xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เล็งเบิกจ่าย Per Visit เหมาจ่ายให้ รพ. รองรับนโยบายบัตร ปชช.ใบเดียว รักษาทุกที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช.เตรียมรองรับนโยบายยกระดับบัตรทอง หารือ รมว.สธ.คนใหม่พร้อมปลัด สธ.แล้ว ขีดเส้น 100 วันต้องเริ่มเห็นผล มีทั้งส่งเสริมสุขภาพ รักษา ฟื้นฟู และดูแลระยะท้าย คาดใช้งบเพิ่มไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท เล็งใช้เทคโนโลยีช่วยลดภาระงาน ส่วนบัตร ปชช.ใบเดียวรักษาทุกที เล็งทำเบิกแบบเหมาจ่ายต่อครั้ง หรือ Per Visit แต่ต้องศึกษารายละเอียดโรคและราคา หากรักษาครั้งหนึ่งราคาต่างกันมากอาจไม่ได้ผล เล็งเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาทุกสังกัด ข้อมูลเบิกจ่ายใช้มาตรฐานเดียวกัน

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมรองรับนโยบาย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมสนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนใหม่ เกี่ยวกับการยกระดับบัตรทอง 30 บาท ว่า ขณะนี้ สปสช.เตรียมพร้อมหลายรูปแบบ เราดูนโยบายของท่าน ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชนใบเดียวรับบริการที่ไหนก็ได้ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับ สธ.และขับเคลื่อนระบบของ สปสช. และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่คิดว่า จะทำได้ทันที คือ เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) หรือเรื่องชีวาภิบาล การไปรับยาที่ร้านยา เป็นต้น ซึ่งหลายส่วน สปสช.ทำลักษณะนำร่องไว้แล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ได้หารือกับ รมว.สธ. ท่านอยากให้ขยายไปทั่วประเทศ ก็กำลังประสานกับปลัด สธ.ในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะร้านยา ซึ่ง สธ.จะพิจารณาว่าจุดไหนเหมาะกับการนำร่องและขยายทั่วประเทศต่อไปในอนาคต ส่วนข้อเสนอให้เปิดร้านยา 24 ชั่วโมง เพื่อลดผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินมา รพ.นั้น มีความเป็นไปได้ แต่อยู่ที่ร้านยาพร้อมหรือไม่ มีเภสัชกรพร้อมหรือไม่ ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกหน่วยมาช่วยกันดู ปรับสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

"เท่าที่ดูนโยบายที่ รมว.สธ.ให้มานั้น เชื่อว่าการยกระดับบัตรทองจะมีต่อเนื่อง เช่น การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก จริงๆท่านอยากทำมะเร็งครบวงจร จากฉีดในเด็กหญิงระดับ ป.5 ก็อาจขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่ม รวมไปถึงตรวจสุขภาพจิตที่รพ.ใกล้บ้าน หรือผ่านเทเลเมดิซีน ท่านอยากให้เป็นจิตเวชครบวงจรแบบยกระดับใหม่ทั้งระบบ คำว่า จิตเวช ไม่ใช่แค่ รพ.เท่านั้น แต่ต้องมีสายด่วน ปัจจุบันมีสายด่วนสุขภาพจิต ต่อไปอาจมีสายด่วนวัยรุ่น Transgender มีระบบเทเลเมดิซีน จัดรับบพิเศษ วัดความรุนแรงกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น ซึ่งท่านคิดใหญ่กว่านั้น มีโปรเจกต์ที่ไปไกลเพื่อครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ต้องมีระบบในการให้ความรู้ว่า กลุ่มคนสุขภาพจิตเป็นกลุ่มที่เราต้องดูแล ต้องปรับทัศนคติใหม่ เน้นการเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา" นพ.จเด็จกล่าว
ถามถึงนโยบายยกระดับบัตรทองภาพรวมมุ่งเน้นเรื่องใดหรือกลุ่มไหนเป็นพิเศษ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ประเด็นจะมีตั้งแต่ 1.สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ฉีดวัคซีน ท่านอยากยกระดับ ซึ่งได้เรียนท่านว่าปัญหาค่าใช้จ่ายทุกสิทธิเกี่ยวกับงบสร้างเสริมสุขภาพฯ ดำเนินการได้แล้ว ท่านก็คงนำจุดนี้เป็นตัวตั้งต้นแล้วยกระดับเรื่องนี้ต่อ 2.การรักษาพยาบาล อย่างการสร้าง 50 รพ.ใน กทม. รับยาที่ร้านยา การนัดหมอ การใช้บัตรประชาชนใบเดียว 3.การฟื้นฟูสุขภาพ จะมีการดูแลประเด็นสุขภาพจิต และ 4.การดูแลระยะท้าย หรือ ชีวาภิบาล จะมองตั้งแต่ระบบการดูแลระยะยาว (Long–term care) ติดบ้านติดเตียง อาจใช้หน่วยอื่นเข้ามาทำ แต่จะยกระดับทั้งหมดครบวงจร
ถามว่างบประมาณต้องปรับเพิ่มหรือไม่อย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราพิจารณานโยบายของทุกพรรคเกี่ยวกับสุขภาพรวม 37 นโยบาย คิดเป็นงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเสนอบอร์ด สปสช.ไปแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีรัฐบาล ปัจจุบันเป็นพรรคเพื่อไทย เนื่องจากได้รัฐบาลแล้ว จากการพิจารณานโยบายก็ไม่น่าถึง 37 นโยบายแล้ว ก็น่าจะใช้งบประมาณไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังแถลงนโยบายหากมีการปรับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพฯใหม่ ต้องปรับงบประมาณก็จะต้องเสนอบอร์ด สปสช.ใหม่อีกครั้ง


เมื่อถามว่าตรงนี้จะกลายเป็นการเพิ่มภาระงานบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ นพ.จเด็จกล่าวว่า ได้หารือกับปลัด สธ.แล้ว ว่าถ้ามีสิทธิประโยชน์อะไรใหม่ ปลัด สธ.จะรับไปดูให้ ดูก่อนว่าภาระงานดังกล่าวกระทบบุคลากรหรือไม่ ถ้ากระทบจะมีค่าตอบแทนอะไรที่สมน้ำสมเนื้อหรือไม่ หรือจะขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้บุคลากรอื่นเข้ามาช่วยได้หรือไม่ อย่างร้านยาภาระจะไปเกิดกับร้านยา จะลดภาระความแออัด รพ.ลง การใช้เทเลเมดิซีนจะลดภาระงานลง สายด่วนสุขภาพจิตก็จะลดภาระ รพ.ลง จริงๆ ไม่ใช่ทุกเรื่องจะเพิ่มภาระเจ้าหน้าที่ แต่ต้องมาดู การที่มีการนัดหมายคุณหมอก่อน จะทำให้การเข้าพบไม่แน่น ทั้งหมดจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบอยู่ แต่ก็มีบางเรื่องที่เพิ่มภาระงาน เช่น จากเดิมวัคซีนฉีดปีละ 4 แสนคน ปีนี้อาจต้องฉีดเพิ่มเป็นล้านคน ตรงนี้ก็ต้องปรึกษากับ สธ.ว่า บุคลากรจะไหวหรือไม่ ซึ่ง สธ.ก็ต้องเสนอค่าตอบแทน ส่วน สปสช.จะจ่ายเป็นค่าบริการ เช่น ฉีดวัคซีน 1 เข็มเราให้ 20 บาท หาก 10 ล้านเข็มก็ต้องเตรียมเงิน 200 ล้านบาทให้ รพ. เมื่อได้เงินไปก็อาจไปจ่ายค่าตอบแทนโอทีอะไรไปเป็นเรื่องของ สธ. ส่วนกำลังคนมาให้บริการ สธ.ก็จะเป็นคนจัดหา

ถามต่อว่าการจะขับเคลื่อนนโยบายใหม่ๆ ต้องนำเทคโนโลยีอะไรเข้ามารองรับให้สำเร็จหรือลดภาระงานลงไปได้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ถูกต้อง อย่างบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เรียกว่า เป็น Digital Transformation ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามขอให้ไปที่ไหนก็ได้ แต่เบื้องหลังต้องบูรณาการข้อมูลให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ยังต้องมีใบส่งตัวถึงจะไปรักษาอีกแห่ง แต่วันนี้ยังไม่ 100% ซึ่งบางเขตสามารถทำได้ แต่เมื่อเป็นนโยบายสำคัญจะต้องทำให้ได้ทั้งประเทศ เชื่อว่า สธ.จะเป็นแม่งานใหญ่เป็นเจ้าภาพบูรณาการข้อมูลเข้ามา ส่วน สปสช.ก็ต้องมีเจ้าภาพในการบูรณาการข้อมูลเบิกจ่ายทุกสังกัด ทั้งเอกชน โรงเรียนแพทย์ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมา สปสช.จัดทำงบประมาณโดยใช้งบเหมาจ่ายรายหัวให้แก่ รพ. แต่หากไปที่ไหนก็ได้ จะมีการปรับเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายรองรับอย่างไร นพ.จเด็จกล่าวว่า ที่หารือกันวันที่ 6 ก.ย. คือ จะเรื่องของการเบิกจ่ายที่เรียกว่า Per Visit เพราะหากเป็นรายหัวคนไข้ไปที่ไหนแล้วเงินอยู่ไหน อาจจะต้องเตรียมเงินไว้สำหรับ Per Visit เพื่อให้เกิดว่าไปรักษาที่ไหนมีคนไปจ่ายแน่ เป็นประสบการณ์ที่เราเคยทำ แต่เป็นลักษณะ Per Item อย่างยาแต่ละเม็ดเราก็จะคิดและจ่ายตามให้ รพ.ที่รักษา แต่กรณี Per Visit คือ 1 ครั้งไปเราอาจจะเหมา 1 ครั้งไปเลย ซึ่งก็ต้องไปพิจารณากลุ่มโรคว่าจะเป็นอย่างไร งบประมาณต่อครั้งควรเป็นเท่าไร ส่วนเงินเหมาจ่ายรายหัวยังให้ตามปกติ แต่เวลาไปที่ไหนก็ได้ต้องมีอีกก้อนไปเป็น Per Visit เราจะตามจ่ายให้ ข้อมูลที่ผ่านมามีไม่ถึง 20% ที่มีการเดินทางข้ามจังหวัดไปรักษา เราก็ต้องเตรียมไว้ตรงนี้สำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) แต่ผู้ป่วยในเราจะมีเงินอีกคือ DRG แยกกัน ถ้า รพ.รู้ว่าจ่ายแน่เขาจะไม่กังวล

"การใช้ระบบ Per Visit หลักการคือ ไปที่ไหนใช้บัตรประชาชนไปพิสูจน์ตัวตนก่อน เราจะมีรหัสไปสู่ รพ. เมื่อบริการไปห้องเก็บเงิน รพ.เชื่อมโยงคิวอาร์โคดกับรหัส ระบบเราก็รู้ทันที เราก็เตรียมเงินจ่ายเลย ไม่ต้องมีใบอะไร แต่การที่ รพ.จะรู้ประวัติคนไข้คืออีกระบบหนึ่ง ต้องเชื่อมข้อมูลไปที่คลาวด์ ว่าเคยได้ยาอะไร ซึ่งเมื่อก่อนต้องใช้ใบส่งตัว แต่ถ้าระบบดีๆ จะไม่ต้อง อย่างจากเชียงใหม่มารักษานครปฐม รพ.เชียงใหม่ก็ต้องส่งข้อมูลขึ้นไปบนคลาวด์ รพ.นครปฐมก็ไปดึงข้อมูลมา" นพ.จเด็จกล่าว


ถามว่างบประมาณสำหรับ Per Visit จะจ่ายครอบคลุมการรักษาทุกโรคหรือไม่ หรือมีข้อจำกัดอะไรหรือไม่ นพ.จเด็จกล่าวว่า เดิมบางโรคเราจ่าย Per Item เช่น จ่ายยา เราก็จ่ายยา แต่ Per Visit คือ 1 ครั้งที่ไปเราจะเหมาจ่ายเท่าไร ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ว่าจะเหมาะไหม ซึ่งอาจจะเหมาะกับราคาที่ไม่ต่างกันมาก เช่น 110-130 บาท เราเฉลี่ยจ่าย 120 บาทได้หรือไม่ แต่ถ้ามาครั้งหนึ่งมีตั้งแต่ 100-5,000 บาท Per Visit อาจไม่ค่อยได้ผลแล้ว เราคงต้องศึกษาดูว่าดีเทลคืออะไร แล้วเราจะจ่ายอะไร หลักคือจ่ายเหมาไปก่อนตั้งต้น แต่เราจะกันส่วนหนึ่งมาตามจ่ายกรณีวิ่งไปวิ่งมา

ถามว่าการมี Per Visit จะช่วยลดคนไม่ฉุกเฉินไปฉุกเฉินได้หรือไม่ โดยเฉพาะ รพ.ใหญ่ นพ.จเด็จกล่าวว่า จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ รพ.ว่าไม่ต้องไปทำธุรการมากมาย สปสช.จะมาเคลียร์เอง ส่วนคนไปไม่ไปอีกเรื่องหนึ่ง หลังจากนำร่องไปที่ไหนก็ได้ในระบบบริการปฐมภูมิ พบว่าคนออกนอกจังหวัดไม่เกิน 20% ส่วนโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ มีการข้ามจังหวัด ข้ามเขตเพียง 4% แสดงว่า 80% อยู่ในจังหวัด อาจข้ามอำเภอบ้างนิดหน่อย เพราะค่าใช้จ่ายการเดินทางมันสูงเกินไปที่ประชาชนจะวิ่งไปอย่างอิสระ ส่วนที่ว่าจะวิ่งไปรักษาโรงเรียนแพทย์ รพ.ใหญ่ๆ ก็เป็นข้อสมมติฐาน แต่ความเป็นจริงยังไม่เกิดตรงนั้น มองว่าหากเราทำ รพ.ในจังหวัดให้ดีมีคุณภาพ มีเครื่องมือแพทย์พร้อม มีเทคโนโลยี เขาไม่อยากเดินทางไกลแน่นอน

ถามว่าสปสช.พร้อมยกระดับตรงนี้ได้เมื่อไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการหารือท่านรัฐมนตรีฯ ก็อยากให้ทำเร็วที่สุด อย่าง 100 วัน 3 เดือนต้องเกิดอะไรขึ้น ซึ่ง สปสช. เราทำส่วนการเงิน เราพร้อมอยู่แล้ว เพราะระบบเรามี เพียงแต่เราต้องดึงระบบจาก รพ.มาเพื่อทำเรื่องเบิกจ่าย หาก รพ.พร้อม เราก็พร้อม ทั้งนี้ มองว่า เริ่มแรกอาจไม่ได้ทำทั่วประเทศทันที เพราะรพ.มีหลายสังกัด แต่อาจนำร่อง และเริ่มจากรพ.ในสังกัด สธ. แต่หากทุกสังกัด รมว.สธ.ก็ต้องบูรณาการ

ถามว่า รพ.แต่ละสังกัดทั้ง สธ. โรงเรียนแพทย์ กลาโหม ใช้โปรแกรมไม่เหมือนกัน นพ.จเด็จกล่าวว่า ก็ต้องประกาศมาตรฐานเดียวกัน ต่อให้มี 100 โปรแกรมก็มาตรฐานเดียวกัน เราประกาศมาตรฐานไปแล้ว เช่น บันทึกเพศชาย เพศหญิง ทุกโปรแกรมต้องเขียนเลขรหัสเดียวกันหมด ส่วนนี้จะช่วยลดภาระบุคลากร ไม่ต้องคีย์ข้อมูล เพราะเทคโนโลยีจะอำนวยความสะดวกมากขึ้นดูดข้อมูลเอง คือ API ไปเชื่อม แปลงข้อมูลเข้าสู่สแตนดาร์ดและเข้าสู่เกตเวย์เป็นหน้าฐานเดียวกัน ดังนั้น หาก รพ.อนุญาตให้เชื่อมข้อมูล บุคลากรแทบไม่ต้องคีย์ข้อมูลเพิ่มเติม เราสามารถดึงข้อมูลเข้าระบบได้ แต่อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สปสช.ก็ทำร่วมกับโรงเรียนแพทย์แล้วเช่นกัน อย่างรามาฯ ศิริราช เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น