xs
xsm
sm
md
lg

จับตา!! ร่าง กม.ใหม่ จ่อคุม "อาหาร" อันตรายสุขภาพเด็ก ห้ามโฆษณา-ขายใน ร.ร. คาดเสร็จใน 1 ปี จี้ทำฉลากประเดิม "รายใหญ่" ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดร่าง พ.ร.บ.คุมการตลาด "อาหาร" ที่ส่งผลสุขภาพเด็กต่ำกว่า 18 ปี ชี้หวานมันเค็มสูง ห้ามโฆษณาโดยตรงกับเด็กทุกช่องทางรวมออนไลน์ ห้ามจำหน่ายในโรงเรียน ห้ามส่งเสริมการขายทำ CSR ห้ามออกชื่อ เผยมี 7 ประเภทอาหาร กำหนดค่าแตกต่างกัน ร่งประชาพิจารณ์คาด 1 ปีกฎหมายเสร็จ ประเดิมผู้ประกอบการรายใหญ่ก่อน ต้องทำฉลากระบุค่าหวานมันเค็มชัดเจน หากค่าไม่เกินโฆษณาตามปกติ

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. กรมอนามัยจัดเวทีประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลต่อสุขภาพเด็ก โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเปิดผ่านระบบออนไลน์ ว่า จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ปี 2563 พบเด็กไทยมีภาวะอ้วนขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยเด็กอายุ 1-5 ปีมีภาวะอ้วนและเริ่มอ้วนเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 11.4 เด็กอายุ 5-14 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าจากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 13.9 และเด็กอายุ 15-18 ปีมีภาวะอ้วนร้อยละ 13.2 ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วนโลกคาดการณ์ว่าปี 2573 ประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีจะมีภาวะอ้วนในน้ำหนักเกินสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) ที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในอนาคต

"มาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญเพื่อยุติโรคอ้วนในเด็กไทยตามตัวชี้วัดระดับโลก อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านเทคนิคการตลาดกลไกการบังคับใช้กำกับติดตามและประเมินผล" นพ.สุวรรณชัยกล่าว


นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ประธานการรับฟังความคิดเห็นฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ทำมาเกือบ 2 ปีแล้ว การประชาพิจารณ์ในครั้งนี้มีหน่วยงานเข้าร่วมมากกว่า 30 หน่วยงานเพื่อให้ พ.ร.บ.ฯ มีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยจะนำความเห็นของทุกภาคส่วนมาพัฒนาร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและโรค NCDs ในเด็ก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนสามารถร่วมประชาพิจารณ์ได้ผ่านทางเว็บไซต์จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ตั้งเป้าจะคลอดให้ได้ภายใน 1 ปี โดยกฎหมายลักษณะนี้มีแล้วหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ชิลี จะช่วยควบคุมการโฆษณาเกินจริงโดยเฉพาะอาหารไขมันสูง หวานสูง โซเดียมสูง

พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ. ... นั้น มีทั้งหมด 42 มาตรา โดยเด็กจะหมายถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก คือ อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมันน้ำตาลโซเดียมสูงหรืออาหารและเครื่องดื่มอื่นใดที่เด็กบริโภคแล้วทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ พัฒนาการ หรือความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สาระสำคัญจะมีการตั้งคณะกรรมการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก (คตอด.) มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ส่วนการควบคุมการตลาด ในส่วนของฉลากต้องไม่ใช้ข้อความหรือเทคนิคอื่นใดที่ดึงดูดให้กลุ่มเด็กสนใจ ห้ามผู้ผลิตผู้นำเข้าผู้จำหน่ายหรือตัวแทนแสดงความคุ้มค่าทางด้านราคา ณจุดจำหน่ายสินค้า ทั้งร้านค้าปลีก ค้าส่ง และระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ , ห้ามจำหน่ายในสถานศึกษาที่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา , ห้ามส่งเสริมการขาย คือ แจก แถม ให้ แจกคูปองหรือสิทธิที่จะได้รับส่วนลด ขายพ่วง ให้ของขวัญรางวัลหรือสิ่งอื่นใด การแถมพกหรือรางวัลด้วยกันเสี่ยงโชคชิงโชคชิงรางวัล จัดส่งแบบไม่คิดค่าบริการ , ห้ามบริจาคในสถานศึกษาหรือสถานที่ส่วนรวมสำหรับเด็ก หากประสงค์จะมอบหรือให้สิ่งของอุปกรณ์ของใช้ หรือสนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรม จะต้องไม่แสดงชื่อหรือข้อความหรือสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายเชื่อมโยงไปถึงอาหารและเครื่องดื่ม และห้ามติดต่อเด็กไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมทุกช่องทาง

นอกจากนี้ ยังห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารในเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กทุกช่องทาง ห้ามผู้ใดจัดตั้งกลุ่ม ชมรม ชุมชนออนไลน์ของอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเพื่อส่งเสริมสนับสนุนแนะนำให้บริโภค รวมถึงห้ามผู้ใดชักชวนหรือจูงใจเด็กด้วยข้อความสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงไปถึงอาหารในเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กทั้งทางตรงทางอ้อม โดยบทกำหนดโทษจะเป็นโทษปรับ ซึ่งมีตั้งแต่ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท 2 แสนบาท และ 300,000 บาท ต่างกันไปตามความผิดและยังมีการปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนบทเฉพาะกาลกำหนดให้ฉลากที่จัดทำไว้แล้วก่อน พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ ให้ใช้ได้ต่อไปไม่เกิน 2 ปี และให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. นี้ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน


ถามว่าจะซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.อาหารของ อย.หรือไม่ นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า คนละอย่างกัน พ.ร.บ.อาหารจะทำเรื่องการควบคุมอาหารเรื่องคุณภาพ มีประโยชน์แบบไหน ปริมาณขนาดไหนให้ขายได้ ให้ทำฉลาก ส่วนของเราดูการควบคุมการตลาด ถ้าจะส่งเสริมการขาย แจก แลก แถม ฟรี โปรโมตให้เด็กกินเค็มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นคนละส่วน แต่ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องคือ สารอาหารที่จะระบุในฉลากของอาหารต้องชัดเจน เช่น ไขมัน น้ำตาล โซเดียมต้องไม่เกินเท่าไร ซึ่งเรามีการกำหนดตัวเลขตามหลักวิชาการไว้แล้วตามประเภทของอาหารและเครื่องดื่มที่มี 7 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็จะไม่เท่ากัน เช่น อาหารมื้อหลัก ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มต่างๆ เป็นต้น ถ้าหวานมันเค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะโฆษณาไม่ได้ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งไม่ใช่แค่ในทีวี แต่รวมถึงออนไลน์ด้วย แต่ถ้าไม่เกินจากนี้ก็จะสามารถโฆษณาได้ตามปกติ

ถามว่าอาหารที่ส่งผลกระทบสุขภาพเด็ก แต่เป็นการโฆษณากับประชาชนทั่วไปไม่ใช่กับเด็กโดยตรงจะทำได้หรือไม่ นพ.สราวุฒิกล่าวว่า ตรงนี้ยังเป็นประเด็นที่อาจมีช่องว่าง เพราะหากไปโฆษณาแต่กระทบต่อเด็กก็ต้องลิงก์ว่ามีผลกระทบแบบนั้นก็จะไม่ให้มีการโฆษณาเพื่อไม่ให้เกิดกระทบต่อเด็ก ก็เป็นข้อหนึ่งที่จะลงไปในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม เรามีการพูดคุยกับผู้ประกอบการตลอด ส่งเสริมให้มีความรอบรู้ ทั้งเรื่องการผลิตอาหารแบบมีคุณภาพ หวานน้อยสั่งได้ Healthier Choise รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายแบบนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าอินฟลูเอนเซอร์ก็จะรวมอยู่ด้วยใช่หรือไม่ นพ.สราวุฒิกล่าวว่า ใช่ น่าจะเข้าไปอยู่ด้วย เพราะมีส่วนสำคัญในโฆษณา โดยอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่โฆษณาจะมีความผิดร่วมด้วยหรือไม่เท่าไรอย่างไร เพราะโทษตอนนี้มีเพียงทางแพ่งโทษปรับ ไม่มีโทษอาญา ตอนนี้ก็ต้องมารับฟังความคิดเห็นก่อน

ถามว่าหากกฎหมายบังคับใช้แล้ว โฆษณาต่างๆ ที่ออกมาต้องปรับใหม่ทันทีหรือไม่ นพ.สราวุฒิกล่าวว่า ก็มีส่วนหนึ่งที่ต้องปรับ โดยเฉพาะโฆษณาอาหารกรุบกรอบ เครื่องดื่มบางประเภท ก้ค่อนข้างเยอะ ต้องปรับรูปแบบการโฆษณาใหม่

ถามว่าอาหารจานด่วนหรือกลุ่มฟาสต์ฟู้ดที่ไม่มีฉลากชัดเจน นพ.สราวุฒิกล่าวว่า อาหารที่เราจะเข้าไปควบคุม ถ้าจะมาโฆษณาได้ก็ต้องผ่านการมีฉลาก แต่อาหารบางกลุ่มที่ไม่มีฉลากก็มี เราพยายามให้ผู้ประกอบการหลายแห่งให้มาลงทะเบียนและมีฉลากก็ต้องไปผ่าน อย. อย่างที่บอกว่ามีอาหาร 7 ประเภท ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีเรื่องของอาหารจานด่วน ฟาสต์ฟู้ด ก็จะมีตารางสารต่างๆ ก็ต้องไม่เกินค่าตามนี้ จึงต้องมีการไปตรวจค่าออกมาก่อน และทำฉลากว่าส่วนผสมมีสารอะไรเท่าไรบ้าง หากไม่เกินก็โฆษณาได้ตามปกติ ส่วนร้านเล็กๆ โฮมเมดที่ไม่มีฉลากอยู่แล้วก็จะเป็นลำดับถัดไปเป็น Next Step ซึ่งเราจะพยายามให้เข้ามาสู่ระบบเช่นกัน แต่กลุ่มเหล่านี้จะไม่ค่อยโฆษณาเท่าไร เพราะจะขายอยู่แค่ตรงนั้น นอกจากนี้ เรายังควบคุมไปถึงออนไลน์ด้วย เพราะผู้บริโภคจำเป็นต้องรู้ว่ามีสารอะไรในนั้น แต่ระยะแรกจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนรายย่อยก็จะตามมา ค่อยเป้นค่อยไป สร้างความเข้าใจเรื่องคุณภาพต่างๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การห้ามจำหน่ายในโรงเรียนเพียงพอหรือไม่ เพราะตรงข้ามโรงเรียนก็มีการขายแล้ว นพ.สราวุฒิกล่าวว่า จริงๆ เรามีมาตรการเยอะ โรงเรียนสีขาว อาหารปลอดภัยในโรงเรียน พื้นที่ห่างจากโรงเรียนไม่เกินเท่านี้ไม่ให้ขายก็มีมาตรการเยอะ แต่ก็ยังมีแบบนั้นอยู่ นอกจากมี พ.ร.บ.นี้ออกมาก็จะช่วยให้การเข้าถึงของเด็กยากขึ้น เป็นสิ่งที่เราคาดหวังไว้

ถามต่อว่าการให้ผู้ประกอบการอาหารที่มีผลกระทบสุขภาพเด็กสนับสนุนอุปกรณ์ งบประมาณต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กได้ แต่ห้ามแสดงชื่อต่างๆ จะกลายเป็นการตีตราอาหารเหล่านี้หรือไม่ว่ามีโทษร้ายแรงไม่แตกต่างจากบุหรี่และเหล้าที่ห้ามเหมือนกันหรือไม่ นพ.สราวุฒิกล่าวว่า ต้องให้ผู้คนรับทราบว่า สิ่งเหล่านี้กินเข้าไปแล้วอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนจะตีตราเหมือนเหล้าหรือบุหรี่หรือไม่ก็ต้องสามารถแยกแยะได้ ถ้ากินแบบนี้ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น