เกียวโดนิวส์รายงาน เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ส.ค.) สหภาพยุโรป นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าที่บังคับใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารจากส่วนต่างๆ ของญี่ปุ่น หลังภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปี 2554 ซึ่งเกิดขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
ผลจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการ ทำให้จำนวนประเทศและภูมิภาคที่ยังคงควบคุมการนำเข้าเนื่องจากข้อกังวลด้านความปลอดภัยของกัมมันตภาพรังสีลดลงเหลือ 9 ประเทศ
การยกเลิกข้อกำหนดสำหรับประเทศญี่ปุ่นในการทดสอบนิวไคลด์กัมมันตภาพรังสี และให้การรับรองความปลอดภัยสำหรับอาหารทะเลและสินค้าเกษตรบางชนิดถือเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับผู้ผลิตในฟุกุชิมะ เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ อีก 9 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ มิยางิ ยามากาตะ อิบารากิ กุนมะ นีงะตะ และยามานาชิ นากาโนะ อิวาเตะ และชิซูโอกะ
สหภาพยุโรปค่อยๆ ผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยกำหนดให้เห็ดป่า ปลาบางชนิด และพืชป่าที่กินได้เป็นกลุ่มอาหารสุดท้ายที่อยู่ภายใต้การทดสอบรังสี
กลุ่มประเทศยุโรป 27 ชาติประกาศการตัดสินใจยุติมาตรการบนพื้นฐานของเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ระหว่างการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ประธานสภายุโรป ชาร์ลส์ มิเชล และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน
ก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และสิงคโปร์ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าอาหารญี่ปุ่นหลังฟุกุชิมะทั้งหมดในปี 2564 ในขณะที่อังกฤษและอินโดนีเซียยกเลิกในปี 2565
สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศสรุปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมว่า แผนการของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลนั้น สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศ และมีผลกระทบทางรังสีเล็กน้อยต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ในถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม อียูเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นตรวจสอบกัมมันตภาพรังสีผลิตภัณฑ์ในประเทศต่อไป โดยเน้นเป็นพิเศษที่ "ปลา ผลิตภัณฑ์ประมง และสาหร่ายทะเลใกล้กับจุดปล่อยน้ำปนเปื้อน" และเพื่อเปิดเผยผลลัพธ์ต่อสาธารณะ
กการปล่อยน้ำบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้า ตามแผนทำให้เกิดความกังวลในหมู่บางคน กระตุ้นให้จีนและฮ่องกงซึ่งยังคงควบคุมอยู่ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรังสีสำหรับอาหารทะเลที่นำเข้าจากญี่ปุ่น