นายณัชพล สุพัฒนะ หรือ “มาร์ค พิทบูล” ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออันดับ 1 พรรครักษ์ผืนป่าไทย เดินหน้านำขบวนบริษัทเอกชนเข้าพบเลขาธิการฯ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรียกร้องความเป็นธรรม ตามนโยบายเร่งด่วน “ปราบโกง” ให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศไทย เพื่อพิทักษ์เงินของประชาชน ต่อต้านการทุจริตที่มีแต่ลมปาก เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความเป็นคนจริง ที่พร้อมลุยกับเครือข่ายโกงเงินแผ่นดิน เพื่อผดุงความยุติธรรมและพิสูจน์ระบบยุติธรรมของประเทศไทย ก่อนจะได้นายกฯ คนต่อไปของประเทศ
จากกรณีที่กลุ่มบริษัทเอกชนลุยแฉความจริง ผู้บริหาร กฟภ.ฮั้วประมูลงานมิเตอร์ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมิเตอร์ 1 เฟส 2,900 ล้านบาท และมิเตอร์ 3 เฟส 100 ล้านบาท (รวม 3,000 ล้านบาท) โดยผู้บริหาร กฟภ.รับรู้ว่ามีบริษัทผลิตมิเตอร์ 1 เฟส 9 ราย และบริษัทผลิตมิเตอร์ 1 เฟสและ 3 เฟส 7 ราย แทนที่จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าเสนอราคายื่นมิเตอร์ 1 เฟส หรือ 3 เฟสได้แบบที่เคยทำมา 20 ปี เพื่อให้มีบริษัทแข่งขันเสนอราคามิเตอร์ 1 เฟสได้ 16 ราย
ซึ่งได้มีการทำผิดกฎหมายด้วยการเปลี่ยนเงื่อนไขวิธีการจัดซื้อให้ต้องยื่นมิเตอร์ 1 เฟส และ 3 เฟสรวมกัน เพื่อให้มีเฉพาะบริษัทที่ผลิตมิเตอร์ 1 เฟส และ 3 เฟส 7 รายเข้าเสนอราคาได้ กีดกันบริษัทที่ผลิตมิเตอร์ 1 เฟส 9 รายไม่ให้เข้าเสนอราคาส่งผลทำให้การจัดซื้อมิเตอร์ 1 เฟสมูลค่าสูงกว่า 2,900 ล้านบาทเหลือบริษัทแข่งขันเพียง 7 รายจาก 16 รายดังกล่าว เพื่อทุจริตเอื้อให้บริษัท 7 รายได้รับสัญญาเพื่อกีดกันบริษัท 9 รายไม่ให้สามารถเข้าแข่งขันเสนอราคาได้ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดราคากลางมิเตอร์ 1 เฟสสูงถึง 1,605 บาทต่อเครื่อง ทั้งที่การจัดประกวดราคาจัดซื้อมิเตอร์ 1 เฟสมีผู้เสนอราคาต่ำสุดให้กับ กฟภ.มาแล้วแค่ 670 บาท ทั้งนี้พฤติการณ์ฮั้วประมูลดังกล่าวทำเพื่อเอื้อให้มีเฉพาะบริษัท 7 รายได้รับสัญญาดังกล่าว และเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560
พร้อมกันนี้ยังจะขอตามเรื่องร้องเรียน “ศาลปกครองนครราชสีมา พิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดิน” ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา ได้มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดิน จำนวน 32 แปลง แปลงเนื้อที่ประมาณ 2,000ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตั้งโครงการวายุวินด์ฟาร์ม ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ของบริษัทย่อยของบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทับเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงมะสังป่าดงพญากลาง
ซึ่งชาวบ้านจำนวน 48 รายได้รวมตัวยื่นฟ้องศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา โดยยื่นฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวง และเมื่อตรวจสอบโดยกรมป่าไม้พบว่าเอกสารโฉนดที่ดินทั้ง 32 แปลงมีการออกทับที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงมะสังป่าดงพญากลาง ท้องที่ ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา (ซึ่งประกาศตามกฎกระทรวงเมื่อปี 2512) เป็นการออกเอกสารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครอง จังหวัดนครราชสีมา