xs
xsm
sm
md
lg

ส่องแนวทางกำจัดหมูเถื่อน...หลังเกษตรกรรวมตัวลงถนน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ปิติ ปัฐวิกรณ์
 
เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยต้องเผชิญกับปัญหาหมูเถื่อนกระจายอยู่ในท้องตลาดอย่างเปิดเผยมาตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นความเดือดร้อนอย่างหนักจนเกินจะรับได้ ในที่สุดเกิดการรวมตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ จำนวนเกือบ 2,000 คน เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้เร่งปราบปรามทุจริตในวงราชการ และกำจัดขบวนการหมูเถื่อนอย่างเด็ดขาด พร้อมนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ ขณะเดียวกัน เรียกร้องไปยังกรมศุลกากรให้ดำเนินการจัดการกับขบวนการนี้อย่างโปร่งใสและเร่งด่วน
 
ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของเกษตรกรดูเหมือนจะไม่ได้รับความใส่ใจ กระทั่งต้องรวมตัวลงถนนแบบนี้จึงได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจากกรมศุลกากร ที่สั่งการให้อุดช่องโหว่การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนทันที โดยปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้าทางเรือ จากปกติการตรวจปล่อยสินค้าจะมีกลุ่มใบขนสินค้าเป็น 2 กลุ่ม คือ ให้เปิดตรวจ (Red Line) หรือให้ยกเว้นการตรวจ (Green Line) ซึ่งคาดว่าหมูเถื่อนทะลักเข้าไทยได้เป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Green Line ครั้งนี้กรมศุลกากรจึงเสนอที่จะจัดกลุ่มอาหารแช่แข็งที่จะผ่านพิธีศุลกากรเข้าอยู่ในกลุ่ม Red Line หรือต้องเปิดตรวจทั้งหมด เพื่อลดโอกาสหลุดรอด หรือทุจริต
 
คำถามคือ วิธีการแก้ง่ายๆ แค่เปลี่ยนให้กลุ่มอาหารแช่แข็งเป็นกลุ่ม Red Line ทั้งหมด เรื่องแค่นี้ทำไมไม่ทำตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่เกษตรกรส่งสัญญาณถามถึงขบวนการทุจริตหมูเถื่อนมาตลอดทั้งปี ปล่อยให้เหตุการณ์บานปลาย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง จนเกษตรกรจำต้องลงถนนเพราะทนหมูเถื่อนเกลื่อนเมืองไม่ไหว
 
น่าแปลกที่กรมฯ ยังมีหมายเหตุไว้อีกว่า อาจยกเว้นผู้นำเข้าที่มีประวัตินำเข้าดีมายาวนาน ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียให้เข้าในกลุ่มที่ยกเว้นการตรวจได้ (Green Line) ทั้งๆ ข้อเท็จจริงคือมีการจับกุมและดำเนินคดีนำเข้าหมูเถื่อนกับห้องเย็นแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องเย็นที่มีประวัติดี ไม่มีความด่างพร้อยมาก่อน!! ... กรณีนี้คงชัดเจนแล้วว่าประวัติดี ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้อยู่ในกรอบระเบียบของทางการเสมอไป จึงไม่มีเหตุผลที่กรมจะนำมาใช้ในการปล่อยอาหารแช่แข็งบางส่วนให้ผ่าน Green Line


เมื่อได้ยินนโยบายใหม่ที่ว่า ทุกการกระทำความผิดเกี่ยวกับหมูเถื่อนและมีตู้ตกค้าง “คดีจะไม่จบที่ศุลกากร” แต่จะส่งต่อไปกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือ บช.ก. โดยกรมทำหนังสือ “ขอให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัวในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต” และเข้ายื่นต่อผู้บัญชาการ บช.ก. ในปลายสัปดาห์เดียวกัน

น่าแปลกที่กรมฯ ดูจะเจาะจงให้ตำรวจเอาผิดเฉพาะฐานความผิดนำเข้าซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษเบากว่า พ.ร.บ.ศุลกากร ทั้งๆ ที่สามารถทำได้ และความผิดนี้มีโทษทั้งจำและปรับที่หนักหนาสาสมกว่า ... หรือกังวลว่าอาจกระทบใครในแวดวงใกล้ชิด

การที่กรมศุลกากรออกมารับลูกรีบแก้ไขรวดเร็วนับเป็นสิ่งที่ดี แต่การแก้ไขแบบมีข้อจำกัดและไม่หนักแน่นเช่นนี้ อาจทำให้หลายคนกังขาและไม่อาจไว้วางใจได้ เพราะผู้เล่นทุกคนในเส้นทางนี้ไม่ควรได้รับการยกเว้นทั้งสิ้น ไม่ว่าคนคนนั้นจะอยู่ในชุดอะไร อย่าลืมว่าข้อเรียกร้องหลักในครั้งนี้ของเกษตรกรคือ “ปราบโกงหมูเถื่อน” ซึ่งน่าจะหมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ทางออกที่ดูจะเข้าท่าที่สุดเห็นจะเป็นการยกระดับคณะทำงานการแก้ปัญหาหมูเถื่อน ขึ้นเป็นระดับ “กรมต่อกรม” โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตัวแทนกรมศุลกากร ตัวแทนกรมปศุสัตว์ ตัวแทนกรมการค้าภายใน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อไปว่าการประสานงานจะได้รับการตอบสนองจากแต่ละกรมกองรวดเร็วแม่นยำเพียงใด

แอ็กชั่นจากกรมศุลฯ ครั้งนี้จะบรรเทาความรู้สึกของเกษตรกรลงได้มาก หากแสดงความจริงใจโปร่งใส และควรใช้โอกาสนี้ “ประกาศนโยบายปราบทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ” ทำความสะอาดกรมกองทุกแห่งให้สะอาดหมดจด เป็นของขวัญปลอบใจเกษตรกรที่แทบหมดลมหายใจในช่วงกว่าปีที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น