"ผอ.กรีนพีซประเทศไทย" เผยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไม่อยากให้กังวลถึงขั้นงดนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แต่ก็อย่าละเลย อย.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ห่วงปนเปื้อนสู่ห่วงโซ่อาหาร ชี้ปัญหา PM 2.5 ปีนี้หนักและลากยาว เหตุแผนฝุ่นแห่งชาติไม่คืบหน้า บวกภัยแล้ง เอลนีโญเต็มร้อย
วันที่ 1 ก.ย. 2566 นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "น้ำเสียนิวเคลียร์ญี่ปุ่น ถึงฝุ่น 2.5 ของไทย"
นายธารากล่าวในช่วงหนึ่งว่า กรณีปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ในปริมาณที่ปลอดภัย ไม่อยากให้กังวล แต่ก็อย่าละเลย สำหรับไทยเรามี อย.ทำหน้าที่ยกระดับในการตรวจตราให้มากขึ้น อาจไม่ต้องถึงขั้นห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แต่ต้องคัดกรอง ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากวันใดวันหนึ่งไม่มีใครรู้ว่าน้ำทิ้งฟุกุชิมะที่ลงมหาสมุทรแปซิฟิกปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ทางการไทยจำเป็นต้องตื่นตัวตลอดเวลาเพื่อปกป้องผู้บริโภค
การที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่จะเข้ามาเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตนคิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมันแยกโดดเดี่ยวไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การที่รัฐมนตรีใหม่มา แล้วก็จะเป็นรองนายกฯ ด้วย และน่าจะเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และประธานอีกหลายอันที่เกี่ยวข้อง เป็นบทบาทที่มีความสำคัญมาก มันเป็นการท้าทายวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม โลกเดือด ต้องติดตามว่าการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายจะสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะจับตาดูบทบาทรัฐบาลใหม่
นายธารายังกล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังจะมาปลายปีว่า แก้ยากมาก แผนฝุ่นแห่งชาติทำไปได้ 30% ที่เหลือทำบ้างไม่ทำบ้าง สองวันก่อนศาลปกครองตัดสินให้กระทรวงอุตฯ ทำทำเนียบการปลดปล่อยมลพิษออกมา ศาลบอกว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องล่าช้าหลายเรื่อง พฤศจิกายนนี้แล้งเริ่มมา เอลนีโญเต็มร้อย จำนวนวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานจะขยายเพิ่มขึ้นๆ อาจลากยาวถึง 6 เดือน จะหนักกว่าปีที่แล้ว