xs
xsm
sm
md
lg

ดร.พีรภัทรชี้ให้จด "ปังชา" เฉพาะภาษาอังกฤษ ที่ยก "โออิชิ-กระทิงแดง" คนละเรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ชี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้จดล่าสุด “Pang Cha” เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น จะ “ปัง…ชา” หรือ “ปังชา” ใครๆ ก็ใช้ได้ ส่วนที่อ้าง "โออิชิ-กระทิงแดง" เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายมานานแล้ว คนละเรื่องกัน

วันนี้ (31 ส.ค.) จากกรณีที่ร้านอาหารลูกไก่ทอง ซึ่งมี 6 สาขาในกรุงเทพฯ และร้านปังชาคาเฟ่ 5 สาขา ประกาศว่าจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้าแล้ว สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ ปังชา ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย กลายเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอย่างกว้างขวาง ต่อมามีร้านค้าเล็กๆ อย่างร้านปังชาเชียงราย ถูกสำนักงานทนายความแห่งหนึ่งยื่นโนติสเรียกค่าเสียหาย 102 ล้านบาท และร้านทางช้างเผือก หาดใหญ่ จ.สงขลา ถูกยื่นโนติส 7 แสนบาท ทำเอาสังคมไม่พอใจและทัวร์ลงร้านอาหารลูกไก่ทอง และร้านปังชาคาเฟ่ บอยคอตไม่อุดหนุนอีกต่อไปเพราะรังแกคนตัวเล็กๆ

ต่อมา น.ส.กาญจนา ทัตติยกุล หรือแก้ม เจ้าของร้านอาหารลูกไก่ทอง และร้านปังชาคาเฟ่ติดต่อมาที่นายบรรจง ชีวมงคลกานต์ เจ้าของเพจ "หมายจับกับบรรจง" ขอโทษกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ตอบอะไรมากเพราะไม่แม่นเรื่องกฎหมาย ต่อมาสำนักงานทนายความแห่งหนึ่งติดต่อมาที่นายบรรจง ระบุว่าที่ส่งโนติสไป 2 แห่ง เพราะมีคนแจ้งมา ค่าเสียหายคิดจากมูลค่าแบรนด์ในตลาดที่พยายามปั้นแบรนด์ให้เป็นลักชัวรี และย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดทะเบียน ปกติโนติสต้องมีสภาพบังคับ ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการจะไม่ปฏิบัติตาม แต่ไม่ได้ประสงค์ถึงขั้นดำเนินคดีฟ้องร้อง เพียงต้องการให้ยุติการละเมิดเท่านั้น

ส่วนที่คิดว่าร้านอื่นละเมิดทั้งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า คำว่า "ปังชา" เป็นคำสามัญที่ใครจะใช้ก็ได้ สำนักงานทนายความอ้างว่า หนังสือที่ได้รับการจดแจ้งฉบับล่าสุดที่ยื่นปี 2565 ทางกรมฯ ไม่ได้ให้ทางแบรนด์สละสิทธิคำว่าปังชา จึงยึดถือสิทธิตามที่กรมฯ ออกหนังสือให้ ทางร้านได้ใช้เวลาอีก 4 ปีพิสูจน์ความแพร่หลายทางธุรกิจ ว่าเป็นคำที่แพร่หลายมาจากธุรกิจของแบรนด์ตน อ้างว่า "โออิชิ" และ "กระทิงแดง" ยังเป็นคำสามัญที่ได้สิทธิในเครื่องหมายการค้า ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการกรรโชกทรัพย์ เพียงแต่ใช้สิทธิทางกฎหมายด้วยเจตนาสุจริต เพราะอยากให้แบรนด์เติบโตในทางธุรกิจไปไกล

ล่าสุด เฟซบุ๊ก "Dr. Pete Peerapat" ของ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล โพสต์ข้อความระบุว่า "ที่กรมฯ ให้จดล่าสุด “Pang Cha” เป็นภาษาอังกฤษ ไม่ใช่คำว่า “ปังชา” ตามที่อ้างนะครับ กรมฯ ออกมาชี้แจงแล้วว่าจะ “ปัง…ชา” หรือ “ปังชา” ใครๆ ก็ใช้ได้ เรื่อง โออิชิ หรือ กระทิงแดง เป็นเรื่อง Well known marks หรือ เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายมานานแล้ว คนละเรื่องกับเคสนี้เลย ตัวเจ้าของแบรนด์ กับ สำนักงานกฎหมาย คงต้องไปคุยกันแหละครับว่าจะสรุปเรื่องนี้อย่างไร"


กำลังโหลดความคิดเห็น