ตระหนกทั่วโลก สะเทือนถึงไทย!! ญี่ปุ่นปล่อย “น้ำปนเปื้อนรังสี” จากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ “ฟุกุชิมะ” ลงทะเล แม้บำบัดแล้ว แต่ยังถูกตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย มากกว่านั้นคือเสี่ยงละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนแห่ง “น่านน้ำแปซิฟิก”
ปลอดภัยตาม “มาตรฐานญี่ปุ่น”
กลายเป็นประเด็นถกเถียงฮือฮาในวงการสิ่งแวดล้อมโลก เมื่อ “ญี่ปุ่น” กำลังจะตัดสินใจปล่อยน้ำเสียจาก “โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ลงทะเล พร้อมยืนยันว่าปลอดภัย แต่ก็ไม่วายมีกระแสความกังวลใจ จากทั้งในและนอกประเทศ
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะถูก “คลื่นสึนามิขนาดยักษ์”ซัดเข้าใส่ จนทำให้เกิดความเสียหาย กระทั่งกลายเป็นการปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา
โดยหลังจากเกิดเหตุ “โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ” ยังคงผลิตน้ำเสียมาจากน้ำบาดาลและน้ำทะเล ที่ใช้หล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ ถึงวันละ 100 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งหมดจะผ่านการกรองและนำไปเก็บไว้ในแทงก์น้ำ
ตอนนี้ปริมาณน้ำที่สะสมมาตั้งแต่เกิดภัยพิบัตินั้นใกล้จะเต็มแล้ว คาดว่าจะถึงขีดจำกัดในช่วงต้นปี 2024 ทำให้ต้องตัดสินใจปล่อยน้ำดังกล่าวลงสู่ทะเล แต่น้ำที่ปนเปื้อนรังสีเหล่านี้ ได้ผ่านระบบบำบัดจนขจัดสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ได้แล้ว ยกเว้น “ทริเทียม”
ทางญี่ปุ่นยืนยันว่า ได้เจือจางน้ำเสียเหล่านี้ เพื่อลดระดับ “ทริเทียม”ให้เหลือประมาณ 1 ใน 7 ตามแนวทางความปลอดภัย สำหรับน้ำดื่มตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO)กำหนดขั้นตอนทั้งหมดนี้ได้การอนุมัติจาก “ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)”
และล่าสุด ทางบริษัท “Tokyo Electric Power Company (TEPCO)”ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประกาศว่า การปล่อยจะน้ำในวันที่24ส.ค.ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่เวลา 13.03 น. ซึ่งยังไม่พบความผิดปกติใดๆ
“น้ำผสมรังสี” จะมาถึงไทยหรือเปล่า?
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้หลายคนกังวลว่า “ทะเลไทย” จะมีผลกระทบหรือเปล่า? ทีมข่าวจึงสอบถามไปยัง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ และได้คำตอบดังนี้
“คืออย่างแรกที่เราทราบกันดีนะครับ คือมันเป็นน้ำกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้ว ค่าต่างๆก็ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ตามที่เขาอธิบาย เพราะฉะนั้น ถ้าถามในแง่ของมาตรฐาน ก็ไม่ได้เป็นน้ำที่ไม่ผ่านเกณฑ์หรืออะไร”
อาจารย์บอกถึง 2 สาเหตุที่ทำให้ไม่มีทางกระทบถึงทะเล และสัตว์น้ำในไทยอย่างแน่นอน คือ 1.เรื่องของระยะทางระหว่างอ่าวไทยและฟุกุชิมะ และ2.เรื่องของกระแสน้ำ
“ฟุกุชิมะกับอ่าวไทยห่างกัน 5,000 กว่ากิโลฯ นั่นคือข้อแรก ข้อที่สองคือกระแสน้ำ กระแสน้ำนั้น เขาเรียกว่า คุโรชิโอะ มันไหลขึ้นข้างบน หมายความว่ามันไหลจากฟิลิปปินส์ มุ่งหน้าไปญี่ปุ่น”
เพราะฉะนั้น การที่กระแสน้ำจะไหลย้อนกลับเป็นไปไม่ได้น้ำที่ถูกปล่อยออกมาจะไหลขึ้นไปทางเหนือของประเทศญี่ปุ่น “ทั้งระยะและรูปแบบของกระแสน้ำ คงไม่เกี่ยวอะไรกับประเทศไทย”
“แต่ถ้าเกิดจะสะสมตัว มันก็ต้องสะสมตัวทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอาจจะใช้เวลาเป็น 20-50ปี ถึงจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย อันนั้นก็ว่ากันไป”
{กระแสน้ำ คุโรชิโอะ}
และในส่วนของสัตว์น้ำที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ดร.ธรณ์บอกว่า ทาง อย.ก็มีการตรวจและรับรองการผ่านเกณฑ์มาตรฐานอยู่แล้ว “เขาก็ตรวจหลายพันตัวอย่างเขาก็บอกไม่มีปัญหา”แต่เพราะเป็นเรื่องของกัมมันตภาพรังสีจึงทำให้คนเกิดวิตกเป็นเรื่องธรรมดา
“เพราะคนก็จะวิตกกังวลอยู่แล้วว่า เกณฑ์มันจริงหรือเปล่า มันมั่นใจได้ยังไง อะไรอย่างนี้”
อาจารย์มองว่า ถึงแม้จะออกมาประกาศว่าอาหารเหล่านั้นผ่านเกณฑ์ แต่ก็อาจจะมีหลายคนที่ยังกังวลว่า มันจะไปสะสมในร่างกายหรือเปล่า ก็เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลที่จะเลือก “กิน” หรือ “ไม่กิน”
{ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์}
“ผลกระทบที่มาถึงไทยทางทะเล ผมก็ยืนยันว่า ผมยังกินอาหารทะเลไทย ในไทยไม่คิดว่าจะมีปัญหา สัตว์น้ำที่จับที่ทะเลไม่มีปัญหา ด้วย2เหตุผลด้วยกัน ระยะที่แสนจะไกล และกระแสน้ำไหลขึ้นไปข้างบน”
ไม่ใช่แค่เรื่อง “ความปลอดภัย” แต่คือ “การละเมิดสิทธิ”
ถึงจะมีการบอกว่าน้ำเสียที่การบำบัดเหล่านี้ “ผ่านเกณฑ์และปลอดภัย” แต่ก็มีเสียงคัดค้านทั้งในและนอกประเทศ กลุ่มชาวประมงในญี่ปุ่นให้ความเห็นกับสื่อว่า นี้อาจกระทบต่อธุรกิจและกังวลว่า “ลูกค้าจะไม่กล้ากลับมาซื้อปลาในท้องถิ่น”
ฮิซาโยะ ทาคาดะ ผู้จัดการ “กรีนพีซญี่ปุ่น” วิจารณ์ว่า การตัดสินใจของรัฐบาลโดยไม่พิจารณาถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนในญี่ปุ่นและภูมิภาคแปซิฟิก
“รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่รัฐบาลประกาศดำเนินการปล่อยน้ำ แม้ว่าที่ผ่านมาประชาชนและภาคประชาคมระหว่างประเทศ จะแสดงความวิตกกังวล แต่การตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้ก็ยังเกิดขึ้น”
เอมิลี แฮมมอนด์ เอมิลี แฮมมอนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ได้แสดงความเห็นกับสื่อต่างประเทศว่า แม้จะได้ค่าตามมาตรฐาน ก็อาจไม่ได้แปลว่า “ปลอดภัย”
“ใครๆ ก็มีความเชื่อมั่นในงานของIAEAแต่ก็ต้องตระหนักว่าการปฏิบัติตามมาตรฐานไม่ได้หมายความว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือมนุษย์เป็นศูนย์”
อีกทั้งเมื่อปลายปี 2022 “สมาคมห้องทดลองด้านทะเลแห่งชาติสหรัฐ” ออกมาแถลงว่า “ข้อมูลของญี่ปุ่นไม่น่าเชื่อถือ” ซึ่งตรงกับความกังวลของ โรเบิร์ต ริชมอนด์ นักชีววิทยาทางทะเล ที่กล่าวกับBBC NEWSว่า
“เรามีการประเมินผลกระทบทางรังสีและระบบนิเวศไม่เพียงพอ ทำให้เรากังวลอย่างมากว่า ญี่ปุ่นจะไม่สามารถตรวจจับสิ่งที่ลงไปในน้ำได้ และถ้ามันเกิดขึ้นจะไม่มีทางกำจัดมันออกไปได้”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
พากย์เสียง : ดรงค์ ฤทธิปัญญา
ขอบคุณภาพ : asianews.network,www.cbc.caและ asia.nikkei.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **