ชาวเน็ตแชร์โพสต์เฟซบุ๊กร้านอาหารลูกไก่ทอง เผยจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้าแล้ว สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ ปังชา ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
วันนี้ (28 ส.ค.) บนโซเชียลฯ แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊ก "Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant" ของร้านอาหารลูกไก่ทอง ซึ่งมี 6 สาขาในกรุงเทพฯ และร้านปังชาคาเฟ่ 5 สาขา โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า "จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยร่วมกันอย่างยั่งยืน แบรนด์ปังชา จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) "ปังชา" ภาษาไทย และ "Pang Cha" ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จดทะเบียนลิขสิทธิ์ จดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย"
โพสต์ดังกล่าวชาวเน็ตได้วิพากษ์วิจารณ์และสงสัยว่า นอกจากจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าแล้ว เป็นการจดสิทธิบัตรเมนู "ปังชา" หรือ "ปังชาไทย" ที่เป็นน้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปัง โรยด้วยนมข้นหวาน ซึ่งได้รับรางวัลมิชลินไกด์หลายปีซ้อนหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นร้านอาหารอื่นๆ ที่มีเมนูในลักษณะคล้ายกันจะกลายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
จากการสืบค้นข้อมูล "ปังชา" จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พบว่า น.ส.กาญจนา ทัตติยกุล เจ้าของแบรนด์ปังชา ได้ยื่นคำขอลิขสิทธิ์ ขนไก่ปังชา ประเภทงานศิลปกรรม ลักษณะงานจิตรกรรม เลขที่คำขอ 371901 โดยได้เลขทะเบียน 47654 และคำขอเครื่องหมายการค้า เลขที่คำขอ 220133778 โดยได้ทะเบียนเลขที่ 231117892 โดยระบุข้อจำกัดว่า "ข้าพเจ้าไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้ อักษรโรมันและอักษรไทยทั้งหมดที่ปรากฎอยู่บนเครื่องหมาย ยกเว้น คำว่า KAM"
นอกจากนี้ยังพบว่า น.ส.กาญจนา ทัตติยกุล ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patents) 7 ฉบับ ได้แก่ แก้ว ตุ๊กตา ลวดลายของแก้ว ลวดลายบนฉลากสินค้า ถ้วยไอศกรีม จดลิขสิทธิ์งานจิตรกรรม 6 ฉบับ ได้แก่ ไก่เจ้าครับ แก้มกาญจนา ไก่เจ้าค่ะ ขนไก่ปังชา แก้มกัลยา ไก่เหล็กถัก และเครื่องหมายการค้าหรือบริการอีก 45 ฉบับ