xs
xsm
sm
md
lg

ไม่สนเสียงค้าน! ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำจาก ‘โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ’ ลงทะเล 24 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงยืนยันวันนี้ (22 ส.ค.) ว่าจะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วกว่า 1 ล้านเมตริกตันออกจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะลงสู่มหาสมุทรในวันที่ 24 ส.ค. แม้จะมีเสียงประท้วงอย่างรุนแรงจากเพื่อนบ้านอย่าง “จีน” ก็ตาม

แผนการปล่อยน้ำหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ แต่ก็ถูกวิจารณ์และต่อต้านอย่างหนักโดยกลุ่มชาวประมงท้องถิ่นซึ่งเกรงจะกระทบความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นฟูกลับคืนมาได้

นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น แถลงเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า “ผมได้ขอให้ทางเทปโก (บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค) เตรียมการปล่อยน้ำอย่างรวดเร็วตามแผนที่สำนักงานกำกับนิวเคลียร์ได้อนุมัติไว้ และคาดว่าการปล่อยน้ำจะเริ่มในวันที่ 24 ส.ค. หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย”

ประกาศดังกล่าวมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่รัฐบาลโตเกียวระบุว่า “ได้ทำความเข้าใจในระดับหนึ่ง” กับอุตสาหกรรมประมงในประเทศ แต่ยังคงมีสมาคมชาวประมงที่ออกมาแสดงความกังวลว่า ความหวาดกลัวรังสีปนเปื้อนในอาหารทะเลของญี่ปุ่นจะทำลายวิถีชีวิตของพวกเขา

“ผมขอให้สัญญาว่า รัฐบาลจะดูแลรับผิดชอบให้อุตสาหกรรมประมงของเรายังคงเดินหน้าต่อไปได้ ต่อให้จะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีก็ตาม” คิชิดะ กล่าว

ญี่ปุ่นยืนยันว่าน้ำที่จะปล่อยออกสู่ทะเลนั้นมีความปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ขณะที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ก็มอบไฟเขียวให้กับแผนนี้เมื่อเดือน ก.ค. โดยยืนยันว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล และผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อมนุษย์และสภาพแวดล้อมนั้นก็น้อยจน “ไม่มีนัยสำคัญ”

กระนั้นก็ตามที เพื่อนบ้านบางประเทศยังคงกังขาว่าแผนการของญี่ปุ่นจะปลอดภัยจริงหรือไม่ โดยเฉพาะจีนซึ่งประกาศคัดค้านเสียงแข็ง

เดือนที่แล้ว หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาวิจารณ์รัฐบาลญี่ปุ่นว่าตัดสินใจปล่อยน้ำจากฟูกูชิมะโดยไม่เคยปรึกษาหารือประชาคมโลกอย่างจริงจัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความ “เห็นแก่ตัวและหยิ่งผยอง”

รัฐบาลจีนได้สั่งแบนอาหารทะเลนำเข้าจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมถึงฟูกูชิมะและโตเกียว ขณะที่อาหารทะเลจากจังหวัดอื่นๆ ยังสามารถนำเข้าจีนได้ แต่จะต้องผ่านการตรวจวัดระดับรังสี และมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้มาจาก 10 จังหวัดที่ถูกห้ามไว้

ในเกาหลีใต้ก็มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาคัดค้านการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะเช่นเดียวกัน ทว่ารัฐบาลประธานาธิบดี ยุน ซุกซอล ซึ่งมีนโยบายจับมือปรองดองกับญี่ปุ่นอ้างผลการศึกษาในเกาหลีใต้ที่ยืนยันว่า แผนของโตเกียวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และย้ำว่าเกาหลีใต้เคารพผลการประเมินของ IAEA

สำหรับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกนั้นยังมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ที่ต่างกันไป เพราะในอดีตน่านน้ำแถบนี้เคยถูกสหรัฐฯ และฝรั่งเศสใช้ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์มาก่อน

นายกรัฐมนตรีแห่งฟิจิแถลงเมื่อวันจันทร์ (21) ว่า แม้ตนจะสนับสนุนผลการประเมินของ IAEA แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงไม่น้อยในบรรดารัฐหมู่เกาะแปซิฟิก

รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าได้บำบัดและกรองรังสีอันตรายออกจากน้ำซึ่งใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เกือบหมด ยกเว้นทริเทียม (tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนที่ยากจะแยกออกจากน้ำได้ จากนั้นจะนำน้ำที่บำบัดแล้วไปเจือจางเพิ่มเติม จนกระทั่งเหลือทริเทียมในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ก่อนจะปล่อยออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น