xs
xsm
sm
md
lg

หมูเถื่อนค้างตู้ 4.5 ล้านกิโลกรัม ... ใครรับผิดชอบ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมูเถื่อนค้างตู้ 4.5 ล้านกิโลกรัม ... ใครรับผิดชอบ?

โดย ปิติ ปัฐวิกรณ์

ข่าวการพบหมูเถื่อนจำนวนมหาศาลถึงกว่า 4.5 ล้านกิโลกรัม ในตู้ตกค้างจำนวน 161 ตู้จากจำนวนที่เปิด 220 ตู้ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ที่กรมศุลกากรแถลงนั้น สร้างความตระหนกตกใจให้คนไทยไม่น้อย พร้อมๆ กับคำถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไม “ขบวนการหมูเถื่อน” นี้จึงยิ่งใหญ่ท้ากฎหมาย สร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยได้อย่างยืดเยื้อยาวนาน และกำจัดได้ยากเย็นเช่นนี้

หากกล่าวถึงขบวนการหมูเถื่อนในภาพรวม คนมักจะคิดถึงผู้นำเข้า ชิปปิ้ง ห้องเย็น สายส่ง ค้าปลีก ร้านชาบูหมูกระทะ แต่จริงๆแล้วยังมีส่วนอื่นๆ ในขบวนการนี้ที่ถูกมองข้าม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่อาจเป็นประตูสู่ทางออกของปัญหาทั้งหมดได้ ในที่นี้คือ “บริษัทผู้ให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์”

ล่าสุด มีบริษัทสัญชาติสิงคโปร์รายหนึ่งออกมาเปิดโปงการทำงานส่วนหนึ่งของขบวนการนี้ โดยระบุว่า ตู้ของตนถูกเช่าไปบรรจุเนื้อหมูและชิ้นส่วนหมูจากประเทศบราซิล ซึ่งยังตกค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบังนานถึง 8 ตู้ และเป็นเวลานานถึง 7-8 เดือนแล้วที่ไม่สามารถติดต่อชิปปิ้งมาออกของตามพิธีทางศุลกากรได้

จริงอยู่ว่าคนกลุ่มนี้อาจเข้าข่ายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดของขบวนการดังกล่าว แต่อีกนัยหนึ่งหากเขาไม่ทราบว่าผู้เช่านำตู้ไปบรรจุสินค้าผิดกฎหมาย หรือรับทราบข้อมูลเท็จจากผู้เช่าว่าเป็นปลาทะเล อาหารสัตว์ หรืออื่นๆ คนกลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “เหยื่อ” รายหนึ่งของขบวนการนี้ก็ได้ ซึ่งในทางกฎหมายสามารถกันคนกลุ่มนี้ไว้เป็น “พยาน” เพื่อสาวไปถึงต้นตอของการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนได้หรือไม่ คงต้องรอกูรูทางกฎหมายชี้แนะอีกที


อย่างไรก็ตาม วิธีการ Re-Export ที่บริษัทให้เช่าตู้และเดินเรือทะเลสัญชาติสิงคโปร์ พยายามเรียกร้องให้ชิปปิ้ง หรือผู้เช่าตู้ออกมาแสดงตัวและดำเนินการ Re-Export ไปที่ท่าเรืออื่น เช่น ท่าเรือดานังในเวียดนาม ท่าเรือสีหนุวิลล์ในกัมพูชานั้น โดยสามารถทำการ Re-Export สำเร็จไปแล้วถึง 5 ตู้ ซึ่งไม่ได้การันตีว่าหมูเถื่อนเหล่านี้จะไม่วกกลับมาอาละวาดในเมืองไทย

ดังที่ได้เห็นการจับกุมหมูแช่แข็งที่เล็ดลอดเข้ามาทางด่านสะเดา จ.สงขลา ด่านชายแดนสระแก้ว รวมถึงด่านมุกดาหาร และด่านอุบลราชธานี จึงดูเป็นข้อเสนอที่ไม่สามารถป้องกันหมูเถื่อนเข้าสู่ประเทศไทยได้ หรืออาจเรียกว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนช่องทางนำเข้าหมูเถื่อนเท่านั้น หมูเถื่อนจึงระบาดกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วไทย เบียดเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยจนได้รับผลกระทบอย่างหนักมาถึงทุกวันนี้

ปริมาณหมูเถื่อนมหาศาลสะท้อนว่ามิจฉาชีพกลุ่มนี้เป็นขบวนการขนาดใหญ่มาก ซึ่งแน่นอนว่าต้องมี “ผู้มีอิทธิพล” อยู่เบื้องหลัง จึงสามารถทำเรื่องผิดกฎหมายมานานนับปี และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

บางคนอาจมองว่านี่เป็นผลงานของ “กรมศุลกากร” ที่เข้มงวดจนทำให้เหล่ามิจฉาชีพไม่สามารถนำของเถื่อนจำนวน 4.5 ล้านกิโลกรัมออกไปขายในตลาดได้ ซึ่งต้องชมเชยการทำงานอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ แต่ถ้าจะให้ดีควรงัด พ.ร.บ.กรมศุลกากรมาเอาผิดชิปปิ้ง และผู้นำเข้าให้ได้


ไม่ใช่เพียงบอกว่ากรมศุลฯ ทำได้เพียงยึดหมูนั้นให้ตกเป็นของแผ่นดิน หากไม่มีใครมาแสดงใบคำขอนำเข้า (ร.6) และใบอนุญาตนำเข้า (ร.7) ภายใน 60 วัน แล้วจบลงตรงที่ส่งมอบให้ “กรมปศุสัตว์” นำไปฝังทำลาย ... ฟังดูแล้วเหมือนไม่มีความพยายามในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ให้ถึงที่สุด ทั้งที่กรมศุลฯ มีข้อมูลของผู้นำเข้า ชิปปิ้ง ผู้ให้เช่าตู้ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแทบทั้งหมด

หายนะที่เกิดจากขบวนการหมูเถื่อนนั้นอันตรายมาก ทั้งกระทบเกษตรกรไทยที่อาจต้องหยุดอาชีพจากการเบียดเบียนตลาด เมื่อไม่มีคนเลี้ยงหมูย่อมกระทบความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และกระทบเศรษฐกิจชาติที่กำลังต้องการการฟื้นฟู ที่สำคัญยังกระทบสุขอนามัยของผู้บริโภคชาวไทยที่รับประทานหมูปนเปื้อนสารตกค้าง และไม่ผ่านการตรวจสอบความสะอาดปลอดภัย

มันจึงเป็น “ความรับผิดชอบร่วมกัน” ของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องอยู่ในเส้นทางของขบวนการหมูเถื่อน ดังเช่นที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยมีบัญชาให้ทุกภาคส่วนประสานความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการกำจัดขบวนการนี้ให้หมดไป ...

แต่จนถึงวันนี้ ทุกหน่วยงานรัฐได้ร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อกำจัดขบวนการหมูเถื่อนแล้วหรือยัง?


กำลังโหลดความคิดเห็น