xs
xsm
sm
md
lg

"รศ.ดร.เจษฎ์" ชี้ "ญัตติโหวตพิธา" รัฐสภาทำคนสับสน โยนเผือกร้อนให้ศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"รศ.ดร.เจษฎ์" ชี้ประเด็นถกเถียง "ญัตติโหวตพิธา" รัฐสภาทำคนสับสน เหตุไม่เคลียร์ข้อบังคับ 36 ให้ชัดก่อนว่าโหวตนายกฯ คือญัตติพิเศษ หรือไม่ใช่ญัตติ แต่กระโดดไปข้อ 41 เลย ซ้ำ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ต้องกลายเป็นตำบลกระสุนตก หวังไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรต้องยอมรับ



วันที่ 27 ก.ค. 2566 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "มติไม่ให้โหวตพิธา เผือกร้อนศาลรัฐธรรมนูญ"

รศ.ดร.เจษฎ์กล่าวในช่วงหนึ่งว่า กรณีถกเถียงกันว่าข้อบังคับสภาใหญ่กว่ารัฐธรรรมนูญได้จริงไหม เป็นการตั้งโจทย์ผิด เราไม่จำเป็นต้องมาเถียงกันเรื่องนี้เลย ประเด็นนี้มีที่มา 2 ลักษณะ อย่างแรกทั้ง ส.ส. ส.ว. พูดไม่เคลียร์ ไม่ไล่ลำดับ ทำให้พวกท่านเองและผู้คนสับสน ก็เลยไปพูดกันว่าข้อบังคับสภาใหญ่กว่ารัฐธรรรมนูญ

สอง เกิดจากการพิจารณาของผู้ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมากันเอง มันไม่ได้มีการเอาข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรรมนูญหรอก ประเด็นปัญหาคือ ในการดำเนินการรัฐสภาทั้ง ส.ส. ส.ว.ไม่ได้พูดให้ชัด กระโดดไปที่ข้อ 41 ของข้อบังคับเลย

ทำไมวันนี้เราถึงมาพูดคุยภายใต้ข้อบังคับได้ เพราะว่ามาตรา 128 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่าสภาแต่ละสภาเขียนข้อบังคับของตัวเอง มาที่มาตรา 156 บอกว่าการประชุมร่วมของสองสภามีเรื่องอะไรบ้าง หนึ่งในเรื่องเหล่านั้นคือการเขียนข้อบังคับร่วมกัน มาที่มาตรา 157 ถ้าเกิดมีการประชุมร่วมกันของสองสภา ให้ใช้ข้อบังคับของรัฐสภา พอมามาตรา 272 ว่าใช้ได้หรือไม่ได้ หมวดเฉพาะกาล ระบุว่าการเลือกนายกฯ ภายใต้มาตรา 159 ให้ทำในที่ประชุมของรัฐสภา เมื่อเราร้อยเรียงก็จะพบว่าที่ประชุมรัฐสภาต้องใช้ข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา

พอโดดไปคุยข้อบังคับ 41 เลย เป็นการพูดกันที่ปลายทาง แทนที่จะพูดข้อ 36 ก่อน บอกว่าญัตติอะไรที่มันไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าเกิดจะรับรองให้ยกมือพ้นหัว ยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯ คำว่ายกเว้นแปลว่าเป็นญัตติ หรือไม่เป็นญัตติ ในการประชุมวันนั้นไม่เคลียร์เรื่องนี้ อันอื่นให้ยกมือพ้นหัว แต่เลือกนายกฯ วิธีต่างออกไป เพราะเป็นญัตติพิเศษ หรือไม่ใช่ญัตติ ต้องเถียงกันตรงนี้ ถ้าไม่ใช่ก็ข้ามไปข้อ 136 แต่ถ้าใช่ญัตติก็ไปข้อ 41 คือเสนอซ้ำไม่ได้ถ้าเหตุการณ์ไม่เปลี่ยน อันนี้มาพูดกันที่ปลายทางเลย

พอยื่นเรื่องไปถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เอาสิ่งเหล่านี้ปนกันหมด แถมไม่พอไปขอศาลรัฐธรรมนูญระงับการทำงานในสภาไว้ก่อน เมื่อไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลสั่งชะลอการเลือกนายกฯ จะเกิดผล 2 ลักษณะ คือ เรื่องอะไรก็ตามที่เกิดภายใต้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ มันก็ดี

สอง ต้องยอมรับว่าพาศาลรัฐธรรมนูญมาถึงจุดนี้ พอผลออกมาไม่เข้าทางตัวเอง จะด่าทอไม่ได้ ต้องยอมรับเพิ่มอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่รับไว้พิจารณา แต่ก้าวเข้าไปบอกให้ชะลอได้ด้วย ถ้าไม่ชะลอ แล้วปล่อยให้เลือกนายกฯ ไป จนได้นายกฯ มาแล้ว แล้วผลออกมาว่าไม่ใช่ญัตติก็เกิดปัญหาอีก

รศ.ดร.เจษฎ์กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นตำบลกระสุนตก ถ้าศาลรับเรื่องไม่ว่าออกมาทางไหน เว้นศาลรัฐธรรมนูญไว้ เชื่อว่าสภาจัดการได้ ถ้าศาลไม่รับ สภาก็ต้องจัดการกันต่อ ถ้าบอกเป็นญัตติก็ต้องเป็นตามนั้น ไม่ต่างกัน

แต่ถ้าบอกว่าไม่ใช่ญัตติ คราวนี้สภาเปลี่ยน จะเสนอชื่อพิธาซ้ำกี่ทีก็ได้ จะเป็นเรื่องการเมืองแล้ว บางคนบอกให้เลื่อนไป 10 เดือน เราอย่าเทียบกับประเทศอื่น ไทยไม่ได้มีระบบราชการเข้มแข็งพอ อยู่เฉยๆ 10 เดือน กลไกต่างๆ รวมถึงด้านธุรกิจ เดินไปโดยไม่เกี่ยวข้องรัฐบาลได้จริงหรือ


กำลังโหลดความคิดเห็น