xs
xsm
sm
md
lg

"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจก้าวไกล ชี้ไม่แย่ แต่ยังไม่ใช่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ โพสต์ข้อความวิเคราะห์นโยบายด้านเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ชื่นชมความตั้งใจให้เต็ม 10 แต่ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ให้ชาวเน็ตอ่านแล้วคิดกันดู ยันนโยบายไม่แย่ แต่แค่มันยังไม่ใช่

จากกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่เสนอตัวเป็น รมว.คลังในการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ออกรายการเว็บไซต์ลงทุนแมน เจอชาวเน็ตโวยประเทศไม่ใช่ตลาดนัด ชี้นโยบายกระทบตลาดทุน คนรวยโดนรีด คนจนก็ไม่รวยขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยเจ้าตัวมองว่าหลายนโยบายก็ไม่ได้แย่ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ ทั้งนี้ เจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า

"ไม่แย่ แต่ ไม่ใช่

ได้ฟังว่าที่ รมต.คลัง คุณไหม ศิริกัญญา ตันสกุล ให้สัมภาษณ์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของ ลงทุนแมน (ฟังไปจัดๆ 3 รอบ)

หลายคำถามที่ชวนให้กังวล ได้รับคำตอบที่ต้องบอกว่ายอมรับได้ (ไม่แย่) แต่อีกหลายคำถามที่เกี่ยวพันกับการเติบโต โดยเฉพาะตลาดทุน ยอมรับเลยว่า เหนื่อยแน่ๆ

เนื้อหาการให้สัมภาษณ์จะแบ่งเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรกคุณศิริกัญญาจะพูดถึงเป้าหมายและนโยบายที่พรรคก้าวไกลจะทำ

- เศรษฐกิจต้องโตอย่างเป็นธรรม ในอดีตเศรษฐกิจโตก็จริง แต่ดอกผลการเจริญเติบโตไม่ได้รับการกระจายอย่างเป็นธรรม

- มุ่งเน้นการกระจายรายได้ให้เกษตร SME และแรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

- จัดการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันการค้า (ทลายทุนผูกขาด) โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการทำสัญญาผูกขาดกับรัฐบาล เช่น ธุรกิจเครื่องดื่มมึนเมา

- เรื่องของการเติบโต เน้นไปที่เพิ่มศักยภาพของแรงงาน เน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น ชิป และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นเรื่องข้อมูลที่ทุกคนสามารถนำข้อมูลบางส่วนของรัฐไปใช้ได้

- ค่าไฟ จะเร่งคุยกับ กกพ.ปรับค่า FT ลง (ปกติจะมีการปรับทุกๆ 4 เดือน) ดังนั้นค่าไฟน่าจะลดลงได้ภายใน ธ.ค. ทันกรอบ 100 วันแรก

ส่วนที่ 2 คือ เน้นตอบคำถามต่างๆ

- เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน มองว่าเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการขึ้นค่าแรงสู่ดุลยภาพ เพราะที่ผ่านมาค่าแรงขึ้นเฉื่อยและไม่ทันกับเงินเฟ้อ

- จะมีมาตรการชดเชย เยียวยา ให้แก่ SME ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น งดการนำส่งเงินสมทบประกันสังคมได้ 6 เดือน ค่าจ้างนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และปรับลดภาษีนิติบุคคลให้กับ SME (25% เหลือ 10%) การลงทุนในเครื่องจักรสามารถนำมาลดภาษี 1.5-2 เท่า

- เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายใหญ่ นำการลงทุนในเครื่องจักรมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5-2 เท่า

- ช่วงเปลี่ยนผ่าน มีความยืดหยุ่น ผู้ประกอบการสามารถขอเลื่อนหรือขยายเวลาในการปรับขึ้นค่าแรงได้

- ความกังวลว่าจะมีการย้ายฐานการผลิต จะแก้ด้วยการเพิ่มทักษะของแรงงาน (labor productivity) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้แรงงานเพิ่มทักษะได้ในระยะเวลาสั้นๆ (รัฐบาลจะอุดหนุนครั้งใหญ่ในเรื่องนี้)

- เรื่องทลายทุนผูกขาด มองทุนผูกขาดคือทุนที่มีอำนาจเหนือตลาด หากได้มาด้วยการมีนวัตกรรมของตัวเองอันนั้นโอเค แต่เมื่อไหร่ที่ได้อำนาจเหนือตลาด จากการใกล้ชิดกับรัฐหรือได้มาโดยสัมปทานที่ไม่ได้มีการประมูลอย่างโปร่งใส หรือได้มาเพราะควบรวมโดยยังไม่มีกฎหมายควบคุม พวกนี้จะเข้าไปทลายด้วยการออกมาตรการจัดการ รวมไปถึงยกเครื่องกฎหมายการแข่งขันการค้า

- วิธีการทลายทุนผูกขาด กลุ่มโรงไฟฟ้า ไม่สามารถไปยกเลิกสัญญาสัมปทาน แต่จะแก้ด้วยการเจรจาเพื่อแก้สัญญา เช่นรัฐบาลจะขอเลื่อนการจ่ายค่าความพร้อมจ่ายแลกกับการขยายเวลาสัญญา มองอนาคตกำลังไฟสำรองที่เกินความต้องการจะลดลง (เท่ากับว่าจะมีแผนลดการทำสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ๆ)

- จะมีการทบทวนสัญญาการรับซื้อไฟใหม่ อาจจะต้องมีการเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้า (ทุกวันนี้มีการผูกขาดโดยรัฐ มี กฟผ.เป็นผู้ซื้อผู้เดียว)

- กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตอนนี้เหลือผู้ประกอบการ 2 ราย จะปรับกฎระเบียบเปิดเสรีโทรคมนาคม และเร่งเจรจาหาผู้ประกอบการรายที่ 3, 4 มากกว่าที่จะเข้าไปจัดการกับกลุ่มผู้ประกอบการเดิม

- มองเรื่องดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลง บางส่วนมาจากตลาดเชื่อว่าก้าวไกลเอาจริงในการทลายทุนผูกขาด แต่สาเหตุใหญ่อื่นๆมาจาก 1. ตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงด้วย 2. หุ้นมักจะลงหลังเลือกตั้ง 3. ฝรั่งขายเพราะความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเกิดจากปม รธน.ปี 2560 ที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความยากลำบาก

- การเก็บภาษีจากกำไรเงินลงทุน Capital Gain Tax (CGT) มีความเป็นธรรมต่อนักลงทุนรายย่อยมากกว่าภาษีจากการขายหุ้น Financial Transaction Tax (FTT)

- มองว่าการลงทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้นกู้ พันธบัตร ที่ดิน หรือฝากเงินไว้ในธนาคารฯ ล้วนต้องเสียภาษี แต่การซื้อขายหุ้นกลับไม่เสียภาษี ถ้ามองที่ความเป็นธรรม การเก็บ CGT ดูเหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาผลกระทบ จากผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสีย (ตอนนั้นเป็นพี่ทอม ไพบูลย์ เป็นผู้ถาม และถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้เสียประโยชน์จะไม่เห็นด้วยกับ CGT)

- ภาษีจากความมั่งคั่ง wealth tax จะเก็บจากผู้ที่มีสินทรัพย์ (รวมหุ้นที่ถือด้วย) ลบหนี้สิน เกิน 300 ล้านบาท ส่วนที่เกินตั้งแต่บาทแรกจะเก็บ 0.5% มีอยู่ประมาณ 1 แสนรายทั่วประเทศ

- ไม่คิดว่า wealth tax จะทำให้การออก IPO ของบริษัทต่างๆ ลดลง เพราะผลกระทบน้อย การได้ประโยชน์จากการระดมทุน เทียบกับ cost of fund จากแหล่งอื่น การเสีย wealth tax ถือเป็นต้นทุนที่เล็กน้อย

- ภาษีทรัพย์สิน เป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาคนอาจไม่สบายใจในการเสียภาษี แต่วันนี้ก้าวไกลจะใช้ภาษีให้คุ้มค่า เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข สร้างสวัสดิการมีหลักประกันที่มั่นคงในชีวิต

- RMF ในการนำมาหักลดหย่อนภาษี ควรมีอัตราที่เป็นธรรม ไม่เกิน 15% (เพื่อไม่ให้ลดหย่อนมากจนเกินไป) ส่วน LTF ตอนนี้เป็น SSF มองว่าตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องดีมากแล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเอา LTF กลับมาอีก

- เห็นความสำคัญของตลาดทุน จะเน้นการเข้าไปทำให้เกิด fair game มุ่งเป้าไปที่ ก.ล.ต.ในการจัดการเอาผิดผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย

- ภาษีนิติบุคคล มองว่ามีช่องว่าง Gap กับภาษีบุคคลธรรมดาที่กว้างมาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จะมีการทยอยขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 23% และปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา

- จะไปมุ่งขึ้นภาษีที่ดินก่อน การขึ้นภาษีนิติบุคคล

- จะมุ่งไปที่รัฐสวัสดิการ (ไม่ถึงขั้นกลุ่มประเทศ Scandinavia Model) แต่ต้องให้ถึงขั้นสวัสดิการพื้นฐาน)

- แหล่งที่มาของเงิน แม้จะไม่ทำรัฐสวัสดิการ แต่โปรแกรมภาษีกำลังรออยู่ จากสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้การ refinance พันธบัตรชุดต่างๆ ส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีไปชนขอบวินัยการคลังภายในปี 2570 ดังนั้น ก.คลัง (รัฐบาลชุดก่อน) มีแผนอยู่แล้วในการจะขึ้นภาษีต่างๆ

- ก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีดังกล่าว เพราะจะเป็นการไปไล่เบี้ยกับประชาชนคนเล็กคนน้อย เช่น VAT และยกเลิกการยกเว้นผู้มีรายได้ 1.5 แสนบาทแรก

- จะเน้นการเก็บภาษีจากผู้ที่มีความสามารถในการจ่าย และจัดการกับงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณฐานศูนย์ ตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นทิ้งไป และอุดรูรั่วเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้ AI จับโกง

- ภาษีที่ดิน ภาษีค่าเช่า และภาษีอื่นๆ จะต้องมีการขันนอต เก็บให้มีประสิทธิภาพ

จากที่คัดย่อการให้สัมภาษณ์มา ผมขอสรุปตามความคิดเห็นของผมนะครับ

เป็นไปตามที่ Live ในทุกเช้าว่า เขาจะมุ่งสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ เน้นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ลดกำไรส่วนเกินของกลุ่มทุนใหญ่ ผ่านการขึ้นค่าแรง ภาษี และเพิ่มคู่แข่ง ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ SME

แม้จะไม่มีการไปยกเลิกสัญญา รวมไปถึงขวางการควบรวมที่เกิดขึ้นก่อนหน้า แต่จะมีการออกมาตรการ กฎหมายการค้าต่างๆ

ดังนั้น จากนี้ประสิทธิภาพการทำกำไร การเติบโตของกลุ่มทุนใหญ่จะเหนื่อยและยากกว่าเดิม และกระทบการลงทุนแน่นอน

ส่วนความเหมาะสมของตำแหน่ง รมต.คลัง จากการฟังความคิดเห็นต่างๆ คุณศิริกัญญามีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองจะทำเป็นอย่างดี แต่ภาพเศรษฐกิจของประเทศมันมีการเชื่อมโยงกันหลายส่วน หลายคำตอบยังไม่เคลียร์ และมีคำถามต่ออีกมากมาย

เช่น เรื่องการขึ้นค่าแรงมีความเฉื่อยและตามเงินเฟ้อไม่ทัน แล้วผลกระทบจากการกระชากค่าแรงขึ้นจะยิ่งเป็นการเร่งเงินเฟ้อหรือไม่ สุดท้ายแล้วต้องขึ้นค่าแรงรุนแรงไปเรื่อยๆ หรือไม่

หรือการขึ้นค่าแรงจะทำให้มีการย้ายฐานการผลิตหรือไม่ คำตอบว่าต้องไปเร่งเพิ่มทักษะแรงงาน ยังเป็นคำตอบที่ชวนให้สงสัยว่ากลุ่มทุนต่างชาติที่มาตั้งฐานผลิตในประเทศไทยนั้น เขามาด้วยค่าแรงเราถูกและเหมาะกับงานที่ใช้ทักษะไม่สูงมิใช่เหรอ หากต้องการทักษะสูง ค่าแรงสูง เขาจะย้ายฐานมาทำไม

ผลกระทบเรื่องนี้กลับไม่มีการพูดถึง เช่นเดียวกับความรู้ความเข้าใจในกลไกตลาดทุนต่อระบบเศรษฐกิจ

คำตอบที่ได้รับคือ ต้องมีการไปศึกษาก่อน

ถ้าเรื่องความตั้งใจในสิ่งที่จะทำผมให้เต็มสิบ แต่ถ้าเรื่องความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ทุกท่านลองไปฟังและให้คะแนนกันเอาเองนะครับ"
กำลังโหลดความคิดเห็น