1.“ดีเจแมน-ใบเตย” นอนคุก หลังศาลไม่ให้ประกันคดี Forex-3D ชี้ พฤติการณ์ร้ายแรง-ทำเป็นขบวนการ-หวั่นหลบหนี!
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. พนักงานอัยการคดีพิเศษ 5 ได้นัดฟังคำสั่งในคดีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษนำความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 8 ราย ได้แก่ นายพัฒนพล กุญชร หรือดีเจแมน, น.ส.สุธีวัน กุญชร หรือใบเตย, นายฉัตรชัย คชทิน หรือเสือ, นายธีร์ภัสกร กิมวังตะโก หรือมาร์ค, นายสุรนาถ นาคมุสิก, นายอายุวัต ชัยเมธนากูล, นายแดริล ยัง (ยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้เเล้ว) และนายอดัม โพการี (เป็นชาวฮังการีและกลับประเทศไปนานกว่า 1 ปีแล้ว)
ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จากกรณีเเชร์ Forex-3D
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า “สำหรับสำนวนคดีนี้ เราเหลือผู้ต้องหาอยู่ทั้งหมด 6 ราย ซึ่งวันนี้ได้มาฟังคำสั่งทั้ง 6 รายแล้ว ทางคณะทำงานได้สรุปข้อมูล เสนออธิบดีอัยการคดีพิเศษ แล้วก็ได้แจ้งคำสั่งฟ้องกับผู้ต้องหาในวันนี้ที่มาทั้ง 6 ราย ขั้นตอนต่อไปเราก็จะนำผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ไปยื่นฟ้องต่อศาล"
ทั้งนี้ หลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 6 คนต่อศาลอาญา ศาลได้ประทับฟ้อง เบื้องต้นสอบคำให้การจำเลยแล้ว จำเลยทั้ง 6 คน ให้การปฎิเสธ โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 ก.ค. เวลา 09.00 น.
ด้านนายอมร กุศล ทนายความของใบเตยและดีเจแมน ระบุว่า ตนได้รับการมอบหมายให้เขียนใบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ในเรื่องทุนทรัพย์นั้นเป็นทางญาติของจำเลยเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด
โดยมีรายงานว่า น้องชายของใบเตยได้เสนอหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวจำนวน 5 ล้านบาท ส่วน ญาติของดีเจแมน ได้เสนอหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท โดยทั้งคู่แสดงความประสงค์ขอติดกำไลอีเอ็มด้วย นอกจากนี้มีรายงานว่า มีเพียงจำเลยที่ 1,2 3,5 ที่ยื่นประกันตัว ส่วนจำเลยที่ 4 และ 6 ไม่ได้ยื่นประกันเเต่อย่างใด กระทั่งในเวลาต่อมา นายอมร ทนายความ เผยว่า ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย
ทั้งนี้ ศาลอาญาให้เหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวจำเลยว่า เป็นการกระทำเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก ส่งผลเสียวงกว้าง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง และจำเลยถูกฟ้องว่าร่วมกับพวกกระทำความผิดหลายกรรม หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
หลังศาลไม่ให้ประกันตัวดีเจแมนและใบเตย สองสามีภรรยา ทำเอาครอบครัวของทั้งคู่เครียดและเป็นห่วงเป็นอย่างมาก โดย “พิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา” แม่ของดีเจแมน ถึงกับร้องไห้ระหว่างเดินมาหาลูกชายบริเวณฝ่ายควบคุมผู้ต้องขังประจำศาลอาญา
หลังจากนั้น แม่ดีเจแมนได้ตะโกนผ่านลูกกรงของฝ่ายควบคุมผู้ต้องขังประจำศาลอาญาว่า "พระคุ้มครองนะลูกนะ แม่เข้มแข็ง ไม่ต้องห่วง แม่ดูแลตัวเองได้ รักลูกนะ สมาธินะลูกนะ สวดมนต์ พรุ่งนี้จะซื้อของใช้จำเป็นมาให้ สู้ๆ แม่เข้มแข็ง ไม่ต้องห่วงแม่ แม่ก็สู้ ไม่ต้องห่วงเวทมนต์"
ด้าน "ลุกส์ ชาญวิทย์ ทวีสิน" น้องชายของใบเตย ได้ปลอบใจพี่เขยว่า "พี่แมน ไม่ต้องห่วงพ่อกับแม่นะ ลุกส์จะดูแลให้เอง สู้ เทคแคร์นะ"
และก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวดีเจแมนไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และนำตัวใบเตยไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ปรากฏว่า พ่อของใบเตยได้มายืนรอส่งลูกสาวที่ด้านหน้าประตูศาลอาญา ก่อนโบกมือลาใบเตย โดยพ่อเผยกับผู้สื่อข่าวว่า "ใบเตยเป็นห่วงลูก ฝากดูแลลูก"
2."สนธิ" ยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบ "ที่ดินสวนชูวิทย์" เป็นสมบัติสาธารณะหรือไม่ หลังนัก ก.ม.หลายคนยืนยัน ด้านเจ้าตัวยัน ไม่เคยยกให้สาธารณะ แต่ให้ ปชช.ใช้ประโยชน์!
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำเอกสารหลักฐานเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบเรื่องที่ดินบริเวณ ถ.สุขุมวิท ซอย 10 กทม. ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ว่า ที่ดินดังกล่าวได้กลายเป็นที่ดินสาธารณะไปแล้วหรือไม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ลงมารับเรื่องร้องทุกข์
นายสนธิ กล่าวว่า ตนกับนายปานเทพได้มายื่นคำร้องกับ ป.ป.ช. ซึ่งตนไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก เหตุผลคือ ตนมีความสับสนในเรื่องที่ดิน เรื่องสวนของนายชูวิทย์ จากที่ตนได้รับข้อมูลและตรวจสอบเอง และได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ทุกคนให้เหตุผลว่า สวนชูวิทย์เป็นสาธารณสมบัติไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2548 ซึ่งตรงกันข้ามกับที่นายชูวิทย์พูด
อีกประการหนึ่ง ตนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตคลองเตย ชี้แจงถึงประเด็นข้อสงสัย และอยากให้กรุงเทพมหานครช่วยจัดการตรวจสอบ และมีมติชัดเจนว่า จะเอายังไงกับสวนชูวิทย์ ทางกรุงเทพมหานครคิดว่าเป็นสาธารณสมบัติ หรือเป็นสมบัติของนายชูวิทย์ เหมือนกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่า มันเป็นสมบัติของบริษัทของนายชูวิทย์
แต่พอตนทำจดหมายเป็นทางการ ท่านก็เริ่มตั้งคณะกรรมการ หลังจากนั้นอีก 7 วัน ตนทำหนังสือไปอีกฉบับหนึ่งให้เวลา 30 วัน เพื่อให้ท่านมีคำตอบ ซึ่ง 30 วันนั้น ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ตนมีความจำเป็นที่ต้องมาร้องต่อ ป.ป.ช. เพราะทีมงานกฎหมายของตน ยืนยันได้ว่า สวนของนายชูวิทย์นั้น ตกเป็นสาธารณสมบัติอย่าง 100% พร้อมทั้งแนบฎีกา 14 ฎีกามาให้
ด้านนายปานเทพ กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งแรกปี 2546 เกิดการรื้อบาร์เบียร์บนที่ดินของนายชูวิทย์ ปี 2548 ได้เปิดสวนชูวิทย์ ยืนยันว่า ที่ดินตรงนี้เป็นของตนเองและตระกูล แต่ขอเสียสละให้เป็นสวนของ กทม. ลั่นวาจาไว้ หลังจากนั้น ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกฟ้องจำเลยส่วนใหญ่ พิพากษาจำคุก 1 คน หลังจากนั้น วันที่ 11 กันยายน 2555 ศาลมีคำพิพากษากลับให้นายชูวิทย์และพวก 66 คน มีความผิด ฐานทำให้เสียทรัพย์และใช้กำลังประทุษร้าย และพิพากษาจำคุกคนละ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ปรากฏว่า วันที่พิพากษาศาลฎีกาตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ศาลฎีกาเตรียมอ่านคำพิพากษาแล้ว นายชูวิทย์ ยื่นคำให้การเป็นแถลงใหม่ 1. สารภาพ 2. บอกว่าสวนสาธารณะแห่งนี้ เป็นสาธารณะและจะไม่ทำกิจการใดๆ อีก เป็นสวนสาธารณะแบบไม่กำหนดระยะเวลา
หลังจากนั้น นายชูวิทย์ ยื่นแถลงครั้งที่ 2 มีทั้งแผนที่ภาพถ่ายว่าสวนสาธารณะทั้งผืนที่เป็นสวนชูวิทย์ เป็นสวนสาธารณะทั้งหมด ในที่สุดวันที่ 28 มกราคม 2559 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาลดโทษนายชูวิทย์จาก 5 ปี เหลือ 2 ปี เรื่องคำรับสารภาพไม่มีผล แต่มีในเรื่องของการชดใช้เงินให้กับฝ่ายโจทก์และผู้เสียหายจนพอใจ นายชูวิทย์ได้นำที่ดินที่เป็นข้อพิพาทมาก่อสร้างสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนพักผ่อนไม่ได้นำไปก่อสร้างศูนย์การค้าย้อนยุค เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตามที่ตั้งใจไว้ ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายและรายได้จำนวนมาก บ่งบอกว่า นายชูวิทย์สำนึกผิดกับสิ่งที่ได้กระทำไป ศาลจึงลดโทษให้ด้วยเหตุนี้
เมื่อนายชูวิทย์ออกจากเรือนจำมาหลัง 19 ธันวาคม 2559 หลังจากนั้น 1 เดือน นายชูวิทย์ ได้เขียนบทความว่าได้พยายามเยียวยาโดยเอาที่ดินมูลค่ามหาศาล ทำเป็นสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้ ทำเป็นประโยชน์กับประชาชน ท่ามกลางศูนย์การค้า สำนักงานล้อมรอบ แทนที่จะเอาที่ดินไปหาประโยชน์ทางธุรกิจ “ชัดเจนมากทั้งการยืนยันด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร คำถามคือใครเกี่ยวข้องบ้าง บริษัทคุณชูวิทย์หรือลูกคุณชูวิทย์ ผู้รับเหมา มีการออกใบอนุญาตได้อย่างไร ใบอนุญาตออกมาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เราและคุณสนธิได้ออกมายื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิกถอนการก่อสร้าง ดำเนินคดีคนที่บุกรุกทำลายสวนสาธารณะ และครอบครองสวนสาธารณะ เมื่อมีหนังสือออกมา 2 รอบแล้ว ก็เห็นว่าต้องถึงเวลาดำเนินคดีความให้ ป.ป.ช.ไต่สวนผู้ที่เกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์คุณชูวิทย์”
วันต่อมา (10 พ.ค.) นายชูวิทย์ ได้เข้ายื่นเอกสารหลักฐานประกอบคำให้การกรณีสวนชูวิทย์ ซอยสุขุมวิท 10 ต่อ ป.ป.ช. โดยมีนายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมารับเอกสาร
โดยนายชูวิทย์ ยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของตน ตนไม่ได้ขอมาฟรี แต่ซื้อมาในราคา 500 ล้านบาท และนำมาสร้างเป็นบาร์เบียร์ แต่ภายหลังถูกรื้อถอน จนต้องต่อสู้คดีและติดคุก ตนจึงเห็นควรว่าอยากให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะโดยตั้งชื่อว่า สวนชูวิทย์ ตามชื่อของตัวเอง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และมีเจตนาที่ดีจึงสร้างสวนนี้ขึ้นมา
นายชูวิทย์ กล่าวว่า ตนเองเสียภาษีที่ดินถูกต้องครบถ้วนทุกปี รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ อีกทั้งมีบ้านอยู่ภายในพร้อมบ้านเลขที่ด้วย ซึ่งคนในพื้นที่คลองเตยและเจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ ทุกคนรู้ดี ยืนยันว่าตนไม่ได้ยกที่ดินให้เป็นของสาธารณะ ที่ดินยังเป็นชื่อของตัวเองอยู่ แต่ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากที่ดินสวนนี้ มีเวลาเปิดปิดชัดเจนและมีรั้วรอบของชิด และถ้าตนเองยกที่ดินตรงนี้ให้สาธารณะจริงๆ ครอบครัวของตนโดยเฉพาะภรรยาเอาตายแน่
3. "ศรีสุวรรณ" เข้าให้ถ้อยคำ กกต. กรณียื่นสอบนโยบาย พท.แจกเงินดิจิทัล ก่อนถูกชายไม่พอใจบุกตบปากแตก พบถ่ายรูปคู่แกนนำ พท. ด้าน พท.ปัด ไม่เกี่ยว!
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ปราศรัยนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หลังให้ถ้อยคำ นายศรีสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า กกต. เชิญมาให้ถ้อยคำเพื่อยืนยันเอกสารหลักฐาน หลังพบข้อมูลอาจฝ่าฝืน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73(1) (5) ที่ระบุถึงการแจกทรัพย์สิน หรือสิ่งของอื่นใดที่มีมูลค่าเป็นเงิน และเป็นนโยบายแฝงจูงใจให้คนมาเลือกตนเอง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติในอนาคต
เบื้องต้น กกต.แจ้งว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นเร่งด่วนสำคัญ จึงเรียกให้ตนมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม คาดว่า จะเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ทั้งหมด โดยส่วนตัวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับเอกสารที่นำมายื่น กกต. เพิ่มเติม มีทั้งเอกสารมติ ครม.ที่อนุมัติงบประมาณปี 2567 ประมาณ 3.33 ล้านล้านบาท และเงินจำนวนนี้คาดว่าจะมีงบประมาณพอให้รัฐบาลใหม่ใช้เพียง 2 แสนล้านบาท จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย 70 นโยบาย ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะนโยบายจ่ายเงินดิจิทัลต้องใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท นั้นไม่สามารถทำได้
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยชี้แจงรายละเอียดกับ กกต.ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังไม่มีความชัดเจนในการใช้งบประมาณดังกล่าว และไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดชัดเจน นอกจากนี้กรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมาบอกว่า จะมีเม็ดเงินจากผลคูณทางเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงแล้ว นโยบายแจกเงินของพรรคเพื่อไทยต้องใช้งบประมาณทันที 5.6 แสนล้านบาท มองว่าจะนำงบประมาณจากอนาคตมาใช้นั้นเป็นไปไม่ได้ นโยบายจ่ายเงินดิจิทัลจึงเป็นนโยบายประชานิยมสุดขั้วเกินไป ซึ่งจะเป็นปัญหากระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ จึงอยากให้ กกต.ออกคำวินิจฉัยโดยเร็ว แม้ว่ากรอบระยะเวลาอาจจะไม่ทันก่อนการเลือกตั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่นายศรีสุวรรณให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวและกำลังจะแยกย้าย ได้มีชายรูปร่างใหญ่ ใส่สูทเดินเข้ามาตบปากนายศรีสุวรรณ พร้อมตะโกนด่าทออย่างหยาบคาย กล่าวหานายศรีสุวรรณว่า "ฟ้องไม่เข้าเรื่อง ฟ้องพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ทำไม ฟ้องนายพิธาทำไม เขาจะมีเลือกตั้งอยู่แล้ว..."
ทั้งนี้ การถูกชายดังกล่าวทำร้าย ทำให้นายศรีสุวรรณถึงขั้นปากแตกเลือดออก นายศรีสุวรรณจึงเข้าแจ้งความที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อเอาผิดชายดังกล่าว ทราบชื่อคือ นายทศพล ธนานันท์โสภณ ข้อหาทำร้ายร่างกาย โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า จะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ไม่มีคำว่าเจรจาต่อรองหรือยอมรับคำขอโทษใดๆ ทั้งสิ้น
มีรายงานว่า หลังเกิดเหตุ นายทศพล ธนานนท์โสภณกุล ผู้ก่อเหตุ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปให้ปากคำเพิ่มเติมที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยนายทศพล ยืนยันพร้อมสู้คดี และมองว่า การกระทำของตนไม่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และเป็นการสั่งสอนนายศรีสุวรรณ
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา นายศรีสุวรรณ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยเป็นภาพนายทศพลถ่ายรูปร่วมกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนอย่างสนิทสนม ขณะร่วมเวทีกิจกรรมปราศรัยของพรรคเพื่อไทย ทั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายสนธยา คุณปลื้ม นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ โดยนายศรีสุวรรณ ระบุข้อความด้วยว่า "ภาพไม่กี่ภาพ แต่อธิบายความได้นับล้านถ้อยคำ 1.บุคคลที่ทำร้ายร่างกายผมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่หน้า กกต. เมื่อตรวจสอบประวัติแล้วพบว่า เป็นอดีตอาจารย์ ม.เอกชน แต่ไม่ได้ทำงานแล้ว แต่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่ง ที่หัวหน้าพรรคมีคดีฟ้องร้องผมอยู่ในศาลอาญา (ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่มาใส่เสื้อพรรคเขาทำไม?)"
"2. เมื่อสืบประวัติย้อนหลังไปทั้งหมด ยังพบอีกว่า เป็นบุคคลที่เคยยื่นคำร้องถวายฎีกาคัดค้านอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เกี่ยวกับการออกคำสั่ง ม.44 ของ คสช. มาก่อน และเคยถวายฎีกาขอให้ถอดถอนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากความเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ตกลงพี่แกเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยนะเนี่ย แต่กลับมากล่าวหาผมซะงั้น"
"3.บุคคลดังกล่าวอ้างว่ามาทำธุระที่ศูนย์ราชการฯ มารับประทานอาหารกับเพื่อน ไม่มีใครจ้างมาทำร้ายผม เผอิญเห็นผมยืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่ จึงเข้ามาฟัง เมื่อฟังคำสัมภาษณ์ของผมแล้ว จึงหมั่นไส้ เพราะอ้างว่าผมร้องไปเรื่อย โดยเฉพาะร้องพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล"
"4.เผอิญวันดังกล่าว กกต.เชิญผมไปให้ถ้อยคำกรณีการร้องให้ตรวจสอบนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยอยู่พอดี แห๋ม อะไรจะช่างประจวบเหมาะพอดีกับภาพถ่ายเหล่านี้ ที่แชร์กันมากมายเต็มโซเชียลอยู่ในขณะนี้หนอ 5.ตกลงไม่มีใครอยู่เบื้องหลังแน่นะ…วิ"
ในเวลาต่อมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงถึงภาพที่ผู้ก่อเหตุทำร้ายนายศรีสุวรรณ มีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย โดยยืนยันว่า บุคคลดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับพรรค การถ่ายภาพกับแกนนำ ก็เป็นเรื่องปกติ ในฐานะบุคคลสาธารณะ ส่วนที่เห็นว่าใส่เสื้อพรรคเพื่อไทยด้วย นายภูมิธรรมบอกว่า ทุกคนที่ชื่นชอบและสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ก็สามารถใส่เสื้อได้
4. "เรืองไกร" ยื่น กกต." ตรวจสอบ "พิธา" ถือครองหุ้นสื่อ "ไอทีวี" ขาดคุณสมบัติลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ เจ้าตัวบอก เคยแจ้ง ป.ป.ช.แล้ว!
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบว่า การที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น
นายเรืองไกร เผยว่า ตนใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้ 5 วัน เสียเงินไปหลายพันบาท เพื่อคัดเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หลังจากได้ข้อมูลมาจากบุคคลที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี แล้ว ก็พบหลักฐานตามเอกสาร บมจ.6 ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าส่งมาว่า ณ วันที่ 27 เม.ย. 65 นายพิธายังคงเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นจำนวนดังกล่าวอยู่ และบริษัท ไอทีวี เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ โดยมีรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นล่าสุดที่มีผู้ถือหุ้นถามผู้บริหารว่า บริษัท ไอทีวี เป็นสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารก็ได้ตอบว่าเป็นบริษัทสื่อ จึงจำเป็นต้องร้องให้ กกต. ตรวจสอบ ซึ่งการที่นายพิธา ออกมาระบุว่า เคยชี้แจงต่อ ป.ป.ช.แล้ว ก็ขอบคุณ เพราะถือว่าเป็นการยอมรับ ถึงจะแบ่งรับแบ่งสู้ เป็นเรื่องที่ดี แม้จะระบุว่าหุ้นดังกล่าวไม่ใช่ของตนเอง เป็นกองมรดก และตัวเองเป็นผู้จัดการ แต่อยากให้ดูรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) เขียนเพียงว่า ผู้จะลงสมัคร ส.ส. ต้องไม่เป็นผู้ถือครองหุ้นสื่อเท่านั้น
นายเรืองไกร ยังกล่าวถึงกรณีที่นายพิธาอ้างว่า ได้หารือและชี้แจง ป.ป.ช.แล้วว่า เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการลงสมัคร ส.ส. ควรต้องมาหารือ กกต. สิ่งที่นายพิธาอ้างหารือ ป.ป.ช.น่าจะเป็นเรื่องการถือครองหุ้นและแจ้งบัญชีทรัพย์สิน โดยตนได้ไปตรวจสอบการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายพิธา ระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส. ก็ไม่พบว่ามีการแจ้งหุ้นดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. จึงได้ไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบด้วยว่า นายพิธาแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า “เรื่องนี้อยากให้ กกต.ดำเนินการโดยเร็ว เพราะผลที่ออกมาก่อนและหลังเลือกตั้งจะแตกต่างกัน ถ้าทำเสร็จหลังการเลือกตั้งต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเหมือนกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ศาลวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นวีลัค มีเดีย จะทำให้ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่มีผลถึงเรื่องยุบพรรค”
ทั้งนี้ วันเดียวกัน นายพิธา กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ยื่น กกต. ให้ตรวจสอบการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ขัดต่อคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. ว่า ไม่กังวลอยู่แล้ว และไม่มีความประมาทด้วย ตนมีทีมกฎหมายหลายทีม และได้ปรึกษาทีมกฎหมายมาตั้งแต่สมัยปี 2562 ชี้แจง ป.ป.ช.ไปแล้วด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้จะเป็นช่องว่างทำให้เกิดเหตุซ้ำรอยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถือหุ้นสื่อที่ไม่ได้ประกอบการไปแล้วเหมือนกัน นายพิธายืนยันว่า เป็นคนละเรื่องกันเลย และมีรายละเอียดทางกฎหมายเยอะ ยังไงจะรอหมายเรียกจาก กกต.มาถึง หากมีหมายเรียก พร้อมจะชี้แจงทั้งหมดครั้งเดียว
วันต่อมา (11 พ.ค.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีมีการร้อง ให้ตรวจสอบนายพิธา ถือหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี ว่า ยังไม่เห็นคำร้อง และขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 วันจะถึงวันเลือกตั้ง ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา สำนักงานต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ก่อนนำเสนอให้ กกต. พิจารณา
นายแสวง เผยขั้นตอนการพิจารณากรณีมีการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ด้วยว่า ตามกฎหมาย มีอยู่ 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงหลังวันเลือกตั้ง และช่วงประกาศผลการเลือกตั้ง โดยก่อนการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา 61 ถ้า กกต.ตรวจสอบแล้ว เห็นว่าไม่มีคุณสมบัติ ให้ยื่นต่อศาลฎีกาพิจารณา แต่หากดำเนินการไม่ทัน หลังการเลือกตั้ง ก่อนการประกาศผล ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครรับเลือกตั้ง กกต.ก็จะมีมติให้ดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ฐานรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีคุณสมบัติในการสมัคร แต่ก็ยังลงสมัคร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนั้นก็ต้องประกาศผลให้เป็น ส.ส.ไปก่อน จากนั้นจะเป็นการดำเนินการหลังการประกาศผล มีรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งได้กำหนดช่องทางในการดำเนินการไว้ ทั้งให้ ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อ และ กกต. ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
5. อ่วม! ศาลพิพากษาจำคุก "แชร์แม่มณี" 1.2 หมื่นปี ตุ๋นเหยื่อเสียหายกว่า 1.3 พันล้าน สารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง แต่จำคุกจริงได้แค่ 20 ปี!
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาพิเษก ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีแชร์แม่มณี ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช หรือเดียร์, นายเมธี ชิณภา หรือบอส สองสามีภรรยา, นายปิยะ คีรีสุวรรณกุล หรือเป้, น.ส.พรสวรรค์ ภูอินอ้อย หรือฝ้าย, น.ส.ธวัลรัตน์ ทิพย์ประเวช มารดาของ น.ส.วันทนีย์ จำเลยที่ 1, น.ส.วิไลวรรณ หงษ์ประชาทรัพย์ หรือมิ้น, น.ส.นิตยา พินนอก หรือโบว์, นายบริภัทร เข็มรัตน์ และนายปิยะเศรษฐ์ ธิโสภา เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงิน อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยจำเลยที่ 1-2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยอื่นให้การปฏิเสธ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 9 มี.ค. 2562-30 ต.ค. 2563 จำเลยทั้งเก้าได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระ โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เจตนาทุจริตหรือโดยการหลอกลวงได้บังอาจร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเฟซบุ๊ก ประกาศให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมออมเงินหรือร่วมลงทุนกับจำเลย โดยจะได้ผลตอบแทนมากกว่าปกติเป็นพิเศษ โดยมีแผนการตลาดหรือรูปแบบการลงทุนจัดแบ่ง ออกเป็นวง จำนวนการลงทุนวงละ 1,000 บาท จะได้รับผลตอบแทน 930 บาท ต่อหนึ่งวง เมื่อครบกำหนด 9 เดือน นับแต่วันที่ลงทุนหรือวันที่ฝากเงินมายังบัญชีที่แจ้ง โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินที่ลงทุนพร้อมผลตอบแทนกลับไปจำนวนวงละ 1,930 บาท
ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวก ได้เปลี่ยนเป็นการลงทุนระยะสั้น อีกหลายระบบหลายครั้ง ซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนเป็นเท็จ ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวก ไม่ได้จัดให้มีการออมเงินหรือร่วมลงทุนโดย ได้รับผลตอบแทนมากกว่าปกติดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นอุบายให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงเท่านั้น จนมีผู้เสียหายจำนวน 2,533 ราย รวมทั้งสิ้น 1,376,215,359 บาท โดยให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ตั้งแต่อัตราร้อยละ 1,116 ถึงร้อยละ 3,040.45 ต่อปี อันเป็นเท็จ ซึ่งการกู้ยืมเงินตามกฎหมาย ดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปีเท่านั้น
โดยพวกจำเลยนำเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต และเป็นการกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเกิน 10 คน ซึ่งมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป อันมิใช่การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน การกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เบิกความยืนยันทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันมีพฤติการณ์โฆษณาหลอกลวงประชาชนและผู้เสียหายจำนวนมากให้มาร่วมลงทุน โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 3-9 เป็นลูกจ้างของจำเลย ไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิด พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องจริง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำนวน 2,528 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 12,640 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5,056 ปี 15,168 เดือน
อย่างไรก็ตาม กฎหมายคงจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี จึงจำคุกจำเลยที่ 1-2 ไว้คนละ 20 ปี และให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 3-9 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้ มีงายงานว่า หลังศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 3-9 ต่างพากันดีใจกอดคอร้องไห้ แสดงความยินดีต่อกัน ขณะที่ญาติจำเลยที่ยกฟ้อง กล่าวว่า ดีใจที่ศาลยกฟ้อง และให้ความเป็นธรรม เพราะที่จริงแล้ว เป็นแค่ลูกจ้างเท่านั้น