xs
xsm
sm
md
lg

"ทนายนิด้า" ยันประชาชนทั่วไปใช้คำว่า "ปังชา" ได้ ไม่ผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังเกิดดรามาเกี่ยวกับร้านปังชาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชื่อเมนู “ปังชา” ก่อนพบว่ามีการฟ้องร้องร้านใน จ.เชียงรายเรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้าน ล่าสุด "ทนายนิด้า" ออกมายืนยันประชาชนทุกคนยังสามารถใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขายสินค้าได้เช่นเดิม ไม่ผิดกฎหมาย

จากกรณีเฟซบุ๊ก "Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant" ของร้านอาหารลูกไก่ทอง ซึ่งมี 6 สาขาในกรุงเทพฯ และร้านปังชาคาเฟ่ 5 สาขา โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า "จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยร่วมกันอย่างยั่งยืน แบรนด์ปังชา จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) "ปังชา" ภาษาไทย และ "Pang Cha" ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จดทะเบียนลิขสิทธิ์ จดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย"

ก่อนจะโดนชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์และสงสัยว่า นอกจากจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าแล้ว เป็นการจดสิทธิบัตรเมนู "ปังชา" หรือ "ปังชาไทย" ที่เป็นน้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปัง โรยด้วยนมข้นหวาน ซึ่งได้รับรางวัลมิชลินไกด์หลายปีซ้อนหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นร้านอาหารอื่นๆ ที่มีเมนูในลักษณะคล้ายกันจะกลายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

อ่านข่าวประกอบ - "ร้านลูกไก่ทอง" เผยจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ห้ามนำไปใช้เป็นชื่อร้านหรือสินค้า อ่านข่าวประกอบ - "ปังชา" ชี้แจง ปมจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ขณะเดียวกันพบทนายฟ้องร้านเล็กๆ เรียกค่าเสียหายกว่าร้อยล้าน 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ทนายนิด้า ทนายความชื่อดัง โพสต์ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ทนายนิด้า" โดยได้ระบุข้อความว่า

"เกี่ยวกับเรื่อง #ปังชา EP.1

ถ้าตามเอกสารฉบับนี้ มีความหมายว่า มีการยื่นคำขอจดเครื่องหมายนะคะ เครื่องหมายก็คือรูปภาพในกรอบสีเขียว ก็คือยื่นคำขอจดรูปภาพนี้ทั้งภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้หญิง ถ้วยชา พร้อมคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ปรากฏในภาพด้วย ในหมวดรายการสินค้าและบริการตามกรอบสีแดงในภาพปรากฏประเด็นปัญหา คือคำว่า “ปังชา” ที่เป็นข้อโต้เถียงกันในขณะนี้ว่า เจ้าของใช้ได้คนเดียวในหมวดที่จดไว้นี้หรือไม่

คำตอบคือ ไม่ใช่ ❌

เพราะมีข้อจำกัดในการจดฯ ภาพในกรอบสีเขียว ดันมีคำที่ประชาชนทั่วไปควรจะสามารถใช้ได้ด้วย นั่นก็คือคำว่า “ปังชา” อันที่จริงก็ ชาไทยด้วย ก็คำมันสามัญ ที่ใช้กันมาตั้งแต่ร้านขายโอเลี้ยงแล้ว ผู้ขอจดจึงต้องสละสิทธิที่จะใช้คนเดียว ตามหลักฐานที่ขีดเส้นใต้สีฟ้าไว้ การสละสิทธิ์มีความหมายว่าไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความที่ขอสละสิทธินั้นทั้งหมด แต่คนยื่นคำขอก็ยังสามารถใช้ได้นะคะ แต่ไม่ใช่คนเดียว
แต่คนอื่นที่จะใช้ได้ ถ้าหากนำมาจัดวางในรูปแบบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ตามกรอบสีเขียวและเป็นสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกันยังสามารถห้ามได้อยู่ จากประสบการณ์ในการจดให้ลูกความ ถ้าไม่สละสิทธิที่จะใช้แต่เพียงผู้เดียว ในคำที่เป็นคำสามัญ ชาวบ้านชาวช่อง เขาใช้กันโดยทั่วไป ใช้มานาน ไม่ใช่คำประดิษฐ์พิสดารอะไร กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็คงจะไม่รับจดให้ เพราะมันเอาเปรียบคนอื่น

ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามคำขอนี้ คำว่า “ปังชา” ประชาชนทั่วไปยังสามารถใช้ได้โดยสุจริต โดยไม่มีสิทธิถูกฟ้องได้ แต่อย่าไปใช้บนรูปลักษณ์ของเครื่องหมายในกรอบสีเขียว ให้มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน โดยมีเจตนาฉกฉวยประโยชน์ให้เจ้าของเครื่องหมายเสียหาย แบบนี้มีสิทธิถูกฟ้องได้ค่ะ"


ต่อมา "ทนายนิด้า" ได้ออกมาโพสต์ข้อความอีกครั้งเกี่ยวกับ "ปังชา" โดยระบุว่าเป็น EP 2 ซึ่งเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า

"#ปังชา EP.2

คำขอนี้ ขอจดเครื่องหมายบริการในหมวด ตามกรอบสีแดง ตามรูปที่ขอจดทะเบียนไม่ได้มีคำภาษาไทยว่า “ปังชา” มีแต่เพียงคำภาษาอังกฤษ ดังนั้นเจ้าของเครื่องหมายนี้ยิ่งไม่สามารถห้ามประชาชนไม่ให้ใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขาย ชาไข่มุก น้ำแข็งไส เครื่องดื่มชา บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มได้ ประชาชนทุกคนยังสามารถใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขายสินค้าได้เช่นเดิม เจ้าของเครื่องหมายนี้จึงไม่มีสิทธิฟ้องประชาชนคนอื่นที่ใช้คำว่า “ปังชา” ได้
จบ!"


กำลังโหลดความคิดเห็น