xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" จ่อฟื้นบอร์ดระดับชาติ คุมทุกหน่วยงานสุขภาพ เล็งแถลงนโยบายใน 22 ก.ย.นี้ ยัน 30 บาทพรีเมียมไม่เก็บเงิน เน้นสร้างยุคปรองดอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" เตรียมแถลงนโยบายกระทรวงใน 22 ก.ย.นี้ 30 บาทพรีเมียมจะมีความชัดเจน ยันไม่ได้กลับมาเก็บ 30 บาท เป็นแค่ชื่อโครงการ จ่อฟื้น National Health Board คกก.สุขภาพระดับชาติ เป็นแกนกลางกำหนดนโยบาย บูรณาการทุกกระทรวงเกี่ยวกับสุขภาพ และ 3 กองทุน อุดช่องว่างต่างคนต่างทำ ยันไม่ลดบทบาทอำนาจ สธ. เน้นลดขัดแย้งในกระทรวง แปลงความเห็นต่างเป็นเห็นร่วม มั่นใจเป็นยุคสร้างสมานฉันท์ ยินดีพบสหภาพแพทย์ฯ หารือชั่วโมงทำงาน

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางเข้ากระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นทางการและลงนามในหนังสือรับหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ต้องขอบคุณที่ใช้คำว่า บรรยากาศการกลับมา เพราะตนเองเคยมาเป็น รมช.สธ.เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มาเป็น รมว.สธ. วันนี้มาพร้อมกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สธ. ขอบคุณปลัด สธ.และผู้บริหาร ครูอาจารย์ทุกภาคส่วนที่มาต้อนรับ ข้อเท็จจริงตนมาทำงานตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.แล้ว แต่วันนี้เข้ามาแบบทางการเพื่อกราบไหว้สักการะสิ่ศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง 7 จุด สำหรับการทำงานที่นี่ก็คือมีโอกาสได้กลับมา ก็ตั้งใจ ทุกอย่างจะเป็นไปตามนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาแล้วแปลงมาเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและนำสู่แผนการปฏิบัติ ขอให้รอก่อนไม่เกินวันที่ 22 ก.ย.นี้ ที่ตนจะแถลงเป็นนโยบายของกระทรวงสู่ผู้บริหารเพื่อนำสู่การปฏิบัติ

ถามว่าตั้งเป้าหรือไม่ว่าภายใน 100 วันจะต้องเห็นผลลัพธ์อะไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราเตรียมการและพูดคุยไว้เรียบร้อย ให้รอฟังประกาศ เมื่อถามว่าการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นพรีเมียมจะเป็นเช่นไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันที่ 30 ก.ย.ก็จะมีความชัดเจน เพราะหลังจากแถลงต่อรัฐสภาแล้วมีถ้อยคำนี้ในคำแถลงนโยบายของรัฐสภา เรามาแปลงเป็นนโยบายของกระทรวงฯ ซึ่งเป็นเรื่องเราให้ความสำคัญ เป็นการยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

"ผมขอเน้นย้ำว่า เป็นชื่อโครงการ เพราะหลายท่านเข้าใจผิดว่า เราจะกลับมาเก็บ 30 บาท มันเหมือนเป็นสัญลักษณ์เป็นแบรนด์ และเรายกระดับขึ้น เพิ่มคุณภาพประสิทธิภาพทุกมิติในงานกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู และเรื่องสุขภาวะ สุขภาพดีที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ สติปัญญา และสังคม ซึ่งเราเองขณะนี้ต้องยอมรับว่าสุขภาพเชิงสังคมมีปัญหามากในบ้านเมืองเรา ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในนโยบายที่เราจะตอบโจทย์" นพ.ชลน่านกล่าว


ถามว่าจะดูแลไปถึงสิทธิสุขภาพอื่นนอกจากบัตรทอง 30 บาทด้วยหรือไม่ เช่น ประกันสังคม ที่มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราดูเชิงระบบทั้งหมด เราตั้งใจว่าในมิติสุขภาพที่เรามีส่วนร่วมดูแลที่ในภาระงานเราจริงๆ 60-70% แต่ว่าใน 100% ทั้งหมดเป็นผู้รับผิดชอบมิติสุขภาพเชิงรวม ฉะนั้น สธ.เราจะเข้าไปเป็นแกนหลักขับเคลื่อน เราตั้งใจถึงที่จะตั้งเป็นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Board) เป็นภาพใหญ่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานบอร์ดชุกนี้ เพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งหมด เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนก็จะอยู่ในนี้ทั้งหมด เพราะจะมีความคาบเกี่ยวกับหน้าที่กระทรวงอื่นๆ จึงต้องมีแกนกลางมารองรับ

ถามว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเข้ามาคุมทั้งหมด ทั้ง สธ. องค์กรตระกูล ส. ในเรื่องนโยบายทั้งหมดใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ทุกกระทรวงที่รับผิดชอบมิติด้านสุขภาพ

ถามถึงมีการจับตาเรื่องความขัดแย้งภายในกระทรวง โดยเฉพาะเรื่องของกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท การทำงานจะมีแนวทางการลดความขัดแย้งอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องความไม่พอใจน่าจะเป็นเรื่องความรู้สึกมากกว่า ทิศทางการทำงานของรัฐมนตรี คณะผู้บริหารแต่ละชุด มีแนวทางตามนโยบายของแต่ละท่าน แต่ตัวของผมให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก กลไกการขับเคลื่อนงานการแพทย์และสาธารณสุข มิติด้านสุขภาพ บุคลากรด้านสุขภาพสำคัญยิ่ง เราจะมาดูเชิงระบบทั้งหมดในภาพใหญ่ เรายังวางเข็มมุ่งว่า กระทรวงสาธารณสุขน่าจะมีโอกาสมาบริหารจัดการเอง มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเอง มีกฎหมายมารองรับเป็นการเฉพาะ ซึ่งเราก็ปรึกษาหารือกันอยู่ ตนเข้ามาขับเคลื่อนตรงนี้ก็พยายามผลักดัน มีกรรมการบริหารงานบุคคลของกระทรวงเป็นภาพใหญ่ไว้ และทุกภาคส่วนที่มีความปรารถนาดีต่อสุขภาวะและมิติสุขภาพประชาชน เราจะรวบรวมเป็นพลัง

"ความเห็นต่างมีแน่นอน แต่ว่าเราจะแปลงความเห็นต่างมาเป็นความเห็นร่วม ทุกคนทุกท่านบอกผมว่า เรามีความรักสมัครสามัคคี เป็นพี่เป็นน้องกัน พวกเรามองตากัน เราเป็นหมออยู่ในหัวใจของประชาชน มั่นใจว่าเราจะมีความรักสมัครสมาน ขับเคลื่อนงานสุขภาพร่วมกัน รวมถึงการดูแลเรื่องตำแหน่งบุคลากรต่างๆ ด้วย" นพ.ชลน่านกล่าว


ถามต่อว่าแสดงว่ายุคนี้จะไม่มีภาพม็อบต่างๆ เข้ามา นพ.ชลน่านกล่าวว่า ม็อบเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนหรือบุคลากร เราไม่ได้ปิดกั้น ยิ่งมีความต้องการแล้วเราตอบสนองความต้องการไม่ได้ การแสดงออกชุมนุมเรียกร้องเป็นปกติในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็เรียกร้องได้

ถามย้ำว่า National Health Board เป็นการฟื้นจากสมัย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สธ.ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตรงนั้นยังไม่เรียบร้อย แต่ว่าเท่าที่พูดคุยกันจะมีลักษณะของกรรมการกลางที่มีนายกฯ เป็นประธาน มีคณะทำงานตรงนั้น และจะมีโครงสร้างขององค์กรรองรับในส่วนบริหาร ถ้าเป็นแห่งชาติรัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะเข้าอยู่ทั้งหมด องค์กรอื่นๆ ภาครัฐเอกชนเข้ามา

ถามว่ากังวลหรือไม่ เพราะสมัยนั้นเกิดก็มีการโต้แย้งไม่อยากให้มีหน่วยงานนี้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่กังวล เราใช้เนื้องานการขับเคลื่อนงานเป้นหลัก การประสานบูรณาการสุขภาพเป็นการแยกส่วนในปัจจุบัน การตอบสนองความต้องการสุขภาพก็ประสิทธิภาพไม่ถึงตามที่เราต้องการ ผลิตภาพผลิตผลไม่เกิด ก็ต้องมารวมกัน ยืนยันว่าไม่ซ้ำซ้อน กฎหมายแต่ละฉบับมีคณะกรรมการรองรับ แต่ตรงนี้จะเป็นบอร์ดกลางดูทั้งหมด ซึ่งยังไม่มีกรรมการตรงนี้ เมื่อถามว่าจะเป็นการลดบทบาทของ สธ.หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ลดลง บทบาทของ สธ.จะเข้มแข็งมากขึ้น เป็นจุดเชื่อม เพราะบอร์ดนี้จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงาน สธ. เป็นกลุ่มนโยบายเท่านั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ฟังบอร์ด เรื่องส่วนใหญ่จะถูกเสนอไปจากแต่ละกระทรวง เราเน้นบูรณาการอุดช่องว่างตรงนี้


เมื่อถามว่าเมื่อมีการเสนอนโยบายหรืองบประมาณซ้ำซ้อน หน่วยงานนี้จะคัดกรองหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า หน่วยงานนี้จะออกมิตินโยบาย ไม่เกี่ยวกับการบริหารสู่การปฏิบัติ เพราะมีผู้บริหารกระทรวงรองรับอยู่แล้ว ตนก็รับนโยบายมาจาก ครม. ส่วนเรื่องแบ่งงานกับรัฐมนตรีช่วยนั้นยัง รอแถลงนโยบายเสร็จก่อน

ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายกัญชาทางการแพทย์จะเดินหน้าต่ออย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราเขียนชัดในนโยบายของรัฐบาลและกระทรวง วันนี้เราเน้นกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในทุกระบบครบวงตจร ไม่เฉพาะการรักษาอย่างเดียว แต่ต้องเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนถามว่าจะกลับเป็นยาเสพติดหรือไม่ ต้องดูกฎหมาย ขณะนี้ตัวกัญชาก็เป็นยาเสพติดตามที่ประกาศ ขณะนี้สารสกัด THC มากกว่า 0.2% เป็นยาเสพติด

ถามว่ายุคนี้จะเป็นยุคสมานฉันท์ ไม่เกินข้อขัดแย้ง นพ.ชลน่านกล่าวว่า มั่นใจอย่างนั้น ตนเข้ามาความเป็นพี่เป็นน้อง ความที่เคยทำงานด้วยกัน เข้าใจมิติการขับเคลื่อนบริบทต่างๆ แต่ละท่าน แต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่าย มีวัตถุประสงค์อะไรเราก็ทราบ เราทราบว่าการขับเคลื่อนตรงนั้นไม่ได้ทำไปเพื่อตนเอง ทำเพื่อประชาชน ตนมั่นใจว่าความสมานฉันท์ปรองดอง ร่วมกันแก้ปัญหา หันหน้าเข้าหากัน เอาสมองที่เป็นเลิศมารวมกัน มั่นใจว่าจะขับเคลื่อน มิติสุขภาพของประเทศได้

ถามว่าสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานจะเข้ามาพบเรื่องกำหนดชั่วโมงการทำงานแพทย์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ยินดี เราดูเชิงระบบทั้งหมด เราถือว่าเป็นปัญหาที่จะต้องช่วยกันดูแล


กำลังโหลดความคิดเห็น