xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิ” ยื่นหนังสือจี้ ป.ป.ช.ตรวจสอบที่ดิน “ชูวิทย์” เป็นสาธารณสมบัติหรือเป็นสมบัติส่วนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



สนธิ ลิ้มทองกุล” พร้อม “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” นำเอกสารหลักฐานยื่น ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบที่ดิน “ชูวิทย์” บริเวณ ถ.สุขุมวิท ซ.10 เป็นสาธารณสมบัติ หรือเป็นสมบัติสวนตัว หลัง “ชูวิทย์” เคยประกาศและให้การต่อศาลในคดีรื้อบาร์เบียร์ ว่า จะให้เป็นสวนสาธารณะของชาว กทม.

วันนี้ (9 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถ.นนทบุรี 1 อ.เมืองนนทบุรี นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต เดินทางนำเอกสารหลักฐานเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบเรื่องที่ดิน บริเวณ ถ.สุขุมวิท ซอย 10 กทม.ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ว่า ที่ดินดังกล่าวได้กลายเป็นที่ดินสาธารณะไปแล้วหรือไม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ลงมารับเรื่องร้องทุกข์


นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวว่า วันนี้ ตนกับนายปานเทพได้มายื่นคำร้องกับ ป.ป.ช.ตนไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก เหตุผลคือ ตนมีความสับสนในเรื่องที่ดิน เรื่องสวนของนายชูวิทย์ จากที่ตนได้รับข้อมูลและตรวจสอบเอง และได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ทุกคนให้เหตุผลว่า สวนชูวิทย์เป็นสาธารณสมบัติไปแล้ว ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548 ซึ่งตรงกันข้ามกับนายชูวิทย์พูด อีกประการหนึ่ง ตนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตคลองเตย ชี้แจงถึงประเด็นข้อสงสัย และอยากให้กรุงเทพฯ ช่วยจัดการตรวจสอบ และมีมติชัดเจนว่า จะเอายังไงกับสวนชูวิทย์ ทางกรุงเทพมหานครคิดว่าเป็นสาธารณสมบัติ หรือเป็นสมบัติของนายชูวิทย์ เหมือนกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่ามันเป็นสมบัติของบริษัทของนายชูวิทย์ แต่พอตนทำจดหมายเป็นทางการ ท่านก็เริ่มตั้งคณะกรรมการหลังจากนั้นอีก 7 วัน ตนทำหนังสือไปอีกฉบับนึงให้เวลา 30 วัน เพื่อให้ท่านมีคำตอบ ซึ่ง 30 วันนั้น ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ตนมีความจำเป็นที่ต้องมาร้องต่อ ป.ป.ช. เพราะในทีมงานกฎหมายของตน ยืนยันได้ว่า ส่วนของนายชูวิทย์นั้น ตกเป็นสาธารณสมบัติอย่าง 100% พร้อมทั้งแนบฎีกา 14 ฎีกามาให้ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต อยากจะบอก นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่าไม่ต้องกังวล เพราะตนไม่ได้มาแย่งอาชีพ


ด้าน นายปานเทพ กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งแรกปี 2546 เกิดการรื้อบาร์เบียร์บนที่ดินของนายชูวิทย์ ปี 2548 ได้เปิดสวนชูวิทย์ ยืนยันว่า ที่ดินตรงนี้เป็นของตนเองและตระกูล แต่ขอเสียสละให้เป็นสวนของ กทม. ลั่นวาจาไว้ หลังจากนั้น ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยกฟ้องจำเลยส่วนใหญ่ พิพากษาจำคุก 1 คน หลังจากนั้น วันที่ 11 กันยายน 2555 ศาลมีคำพิพากษากลับให้นายชูวิทย์และพวก 66 คน มีความผิด ฐานทำให้เสียทรัพย์และกำลังประทุษร้าย และพิพากษาจำคุกคนละ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ปรากฏว่า วันที่พิพากษาศาลฎีกาตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ศาลฎีกาเตรียมอ่านคำพิพากษาแล้ว นายชูวิทย์ ยื่นคำให้การเป็นแถลงใหม่ 1. สารภาพ 2. บอกว่าสวนสาธารณะแห่งนี้ เป็นสาธารณะและจะไม่ทำกิจการใดๆ อีก เป็นสวนสาธารณะแบบไม่กำหนดระยะเวลา

หลังจากนั้น นายชูวิทย์ ยื่นแถลงครั้งที่ 2 มีทั้งแผนที่ภาพถ่ายว่าสวนสาธารณะทั้งผืนที่เป็นสวนชูวิทย์ เป็นสวนสาธารณะทั้งหมด ในที่สุดวันที่ 28 มกราคม 2559 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาลดโทษนายชูวิทย์จาก 5 ปี เหลือ 2 ปี เรื่องคำรับสารภาพไม่มีผล แต่มีในเรื่องของการชดใช้เงินให้กับฝ่ายโจทก์และผู้เสียหายจนพอใจ นายชูวิทย์ ได้นำที่ดินที่เป็นข้อพิพาทมาก่อสร้างสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนพักผ่อนไม่ได้นำไปก่อสร้างศูนย์การค้าย้อนยุค เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตามที่ตั้งใจไว้ ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายและรายได้จำนวนมาก บ่งบอกว่า นายชูวิทย์สำนึกผิดกับสิ่งที่ได้กระทำไป ศาลจึงลดโทษให้ด้วยเหตุนี้

เมื่อนายชูวิทย์ออกมาหลัง 19 ธันวาคม 2559 หลังจากนั้น 1 เดือน นายชูวิทย์ ได้เขียนบทความว่าได้พยายามเยียวยาโดยเอาที่ดินมูลค่ามหาศาล ทำเป็นสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้ ทำเป็นประโยชน์กับประชาชน ท่ามกลางศูนย์การค้า สำนักงานล้อมรอบ แทนที่จะเอาที่ดินไปหาประโยชน์ทางธุรกิจ

“ชัดเจนมากทั้งการยืนยันด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร คำถามคือใครเกี่ยวข้องบ้าง บริษัทคุณชูวิทย์หรือลูกคุณชูวิทย์ ผู้รับเหมา มีการออกใบอนุญาตได้อย่างไร ใบอนุญาตออกมาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เราและคุณสนธิได้ออกมายื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิกถอนการก่อสร้างดำเนินคดีคนที่บุกรุกทำลายสวนสาธารณะ และครอบครองสวนสาธารณะ เมื่อมีหนังสือออกมา 2 รอบแล้ว ก็เห็นว่าต้องถึงเวลาดำเนินคดีความให้ ป.ป.ช.ไต่สวนผู้ที่เกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์คุณชูวิทย์” นายปานเทพ กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น