อดีตครูสาวแบ่งปันประสบการณ์ เขียนเป็นบันทึกการลาออกจากราชการออกมาเป็นเจ้านายตัวเอง เผยหวังให้บันทึกนี้เป็นประโยชน์ต่อหลายๆ คนที่ลังเลจะออกมาจากเซฟโซนของตัวเอง
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Mimi Supawadee" โดยเจ้าตัวรับราชการครู ได้ออกมาโพสต์ข้อความเผย 2 สาเหตุหลักๆที่ทำให้ตัดสินใจ “ลาออกจากราชการ” ซึ่งเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า
"บันทึก “ลาออกจากราชการ” “ทำไมถึงลาออกทั้งที่เป็นงานที่มั่นคง” คนถามเยอะแล้วลองเปลี่ยนเป็น “ตอนทำงานประจำควบคู่กับรายได้เสริม จัดการเวลา ความรู้สึก ความคิด การลงมือทำยังไง “ (น่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนมากกว่า)
จะตอบคำถามแรกก่อน “ทำไมถึงลาออก”
1. หมดเเรง หมดเวลาในแต่ละวัน ไม่มีเวลาได้ใช้ชีวิต เสาร์ อาทิตย์ มาโรงเรียน วนลูปแบบนี้ กับเอกสารที่มากมายก่ายกอง
2. ไม่สามารถสอนในเนื้อหาที่เด็กไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง แต่ใช้เพื่อสอบได้อีกต่อไป
3. และที่สำคัญที่สุด คือ ลูก อยากมีความทรงจำที่ได้ใช้ชีวิตกับลูกก่อน 7 ขวบให้มากที่สุด เพราะเวลาที่เสียไปแล้วย้อนกลับมาไม่ได้
ส่วนคำถามที่ 2 นี่คือสิ่งที่ตกผลึกกับตัวเอง 10 การเรียนรู้ที่โรงเรียนไม่ได้สอน
1. สิ่งที่เคยมีความสุขตอนนั้น ถ้าตอนนี้ไม่ใช่ก็ต้องหยุด หยุดได้ไว เริ่มต้นใหม่ได้ไว
2. ความมั่นคงสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเรา ไม่เกี่ยวกับอาชีพ หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นการบริหารการเงินสำคัญมาก (แต่โรงเรียนไม่ได้สอน)
3. ทำในสิ่งที่มีความสุข สะสมไปเรื่อยๆ จนมีศักยภาพ เก่งในเรื่องนั้นๆ ขอให้รับรู้ไว้ เงินมาเอง (โรงเรียนไม่ได้สอนความสุขของแต่ละคนเป็นไง ความถนัดของแต่ละคนเป็นไง)
4. การบริหารจัดการเวลาสำคัญมาก เมื่อตัดสินใจที่จะลาออก ก็ต้องมีรายได้เสริมจากหลายช่องทาง ในวันที่เหนื่อย ท้อ งานเยอะไม่มีเวลา แต่มีใจ เชื่อเถอะยังไงก็รอด
(ที่นอนไม่เกิน 5 ชม. ติดต่อกัน 3 ปี เพราะต้องการมีชีวิตในวันนี้)
5. มี mindset ที่ว่า “เงินเดือน” ที่มาจากงานประจำ คือเงินชั่วคราว และไม่ได้จบแค่นี้ ศักยภาพของเรามีมากกว่านี้ ดึงออกมามากเท่าไหร่ เงินเข้ามามากเท่านั้น เมื่อเรารู้จักตัวเองมากพอ เราจะรู้ว่าศักยภาพของเราคืออะไร สิ่งนี้โคตรสำคัญ มี mindset ที่ว่า งานประจำคือเงินชั่วคราว เมื่อเจองานที่ชอบ ให้ผลตอบแทนที่ใช่ และมีรายได้มากกว่างานประจำเมื่อไหร่ ลาออกทันที
6. เมื่อรายได้เสริม มากกว่าหรือเท่ากับงานประจำติดต่อกัน 3 เดือน คือโคตรพร้อมที่จะออกแล้ว แต่ทำควบคู่ไปก่อน เพราะต้องบริหารการเงินให้อยู่รอดปลอดภัย ใน 6 เดือน-1 ปี (ซึ่งเป็นช่วงเวลาลองถูกลองผิดกับสิ่งใหม่)
7. บริหารเวลาสำคัญแล้ว บริหารการเงินสำคัญมากเช่นกัน วางแผนรองรับให้ครอบคลุม เงินออม เงินฉุกเฉิน เงินสำรอง ประกันสุขภาพ รายจ่ายคงที่ รายจ่ายไม่คงที่ (พวกนี้โรงเรียนควรสอน ว่ามะ)
8. ความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ คือการไม่เริ่มต้น วันนี้ถ้ายังไม่เคยทำอะไรใหม่ๆ ทำเลยลองเลย ไม่งั้นจะรู้ได้ไง ทุกอย่างไม่มีล้มเหลว มีแต่เรียนรู้ และลงมือทำ ซ้ำๆ
9. ตั้งเป้าหมายให้ชัดว่าเราต้องการอะไรกันแน่ในชีวิตนี้ แล้วโฟกัสในแต่ละช่วงเวลา ทำมันไปเรื่อยๆ
10. หลายครั้งเราทำอะไรกับชีวิตเพื่อต้องการเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับ ทำให้ผู้อื่นจนหลงลืมตัวเอง
ตรงนี้ต้องบอกว่า กว่าครอบครัวเข้าใจในเรื่องการลาออก ใช้เวลานานพอสมควร ฉะนั้น เราต้องทำให้เห็นให้ได้ว่าการเป็นตัวเองที่มีความสุขมันดีกว่าการที่ครอบครัวเลือกให้เป็นยังไง (และเขาก็ไม่ได้ผิดอะไรในตอนนั้น) พอมาถึงตรงนี้ ไม่ว่าเราจะตัดสินใจอะไรในตัวเอง ครอบครัวก็เคียงข้างและภูมิใจกับเราเสมอ สิ่งสำคัญคือ กลับมารู้จักตัวเองให้ได้ (โรงเรียนไม่ได้สอน สอนแค่ต้องเป็นในแบบที่สังคมอยากให้เป็น)
สุดท้ายนี้ อย่าใช้ชีวิตด้วยความกลัว แต่จงใช้ชีวิตด้วยความหวัง ความฝัน แรงบันดาลใจ และชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน
บรรจุข้าราชการครู 15 สิงหาคม 2559 ลาออกจากราชการมีผล 1 มิถุนายน 2566
ขอเป็นกำลังใจให้ตัวเองและทุกคนที่กำลังอยู่ในเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน"