ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ
ประเทศไทยในปัจจุบัน มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ในเรื่องของการแย่งชิงผลประโยชน์ ไม่ว่าผลประโยชน์ระหว่างบุคคล ระหว่างชุมชน ระหว่างองค์กร ระหว่างวัย ระหว่างประเทศ และ ความเชื่อที่ตนเคารพยึดถือ การแย่งชิงผลประโยชน์และความปรารถนาที่จะได้มาซึ่งผลประโยชน์ โดยไม่นําพาต่อความดีงาม ความถูกต้อง และความสํานึกรับผิดชอบ ตลอดจนหลักกฎหมายของแผ่นดิน มุ่งแต่จะกระทําตามอําเภอใจของแต่ละฝ่าย ย่อมมีผลทําให้บุคคลไม่อาจดํารงคุณธรรม หรือความดีที่ ทุกศาสดาเคยสอนสั่งไว้ได้ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ของประเทศ เนื่องจากขาดหลักสําคัญที่เป็นอุดมการณ์ หรือมาตรฐานความประพฤติที่เป็นกลาง อันเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน
การขาดหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจอันมั่นคง ทําให้ไม่อาจต่อสู้กับสิ่งที่เป็นความผิด ความเลว ความชั่วร้าย ความทุจริต ตลอดจนความโง่เขลา ทําให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ที่หมักหมมมานานนับสิบปีได้ โดยเฉพาะปัญหาของความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่กระทบต่อการวินิจฉัยในด้านของกระบวนการยุติธรรม เพราะก่อให้เกิดอคติอย่างรุนแรงในการใช้ดุลพินิจของผู้รับผิดชอบ ในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน
ความยุติธรรม ไม่ควรมองว่าเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องความเป็นธรรม ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นรายบุคคลหรือปัจเจกบุคคล แต่ต้องมองว่าพลเมืองทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน ต่างเพศ ต่างผิวพรรณ ต่างความคิด ก็สมควรได้รับความเท่าเทียมกันในสิทธิและโอกาสทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ภายใต้กรอบของหลักนิติธรรม คือ อยู่ภายใต้กฎหมายและการศาลที่มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่กระทําการสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามอําเภอใจเกินขอบเขตที่กฎหมายได้กําหนดไว้
ที่สําคัญที่สุด บุคคลที่อยู่ในสถานะของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือใช้อํานาจของรัฐ ต้องกระทําตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือรักษาประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก ไม่ใช้อํานาจในทางที่ผิดหรือบิดผันการใช้อํานาจของรัฐ หรือแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้สําหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งในปัจจุบันมีคดีอยู่เป็นจํานวนมากที่มาจากการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่น ที่ขาดจริยธรรมทางการปกครอง และมีความประพฤติที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งขาดหลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นเหตุให้ขาดความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน
ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่ผู้จบการศึกษาจากสํานักอบรมศึกษากฎหมาย แห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523 เพื่อเตือนจิตสะกิดใจของผู้รับผิดชอบในการยุติธรรมทุกท่าน ความตอนหนึ่งว่า :
“กฎหมายนั้นโดยหลักการจะต้องบัญญัติขึ้นใช้เป็นอย่างเดียวกันและเสมอกันสําหรับคนทั้งประเทศ จึงเป็นธรรมดาที่จะบังคับใช้ให้ได้ผลบริบูรณ์ครบถ้วนทุกกรณีไม่ได้ คงต้องมีส่วนบกพร่องเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง ตามเหตุการณ์และตัวบุคคลผู้นํากฎหมายมาใช้ จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้กฎหมายจะต้องสํานึกตระหนักในความรับผิดชอบของตนเองอยู่ตลอดเวลา ในอันที่จะใช้กฎหมายเพื่อธํารงรักษาและผดุงความยุติธรรมถูกต้องเพียงอย่างเดียว มิใช่เพื่อผลประโยชน์อย่างอื่นๆ ในขณะนี้ทุกคนต้องทําใจให้หนักแน่นเที่ยงตรง ปราศจากอคติ ให้กล้าแข็ง ที่จะทําในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม ให้สุขุมรอบคอบ ประกอบด้วยสติปัญญาที่จะตรวจตรา และพินิจพิจารณาทางที่จะใช้ตัวบทกฎหมาย ให้ได้ผลตรงตามจุดประสงค์ คือให้เกิดความถูกต้องเที่ยงตรง โดยบริสุทธิ์ยุติธรรม....”