สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสายงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดกิจกรรม เปิดโลกกิจกรรม “New Style New Inspiration” ผลักดันกิจกรรมที่นักศึกษาชอบและสนใจ ควบคู่กับแนวคิดความยั่งยืน เพื่อพัฒนาศักยภาพประเทศไทย เดินหน้าก้าวไกลด้วย “พลังคนรุ่นใหม่” โดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีพิธีเปิดงานโดย ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
งานนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้เลือกกิจกรรมที่ตนเองสนใจตามความชอบ ทั้งกิจกรรมทั่วไป และเลือกชมรมที่สนใจ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งความสามารถและแลกเปลี่ยนส่งต่อองค์ความรู้ที่สนใจต่างๆ รวมถึงการร่วมกันทำกิจกรรมที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม ตามหนึ่งในพันธกิจหลักการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยที่เน้นทั้งกิจกรรมและความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ
ภายในงานนักศึกษาจะได้เดินเลือกกิจกรรมที่สนใจผ่านซุ้มของชมรมมากกว่า 20 ชมรม และยังมีเวทีการประกวด DPU Smart Activity ที่เฟ้นหาตัวแทนทูตกิจกรรมประจำมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2 คน จากทุกคณะและวิทยาลัย นอกจากนี้ นักศึกษาที่เข้าร่วมยังได้แต้มคะแนน D-Point สะสมเพื่อแลกรับของรางวัลและเกียรติบัตรอีกด้วย
อาจารย์นิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) อธิบายถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของเปิดโลกกิจกรรม “New Style New Inspiration” ว่า งานนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นเวทีผลักดันแสดงออกความสามารถต่างๆ ของนักศึกษาในสิ่งที่นักศึกษาสนใจ และเปิดโลกทัศน์ของนักศึกษาให้กว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาในการนำไปประยุกต์และปรับใช้ในทุกมิติชีวิต นับตั้งแต่วินาทีนี้และอนาคตหลังจบการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย
“เด็กนักศึกษาเขาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยในอันดับแรกคือเพื่อมาเรียน และลำดับถัดมาที่เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ งานอดิเรกกิจกรรมสิ่งที่สนใจ ซึ่งในส่วนนี้ในมหาวิทยาลัยเราอยากจะโฟกัสให้มากขึ้น เพราะชีวิตมนุษย์เราไม่ได้มีแต่เรื่องของหน้าที่การทำงานเท่านั้น หากแต่ชีวิตเรายังมีสิ่งที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนทั้งร่างกายและจิตใจให้เกิดการพัฒนาศักยภาพทุกมิติชีวิต”
เช่นเดียวกับบรรดาผู้คนที่ 'ประสบความสำเร็จ' มากมายบนโลกนี้ ล้วนแล้วแต่มีกิจกรรมความสนใจเฉพาะบุคคลเป็นแรงบันดาลใจอยู่เบื้องหลัง และท่ามกลางโลกในยุคปัจจุบันที่มีสิ่งรอบตัวใหม่ๆ ก่อเกิดขึ้นเสมอ นักศึกษาอาจจะไม่ทันได้รับรู้หรือได้ลองสัมผัสกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้พลาดโอกาสที่จะเรียนรู้และทดลอง ซึ่งในฐานะของสถาบันการศึกษา คณาจารย์จึงต้องการที่สนับสนุนและแนะนำกิจกรรมต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงที่ยังอยู่ในวัยเรียนรู้และค้นหา
“ลักษณะก็คล้ายๆ กับสมัยก่อนที่เมื่อได้ยินคำว่า 'ชมรม' อาจจะนึกถึง 'ค่ายอาสาพัฒนา' หรือชมรมอื่นๆ ที่คุ้นหูและมีมายาวนาน ซึ่งล้วนเป็นชมรมที่ดีและสร้างประโยชน์ต่อสังคม แต่ทุกวันนี้นักศึกษาก็มีความสนใจในเรื่องใหม่ๆ ที่มากขึ้นจนรวมตัวกันเป็นชมรม E-Sport และชมรมวิจัยและพัฒนาเกมที่มาออกงานด้วยในวันนี้ และเพิ่งจะก่อตั้งเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา แต่เขามีเกมที่ดีที่สร้างเสร็จแล้ว เป็นเกมคัดแยกขยะที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเพราะสามารถให้ผู้เล่นเรียนรู้เรื่องประเภทขยะแต่ละประเภท ช่วยให้เกิดความเข้าใจเหตุใดถึงควรคัดแยกขยะ ทำไมสังคมทั้งโลกจึงตระหนักเรื่องนี้
“เราเป็นอาจารย์ก็อยากจะแนะนำเรื่องต่างๆ ในวันนี้ให้แก่เด็กนักศึกษา และหากนักศึกษาสนใจเราก็สนับสนุนให้เกิดเป็นชมรมให้เขาได้ทำกิจกรรม ในปีนี้เราเน้นเลยว่าการสร้างชมรมไม่ใช่แค่พัฒนาความสามารถในด้านนั้นๆ แต่ 20-30% ของกิจกรรมควรจัดให้มีการแบ่งปันความรู้สู่คนอื่นๆ ที่สนใจด้วย เพราะเด็กคุยกับเด็กสื่อสารกันง่ายและเกิดแรงผลักที่ดีที่สุด ความรู้เหล่านี้ก็จะเป็นองค์ความรู้ที่เป็นแบบแผนต่อกันรุ่นต่อรุ่น เด็กรุ่นที่ทำนี้อีก 2-3 ปีเขาเรียนจบแล้ว แต่ถ้าเขารู้จักแบ่งปันเขาจะสามารถสร้างเด็กรุ่นใหม่ข้างหลังขึ้นมาสานต่อ ทีนี้สังคมก็เกิดการพัฒนาเกิดการขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้นที่เขาได้ทำในปีนี้ เป็นความยั่งยืนเล็กๆ ที่เราเริ่มสร้างกันในปีนี้”
ขณะที่ในส่วนของกิจกรรม “DPU Smart Activity” นอกเหนือไปจากบูทชมรมกว่า 30 ชมรมในวันนี้ของนักศึกษา อาจารย์นิติ ระบุว่า เกิดจากการที่นักศึกษารวมตัวกันผลักดันถึง 'ไอดอล' คนต้นแบบที่จะเป็นตัวแทนหรือทูตกิจกรรมให้พวกเขานั้นก้าวเดินตามรอยได้อย่างจริงจังและสม่ำเสมอ โดยคุณสมบัติที่นักศึกษาต้องการ 4 ข้อ คือ 1. ทัศนคติที่ดี 2. สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี 3. มีความโดดเด่นในเรื่องของการสื่อสาร 4. ความสามารถพิเศษ ซึ่งเป็น DNA และ Future Workforce ทักษะในอนาคตที่เป็นประโยชน์แก่นักศึกษา
“กิจกรรมนี้จะเหมือนกับการคัดเลือกดาว-เดือน ที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียง เป็นตัวแทนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ผู้ที่ได้รับตำแหน่งในวันนี้ จะนำเสนอแล้วก็สร้างการมีส่วนร่วมของเพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆ ชั้นปีการศึกษาต่างๆ ได้ เรียกว่าอยากทำกิจกรรมอะไร ทูตกิจกรรมคนนี้จะรู้หมด และสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยให้เป็นระบบได้”
“เราก็เลยจัดอีกกิจกรรมหนึ่งขึ้นมานอกจากการออกบูทชมรมให้นักศึกษาได้เปิดโลกทัศน์ และค้นหาคุณค่ารวมไปถึงสิ่งที่ตนเองชอบ เนื่องจากเกี่ยวข้องตรงพอดีกับทักษะในอนาคต Future Workforce และ DNA ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทั้งเรื่องการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความยั่งยืน
“ทั้งนี้ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และสายงานกิจการนักศึกษา DPU ยังได้ถือโอกาสเปิด โครงการ Green University ทิ้ง เทิร์น ให้โลกจำ กับการเฟ้นหาสุดยอดมหาวิทยาลัยสีเขียว โครงการ YOUเทิร์น การเปลี่ยนขยะพลาสติกรีไซเคิล ให้กลายเป็นสินค้าที่น่าใช้ ที่ริเริ่มโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และโครงการ AIS Sustainability ของ 11 มหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่นักศึกษา มาร่วมเป็นกิจกรรมหลักในปี 2566 ด้วย ซึ่งทั้งหมดก็คือการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษ และปลูกฝังเรื่องพลเมืองที่ดีควบคู่ความรู้” อาจารย์นิติ กล่าวทิ้งท้าย