xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนาน 23 ปี SCB EASY อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งไทยพาณิชย์ อำลาหน้าจอคอมพ์ 14 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารไทยพาณิชย์แจ้งยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง SCB EASY NET ตั้งแต่ 14 ก.ค.เป็นต้นไป หนุนให้ใช้แอปพลิเคชัน SCB EASY บนมือถือ ย้อนตำนานเปิดให้บริการเมื่อ 23 ปีก่อน ยุคที่อินเทอร์เน็ตยังหมุนโมเด็มความเร็ว 56 kbps ก่อนจะมีแอปพลิเคชันในปี 2555

วันนี้ (14 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แจ้งยกเลิกการให้บริการ SCB EASY NET (ระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2566 เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป โดยลูกค้าสามารถเปลี่ยนมาใช้บริการ และทำธุรกรรม โอนเงิน เติมเงิน สแกนบิล สแกนคิวอาร์ชำระเงิน การลงทุน จ่ายบิล โอนเงินต่างประเทศ และบริการทางการเงินผ่าน SCB EASY App บนสมาร์ทโฟนแทน สำหรับรายการโอนเงินและจ่ายบิลล่วงหน้าผ่าน SCB EASY NET ซึ่งกำหนดให้รายการมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป จะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ ขอให้ลูกค้าทำรายการใหม่อีกครั้งผ่าน SCB EASY App แต่สำหรับลูกค้าที่เคยสมัครใช้บริการหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อชำระค่าบริการต่างๆ (Direct Debit) ผ่าน SCB EASY NET ไว้ บริการดังกล่าวจะยังมีผลใช้บังคับอยู่ หากลูกค้ามีข้อสงสัยหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ให้ติดต่อศูนย์บริการลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ SCB Call Center โทร. 0-2777-7777 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

ก่อนหน้านี้ บริการ SCB EASY ได้ประกาศปิดการรับสมัครลูกค้าใหม่ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะประกาศปิดบริการดังกล่าวในวันนี้ ขณะที่เมื่อปีที่แล้วบริการ SCB EASY NET ได้ปิดให้บริการบางฟังก์ชันที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตทุกประเภท และสินเชื่อหมุนเวียน SPEEDY CASH เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2565 หลังการโอนย้ายลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อหมุนเวียนไปยังผู้ให้บริการใหม่ คือ บริษัท คาร์ดเอ็กซ์ จำกัด (Card X) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอสซีบี เอ็กซ์ ที่ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์แทน




สำหรับบริการ SCB Easy Net เป็นบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ ในตระกูลเอสซีบี อีซี แบงก์ (SCB Easy Bank) ผ่านเว็บไซต์ www.scbeasy.com ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์เปิดตัวเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2543 หรือ 23 ปีก่อน หลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแห่งแรกที่เริ่มมีเว็บไซต์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลทั่วไปของธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ตเมื่อปี 2538 แต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เปิดบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งเมื่อกลางปี 2543 เป็นรายที่สองรองจากธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับการอนุมัติแห่งแรกในปี 2542 ขณะนั้นสามารถทำธุรกรรมสอบถามยอดเงินคงเหลือ โอนเงินระหว่างบัญชี ขอรายการเดินบัญชี ชำระค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งยังเปิดให้ซื้อแพกเกจอินเทอร์เน็ต (ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตบ้านต้องเชื่อมต่อผ่านโมเด็ม ความเร็ว 56 kbps) จ่ายค่าสาธารณูปโภค ค่าโทรคมนาคม เติมเงินมือถือ ต่อมาได้ขยายบริการอื่นๆ เช่น เปิดบัญชีธนาคารโดยไม่ต้องไปสาขา และเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดบริการธนาคารบนมือถือ สำหรับลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบไอโอเอส แอนดรอยด์ และแบล็กเบอร์รี เพิ่มเติมจากบริการ SCB Easy Net โดยการล็อกอินเข้าสู่ระบบใช้ Username และ Password เดียวกับ SCB Easy Net กระทั่งวันที่ 21 ส.ค. 2560 ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดตัวแอปพลิเคชัน SCB EASY โฉมใหม่ เพิ่มบริการกดเงินไม่ใช้บัตร (Cardless ATM) จากนั้นในปีต่อมา วันที่ 26 มี.ค. 2561 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมโอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคาร เติมเงิน จ่ายบิล และกดเงินไม่ใช้บัตร ผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY เป็นผลทำให้ธนาคารอื่นประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมตามมาเพื่อรักษาฐานลูกค้า ปัจจุบันแอปพลิเคชัน SCB EASY มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 16 ล้านราย มีจำนวนธุรกรรม 7,000 ล้านครั้งต่อปี คิดเป็นยอดเงิน 16 ล้านล้านบาทต่อปี โดยลูกค้าที่ใช้ช่องทางดังกล่าวคิดเป็น 90% ของลูกค้าธนาคาร

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งที่ชื่อว่า KTB Netbank ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นบริการที่มีผู้ใช้งานลดลงจำนวนมาก สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานของลูกค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่หันมาใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เพิ่มขึ้นมากกว่า 16 ล้านราย รวมระยะเวลาให้บริการ 11 ปี ส่วนธนาคารที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ควบคู่กับโมบายแบงกิ้งมีอยู่ 9 แห่ง ได้แก่ บริการ Bualuang iBanking ธนาคารกรุงเทพ, บริการ K BIZ (ชื่อเดิม K-Cyber Banking) ธนาคารกสิกรไทย, บริการ KOL (Krungsri Online) ธนาคารกรุงศรี, บริการ ttb internet banking ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต, UOB Personal Internet Banking ธนาคารยูโอบี, KKP e-Banking ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, GSB Internet Banking ธนาคารออมสิน, BANKING @ HOME ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) และ BOCNET ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) เป็นต้น






กำลังโหลดความคิดเห็น