“สนธิ” เปรียบเทียบความต่าง “หลานสาวธนาธร-หยก” ถูกดำนเนิคดี 112 เหมือนกัน แต่คนหนึ่งถูกแนะนำให้รับสารภาพ กลับไปใช้ชีวิตปกติ ขณะที่อีกคนถูกเชิดให้เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิไตย ออกหน้ารับคดีแทนพวกผู้ใหญ่อีแอบที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง หาประโยชน์จากคนที่ไม่ใช่ลูกหลานตัวเอง
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างกรณีที่เยาวชนถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 ระหว่างกรณีหลานของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และกรณีของ “หยก” เด็กนักเรียนมัธยบวัย 15 ปี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด(บูลลี่)ทางสังคมออนไลน์ หรือ ศชอ. ได้เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 ของ “นางสาว อ.” อายุ 19 ปี ซึ่งเป็นลูกหลานตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ"” ตามลำดับเหตุการณ์ ดังนี้
13 กุมภาพันธ์ 2564 มีม็อบกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บริเวณหน้าศาลฎีกา ม็อบสามนิ้วใช้ความรุนแรง ขว้างปาสิ่งของ ทั้งระเบิดปิงปอง ก้อนหิน ขวดน้ำ วัตถุอื่นๆ ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 20 คน พลเรือนประมาณ 5 คน
14 กุมภาพันธ์ 2564 นางสาว อ. ซึ่งเป็นหลานของนายธนาธร บรรยายข้อความในคลิปที่โพสต์ลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัว เนื้อหาโจมตีในหลวงรัชกาลปัจจุบันอย่างรุนแรง
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ศชอ. นำหลักฐานมอบให้ตำรวจ ปอท. พร้อมแจ้งความดำเนินคดี นางสาว อ. ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112
23 กุมภาพันธ์ ตำรวจ ปอท. เรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งนางสาว อ. มารดา นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้าพบตำรวจตามหมายเรียก
หลังจากนั้นผ่านไปประมาณ 1 ปี อัยการสั่งฟ้อง นางสาว อ. ในข้อหาความผิดมาตรา 112
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ ซึ่งวันดังกล่าว ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด (บูลลี่) ทางสังคมออนไลน์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า นางสาว อ. รับสารภาพทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากเป็นเยาวชน ผู้พิพากษามีความเมตตา จึงให้ไปทำแผนบำบัดฟื้นฟูร่วมกับสหวิชาชีพ ผู้พิพากษาสมทบ นักจิตวิทยา มาส่งศาลพิจารณาอนุมัติเพื่อนำเป็นการปฏิบัติปรับปรุงตัว ถ้าเป็นเยาวชนและไม่เคยกระทำความผิด ต้องโทษมาก่อน ศาลจะให้โอกาส ไม่ติดคุก แต่ต้องมีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม
เมื่อไปสืบค้นที่มาที่ไปของ “นางสาว อ.” พบว่ามีความเคลื่อนไหวคล้ายๆ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ ต่างก็กล่าวพาดพิงหมิ่นเหม่ถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เอาตัวไปเกี่ยวข้องกับแกนนำที่เป็นไอคอนในการประท้วงที่ฮ่องกง อย่างโจชัว หว่อง ซึ่งตอนหลังนี้ โจชัว หว่อง กลายเป็นนักโทษถูกจำคุกในหลายต่อหลายคดี
วันที่ 5 ตุลาคม 2562 นายธนาธร ถ่ายภาพกับ โจชัว หว่อง แล้วได้รับเชิญไปพูดที่งาน Open Future Festival ที่ฮ่องกง ในหัวข้อ "Inside the Mind of Asia Next Gen Politicians"
ต่อมา เดือนพฤศจิกายน 2563 เว็บไซต์บีบีซี ภาคภาษาจีน ได้จัดให้นายโจชัว หว่อง แกนนำการประท้วงฮ่องกง ต่อสายให้พูดคุยกับ นางสาว อ. ซึ่งตอนนั้นเป็นหนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว "กลุ่มเยาวชนปลดแอก" ซึ่งเยาวชนฮ่องกง และไทย ร่วมมือกันในนาม "พันธมิตรชานม"
ตอนนั้น การชุมนุมที่ประเทศไทย มีการประกาศว่า "เรารักฮ่องกง" และ "คืนเอกราชให้ฮ่องกง" พร้อมทั้งชูธงกลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกง ธงกลุ่มผู้แยกดินแดนไต้หวัน และทิเบต
จากกรณี นางสาว อ. หลานสาวของนายธนาธร เมื่อหันมาดู "หยก" ที่โดนคดีมาตรา 112 เหมือนกัน จากการที่ไปพ่นสีสเปรย์ข้อความจาบจ้วงสถาบัน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 จากนั้นมาโดนจับกุมตัวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566
วันนั้น "หยก" นั่งหันหลังต่อหน้าบัลลังก์ศาล เพื่อแสดงสัญลักษณ์ปฏิเสธอำนาจศาล ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งไม่ขอยื่นประกันตัว ทั้งๆ ที่ตอนแรกแม่ของหยก ด้วยความเป็นห่วงลูก ก็รีบมาทำการประกันตัวต่อศาล ปรากฏว่า "ผักบุ้ง" เนติพร และกลุ่มทะลุวัง คัดค้านว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของหยก สุดท้ายเลยต้องเข้าไปอยู่ที่บ้านปรานี
นายสนธิ กล่าวว่า ในตอนที่โดนดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 ทั้งหลานสาวนายธนาธร และ “หยก” มีอายุพอๆ กัน แต่ทำไมตอนนั้นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำไมนายอานนท์ นำภา แกนนำม็อบสามนิ้ว จึงไม่แนะนำให้ "หยก" ทำแบบเดียวกับหลานสาวของนายธนาธร นั่นคือการรับสารภาพ
“นี่หรือความเท่าเทียมกันที่เด็กสามนิ้วเรียกร้อง ตรึกตรองดู มันเป็นความเป็นธรรมที่เท่าเทียมกันไหม นางสาว อ. หลานสาวแกนนำคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นเยาวชนในขณะนั้น โพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง ถูกฟ้องคดีอาญา มาตรา 112 หลังถูกฟ้องแล้ว ทำตัวเงียบ เก็บตัว ไม่ทำผิดซ้ำซาก ไม่มีการสร้างเรื่องสร้างราวเพื่อกระทำผิดต่อเนื่อง พอเรื่องขึ้นสู่ศาล วันนัดสืบพยาน รับสารภาพทุกข้อหา ศาลเมตตาให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์แทนการลงโทษอาญา เรื่องราวก็จบลงได้สวยๆ กลับไปเรียนหนังสือ กลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่
“ส่วนลูกหลานคนอื่นที่เป็นเยาวชน แกนนำคณะก้าวหน้า กลับผลักให้ไปยืนอยู่แนวหน้า ปีนรั้วโรงเรียน ยกย่องให้เป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ สร้างสตอรี่ต่อเนื่อง ให้ทำผิดต่อไปซ้ำซาก สร้างให้เกิดกระแสเยาวชนถูกกฎหมายมาตรา 112 รังแก ทั้งๆ ที่เรื่องราวความผิดมาตรา 112 มันจบง่ายๆ เหมือนอย่างที่ นางสาว อ. รับสารภาพ และศาลพร้อมให้ความเมตตาอยู่แล้ว แต่ที่มันไม่จบก็เพราะพวก "อีแอบ" ที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหลาย ไม่ต้องการให้ปิดคดี แต่ต้องการให้หาประโยชน์จากเยาวชนที่ไม่ใช่ลูกหลานของตัวเอง”
“ท่านผู้ชมเห็นหรือยังครับ ความชั่วร้าย ความเลวทรามบัดซบของอ้ายและอี ที่ผลักดัน "น้องหยก" ขึ้นไปเป็นแพะบูชายัญ แล้วสร้างภาพให้เห็นว่าศาลรังแกเด็ก ตรงกันข้ามกับหลานของธนาธร ที่สารภาพ แล้วศาลมีเมตตา ให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ อยู่เงียบๆ กลับไปเรียนหนังสือ อยู่กับพ่อแม่ ท่านผู้ชมเห็นหรือยัง ความแตกต่างของคนสองคน” นายสนธิกล่าว