เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเรียกร้องรัฐจัดการปัญหาหมูเถื่อนให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อยุติวงจรหมูเถื่อนที่ทำลายตลาดและทำร้ายสุขภาพคนไทยมานานกว่าปี แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กระทั่งในที่สุดเกษตรกรตัดสินใจรวมตัวกันกว่า 2,000 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อขอความช่วยเหลือก่อนล่มสลาย ล่าสุดประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือนำกลุ่มเกษตรกรเข้าร้องเรียนต่อ DSI เพื่อจัดการปราบโกงหมูเถื่อนในวงราชการ
ความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่นี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมศุลกากร ในการจัดการปัญหาการลักลอบนำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง หลังช่วงที่ผ่านมามีการตรวจพบหมูเถื่อนในตู้ตกค้างถึง 161 ตู้ จำนวน 4.5 ล้านกิโลกรัม โดยกรมศุลฯ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีตรวจสอบตู้สินค้าอาหารแช่แข็งให้เป็นกลุ่ม Red Line หรือกลุ่มสินค้าที่ต้องเปิดตรวจทั้งหมด เพื่อลดโอกาสที่หมูเถื่อนจะหลุดรอดเข้าสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังยกระดับคณะทำงานการแก้ปัญหาหมูเถื่อน ขึ้นเป็นระดับ “กรมต่อกรม” โดยมีตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนกรมศุลกากร ตัวแทนกรมปศุสัตว์ ตัวแทนกรมการค้าภายใน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน
“นับจากนี้หมูเถื่อนจะไม่หลุดเข้าสู่ประเทศอีก” เป็นคำประกาศสำคัญของอธิบดีกรมศุลกากรกลางที่ประชุมคณะทำงานดังกล่าว นับเป็นคำประกาศที่ชโลมใจเกษตรกรคนเลี้ยงหมูได้ทั้งประเทศ หากแต่เท่านี้อาจยังไม่พอ เพราะถ้ากรมศุลฯ ผลักดันให้ขนหมูเถื่อนกลับประเทศต้นทาง กลุ่มมิจฉาชีพจะใช้วิธีย้ายเส้นทางขนส่งออกไปขึ้นฝั่งที่ประเทศเพื่อนบ้าน แล้ววกกลับเข้ามาประเทศไทยทางด่านชายแดนจังหวัดต่างๆ แทน ดังที่ได้เห็นการจับกุมหมูเถื่อนในจังหวัดต่างๆ หลายครั้ง ดังนั้น กรมศุลฯ ควรห้ามการ Re-Export ด้วย โดยงดเว้นการผลักดันหมูเถื่อนกลับประเทศต้นทาง แต่ต้องอายัดและส่งทำลาย เนื่องจากเป็นสินค้าผิดกฎหมายแล้ว
ขณะเดียวกัน การฝังทำลายหมูเถื่อนทั้งหมด 161 ตู้ หรือ 4.5 ล้านกิโลกรัม และ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบตู้ตกค้างอีก 100 ตู้ ณ ท่าเรือฮัทชิสันนั้น ควรต้องมีคณะทำงานที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร ตำรวจ DSI ฯลฯ เข้ามาเป็นสักขีพยาน ให้การทำลายหมูทั้งหมดเต็มไปด้วยความโปร่งใส
สำหรับในส่วน DSI ที่ได้รับหลักฐานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องการทุจริตจากนายอัจฉริยะแล้ว อาทิ การปลอมแปลงเอกสาร การหลบเลี่ยงภาษี เพื่อนำไปพิจารณารับหมูเถื่อนเป็นคดีพิเศษนั้น ก็ได้ขอความร่วมมือเพิ่มเติมจากประชาชนที่พบเห็นสถานที่จัดเก็บสินค้าชิ้นส่วนสุกรที่สงสัยว่าจะเป็นแหล่งพักสินค้าเนื้อสุกรราคาถูกผิดปกติ ร้านอาหารที่มีบรรจุภัณฑ์เข้าลักษณะต้องสงสัยว่าเป็นสินค้าเนื้อสุกรนำเข้าจากต่างประเทศ โดยให้ส่งหลักฐานไปที่ นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.กองคดีภาษีอากร (ดูแลคดีหมูเถื่อน) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โทร. 0-2831-9888 อีเมล dsi@dsi.go.th และ tanin@dsi.go.th ซึ่งสะท้อนให้เห็นความตั้งใจในการช่วยเหลือเกษตรกรคนเลี้ยงหมู และคนไทยทั้งประเทศให้ปลอดภัยจากหมูเถื่อน ในการปราบทุจริตในวงราชการ ซึ่งเป็นอีกหน้าที่หลักของ DSI
เพราะเพียงแค่การหลบเลี่ยงภาษีในระยะ 4 เดือนที่ผ่านมา ด้วยการปลอมแปลงเอกสารและสำแดงเท็จ ก็ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปแล้วมหาศาลนับหมื่นล้านบาท เช่น หากสำแดงว่าเป็นสินค้าเนื้อสัตว์จะเสียภาษีที่กิโลกรัมละ 7
บาท ใน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ บรรจุเนื้อสัตว์น้ำหนัก 25 ตัน ต้องเสียภาษีตู้ละกว่า 175,000 บาท และต้องขอใบอนุญาตนำเข้าและตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์ 50,000 บาท แต่หากสำแดงเท็จเป็นสินค้าอื่น ขบวนการนี้จะเสียภาษีเพียง 3,000 บาทเท่านั้น
การขจัดทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ เป็นหัวใจสำคัญในการกำจัด ขบวนการหมูเถื่อน ให้หมดไปจากประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ช่วยกันตอกย้ำให้โลกรู้ว่า “มิจฉาชีพ” ไม่มีทางลอยนวล
โดย วลัญช์ ศรัทธา