยาบาลขนาดเล็กในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นปัญหาสำคัญและอยู่ในระหว่างรอการแก้ไข โดยปรากฏอยู่ในข้อที่ 9. การวางแผนจะพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ในแผน 13 นโยบายสาธารณสุข ซึ่งทีมงานของกระทรวงเตรียมเปิดเผยรายละเอียดในสัปดาห์หน้า (ในรูปที่ค้นมายังขาดข้อ 13. นักท่องเที่ยวปลอดภัย...แทนที่จะเป็นคนไทยห่างไกลยาเสพติดและมลพิษในอากาศ) แต่การเปิดฟรีให้ประชาชนใช้บัตรทองไปรักษาได้ทุกที่โดยเสรี จะยิ่งเพิ่มความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งไม่สามารถจำกัดปริมาณการให้บริการได้เหมือนโรงพยาบาลในสังกัดอื่น และจะยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาสมองไหลของบุคลากรในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ย้อนแย้งกับแผนข้อที่ 5. การสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร อีกทั้งการเปิดให้รักษาโรคโดยเสรีจะเป็นอุปสรรคต่อแผนข้อที่ 6. ส่งเสริมการแพทย์ปฐมภูมิ และที่สำคัญไม่แพ้กันแต่ไม่ปรากฏในแผน คือ เป็นกับดักไม่ให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคของปัจเจกชนและชุมชนมากกว่าการรักษาโรค
พี่อดคิดถึงพี่หงวน (นายแพทย์ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ผู้หาญกล้าผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพ (30 บาท รักษาทุกโรค) จนมีพรรคการเมืองต้นกำเนิดของน้องซื้อไอเดียไปสานต่อได้สำเร็จ และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อเกิดแลนด์สไลด์ในอดีต และยังใช้เป็นต้นทุนฐานเสียงทางการเมืองสำคัญมาตราบจนปัจจุบัน เท่าที่พี่เคยทำงานร่วมกับพี่หงวนตอนอยู่ในรั้วมหิดล และได้มีโอกาสร่วมดูแลปัญหาสุขภาพของพี่เขาในช่วงบั้นปลายชีวิต พี่เชื่อโดยสนิทใจว่าพี่หงวนคงอยากเห็นนโยบาย 30 บาท เป็นรัฐสวัสดิการที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มากกว่าที่จะถูกใช้เป็นนโยบายประชานิยมทางการแพทย์ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อต่อลมหายใจให้กับพรรคการเมืองซึ่งเสพติดอำนาจนิยมและสถานะที่ได้เปรียบทางสังคม
ขอทิ้งท้ายฝากคำชมไปถึงหัวหน้ารัฐนาวาของน้อง ที่ให้ถ้อยคำไว้กับรัฐสภาว่า ต้องการ “พัฒนาร่วมกัน” มากกว่า “ปฏิรูป” หน่วยงานราชการที่สำคัญโดยเฉพาะกองทัพ แต่พี่เกรงว่าคำที่เลือกใช้ให้ฟังเพราะเสนาะหูและดูดีนี้ จะเท่ากับการละเลยหรือการแกล้งมองไม่เห็นสิ่งไม่ดีที่แฝงอยู่ในระบบราชการ ซึ่งในชีวิตราชการของพี่ที่กำลังจะครบ 40 ปี เห็นว่าเนื้อร้ายนี้มีเป็นส่วนน้อย แต่ส่งผลบดบังการฉายแววอันควรของข้าราชการส่วนใหญ่ที่มุ่งทำความดีเพื่อรับใช้ประชาชน หากติ่งเนื้อเหล่านี้ตกเป็นเป้ายึดครองสำคัญ ที่ข้าราชการการเมืองใช้เข้ามาแทรกแซงข้าราชการประจำมาทุกยุคทุกสมัย และนับวันจะหนักข้อขึ้น หากจะขลิบติ่งเนื้อร้ายนี้ออกไปบ้างเพื่อรักษาอวัยวะส่วนใหญ่ น่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนและประเทศชาติในระยะยาว”