xs
xsm
sm
md
lg

"หมอประสิทธิ์" ชี้ยกระดับ "บัตรทอง" ใช้บัตร ปชช.ใบเดียว ต้องรักษา 3 สมดุล แนะเติมเงิน-ปรับปรุงระบบเบิกจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอประสิทธิ์" ชี้นโยบายยกระดับ "บัตรทอง" ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ต้องรักษาสมดุล 3 เหลี่ยมสุขภาพ ทั้งการเข้าถึง ค่าใช้จ่าย และคุณภาพ แนะเติมเงินเข้าระบบหลักประกันฯ หลังต่ำกว่าที่ควรเป็นอยู่แค่ 4% จีดีพี ย้ำต้องลด Waste ในระบบ ปรับปรุงระบบเบิกจ่ายหลัง จากจัดบริการภายใต้งบ หันทิศสู่เบิกจ่ายตาม Value ที่เกิดกับคนไข้ หนุน รพ.ปรับตัวใช้เทคโนโลยีช่วยลดภาระงาน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนโยบายการยกระดับบัตรทองของรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า โมเดลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) มีหลายประเทศนำไปใช้ไม่เฉพาะประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่ผ่านมาถามว่าเราใช้ระบบนี้แล้วประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ คำตอบคือ ได้ แต่ต้องขออธิบายก่อนว่า จะมีเรื่องของ Iron Triangle หรือสามเหลี่ยมเหล็กของระบบบริการสุขภาพ ที่จะมียอด 3 ด้าน คือ ด้านการเข้าถึง ด้านค่าใช้จ่าย และด้านคุณภาพ ซึ่งต้องอยู่ในสมดุลสามเหลี่ยมเหล็กนี้ คีย์เวิร์ดของระบบหลักประกันสุขภาพฯ คือ การทำให้ประชาชนเข้าถึงได้มาก ด้วยคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับ และค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

"หากมาตีความหมายคำว่าคุณภาพเป็นที่ยอมรับคือแค่ไหน ก็จะเห็นว่าความหมายกว้างมาก บางคนบอกแค่นี้ไม่พอ บางคนบอกพอ ก็ต้องมีหลักการว่า ถ้าเราใช้คุณภาพแบบนี้ อัตราการเสียชีวิตเราควบคุมได้ และค่าใช้จ่ายเราสามารถกระจายไปให้คนจำนวนเยอะ ถ้าเฉพาะบางอย่างที่คุณภาพสูงมาก ค่าใช้จ่ายเยอะจริง แต่สุดท้ายไม่เหลือเงินที่จะสามารถไปใช้กับคนจำนวนเยอะ ก็จะไปเสียที่สามเหลี่ยมตัวหนึ่ง" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การจะยกระดับหลักประกันสุขภาพฯ สิ่งสำคัญคือ "เงิน" ต้องมาด้วย ซึ่งตอนนี้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของเราต่ำกว่าที่ควรเป็น เมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ประเทศทั่วไปแนะนำว่าอย่างน้อยต้องประมาณ 6% ของจีดีพี ของเราอยู่ที่ประมาณ 4% แปลว่าเงินที่ลงมาในระบบนี้มันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น การยกระดับคือสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นกับคนไทย มีของมีผลเกิดขึ้น แต่ไม่ใส่เงินเข้ามาระบบนั้นเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันต้องกำจัด Waste คือ สิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือทำให้เกิดความสูญเสียบางอย่างที่เกิดขึ้นในระบบ ในแง่วิชาการและทฤษฎี ระบบการเบิกจ่าย (Reimbursement) มีบางอย่างที่ลูกศรไปผิดด้าน ต้องแก้ไขสิ่งเหล่านี้ต้องคุยกันอีกพักหนึ่ง

"ผมเห็นด้วยกับหลักการว่าจะต้องยกระดับบัตรทอง เพื่อให้เกิดประโยชน์เกิดขึ้น แต่ต้องลด Waste กลับมาทบทวนระบบใหม่ ต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่ชัดเจนมากขึ้น คนไทยก็จะได้ประโยชน์" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว


ถามว่าลูกศรเรื่องการเบิกจ่ายที่ไปผิดทางคือเรื่องอะไร ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ในบางประเทศการเบิกจ่ายจะกำหนดว่าเบิกจ่ายตามผลประโยชน์หรือคุณค่า (Value) ที่คนไข้ได้ เช่น เข้ามาด้วยโรคนี้ ประโยชน์ของคนไข้จะเกิดแบบนี้ อะไรที่ทำให้คนไข้ได้จะต้องจ่ายหมด อะไรที่ไม่ใช่จะไม่จ่าย แต่ระบบของเราจุดเริ่มต้นอาจจะมองเงินเป็นตัวตั้ง แล้วพยายามมาตัดกรอบระบบบริการที่ให้อยู่ภายใต้งบประมาณ ซึ่งจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งอาจต้องเริ่มแบบนี้ เพราะงบประมาณไม่เยอะ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับมาทบทวนเรื่องงบประมาณ อาจจะต้องเอียงมาตรงนี้ คือ Value Base Healthcare คือ Output หารด้วย Input โดย Output คือ Value หรือคุณค่าที่คนไข้จะได้ ส่วน Input คือ เงินที่เราใส่เข้าไป ต้องทบทวนในส่วนนี้ ซึ่งนักวิชาการ สปสช. ต้องคุยกัน ก็มีการหารือกันดีมาก ตอนนี้อยู่ในกระบวนการ อย่างหน่วยวิจัยระบบสุขภาพของศิริราชก็มาจับมือกับ สปสช. สามารถมาดึงข้อมูล สปสช. เพื่อเอาข้อมูลใหญ่ๆ เยอะๆ ไปทบทวนวิเคราะห์เชิงวิจัยย้อนกลับออกมาว่า ระบบมี Waste ตรงไหน ตรงไหนที่สามารถทำให้ Value เพิ่มมากขึ้น

เมื่อถามว่าอย่างนโยบายยกระดับบัตรทองด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียว จะทำให้ระบบสามเหลี่ยมบริการสุขภาพเสียสมดุลหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การใช้บัตรประชาชนคงไปเน้นเรื่องของการเข้าถึงได้ง่าย แต่ก็ต้องไปแก้ตรงนี้ เพราะปัจจุบันตราบใดที่ยังมีบัตรประชาชนเทียมสวมรอยอยู่ ก็จะกลายเป็น Waste ในระบบทันที ก็ต้องไปควบคุมส่วนตรงนั้น แต่สะดวกตรงที่ว่าคนไทยทุกคนต้องมีบัตรประชาชนอยู่แล้วติดตัว ก็สามารถใช้เป็นไอดี ถ้าระบบเชื่อมโยงกันได้ดีทั้งประเทศ คนไทยไปที่ไหนไม่เฉพาะโรงพยาบาลประจำอย่างเดียว ซึ่งตอนนี้ก็กำลังมีอย่าง เจ็บป่วยไปรักษาปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ขอแค่มีบัตรประชาชนเป็นไอดีว่าเป็นคนไทย ก็จะวิ่งเข้าสู่ระบบ ถามว่ามีประโยชน์ไหม เชื่อว่ามีประโยชน์

ถามต่อว่ามีข้อกังวลว่านโยบายเช่นนี้จะทำให้เพิ่มภาระงานบุคลากร ซึ่งปัจจุบันบุคลากรก็ไม่เพียงพอและมีภาระงานหนักอยู่แล้ว ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า เทคโนโลยีต้องเข้ามาช่วย สมัยก่อน 10-20 ปีที่แล้ว จะระบุตัวตนต้องไปที่เวชระเบียน เอาบัตรประชาชนไปนั่งเช็กดูแฟ้ม แต่วันนี้เสียบบัตรประชาชนสิทธิประโยชน์ขึ้นแล้ว ก็ลดจำนวนคนลง คิดว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้คนที่อาจเท่าเดิมหรือลดลง ส่วนงบประมาณที่จะลงทุนเรื่องเทคโนโลยีนั้นอาจจะดูเยอะในช่วงต้น แต่ Maintenance การซ่อมบำรุง ไม่ได้เยอะ อยู่ที่การออกแบบระบบให้ดี ต้องรองรับคนที่เข้ามาใช้ ไม่ใช่ว่าออกแบบมา คนใช้ 1 ล้านคนได้ 5 ล้านคนได้ แต่พอ 10 ล้านคนเริ่มเดี้ยง

ผู้สื่อข่าวถามว่านโยบายลักษณะนี้จะแก้ปัญหาในกระทรวงสาธารณสุข ที่มีปัญหาบุคลากรลาออกได้หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ตรงนี้จะเป็นอีกเรื่อง คือ ภาระงานมาก (Work Load) และการกระจายจัดสรรอัตรากำลังที่เหมาะสมกับภาระงานในพื้นที่ ซึ่งจะไม่ได้ผูกแค่จำนวนคนอย่างเดียว แต่รวมถึงคุณภาพชีวิตในพื้นที่ด้วย หากมีคุณภาพชีวิตที่ดีเขาก็ไม่ย้าย ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ปัญหามิติเดียว ต้องแก้ไขหลายมิติไปพร้อมๆ กัน

ถามอีกว่าหลายพื้นที่ค่อนข้างกังวลว่านโยบายใหม่จะทำให้คนไข้แห่เข้ามาและเพิ่มภาระงาน ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ยกตัวอย่าง โรคบางโรคไม่ได้จำเป็นต้องมา รพ. บางโรคสามารถทำเทเลเมดิซีนได้ ไม่ต้องมาเอายาที่ รพ. ภาระงานก็จะลดลง แต่บริการไม่ได้ลดลง คือ เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการสุขภาพเท่านั้นเอง ต้องวางระบบใหม่

"ผมห่วงมากเรื่องอัตรากำลัง เห็นน้องๆ ที่ลาออก ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องวิกฤตของประเทศ ต้องแก้เรื่องนี้ให้ดี และการแก้ต้องดูหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่ค่าตอบแทนอย่างเดียว เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย ภาระงานหรือโหลดที่ไม่จำเป็นที่ต้องเข้ามาโหลด ควรจะแก้ไขอย่างไร อันนี้ต้องคิดหลายชั้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น