xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ไซเบอร์ เตือนภัย มิจฉาชีพเปลี่ยนมุกใหม่ อ้าง กฟภ.หลอกให้แอดไลน์เพื่อติดตั้งแอปฯ ปลอม อ้างเพราะมิเตอร์หมุนเร็วผิดปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โทรศัพท์ไปยังประชาชน แจ้งว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำลังจะดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าที่หมุนเร็วผิดปกติ แล้วหลอกลวงให้แอดไลน์ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือโอนเงินออกจากบัญชี ดังนี้

ตามที่ได้แจ้งเตือนประชาชนไปแล้วว่า พบผู้เสียหายหลายรายได้รับข้อความสั้น (sms) จากมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แจ้งว่า ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนนั้น ปัจจุบันได้รับรายงานว่า จากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ พบมิจฉาชีพได้เปลี่ยนเนื้อหาที่ใช้ในการหลอกลวงเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เช่นเดิม แต่เปลี่ยนลักษณะของข้อความ คือ แอบอ้างเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กำลังจะดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าที่หมุนเร็วผิดปกติ หรือแจ้งว่า มิเตอร์ไฟที่ใช้อยู่ไม่เสถียร ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง จะทำการเปลี่ยนมิเตอร์ให้ใหม่ โดยให้ลงทะเบียนติดต่อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ไอดีไลน์ PEA 422 หรือ PEA ตามด้วยหมายเลขต่างๆ ที่มิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมา และหลอกลวงให้ดำเนินการติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อจัดลำดับในการขอเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่ โดยใช้แอปพลิเคชันชื่อ “PEA Smart Pro” และมีการสอนวิธีการติดตั้งทางโทรศัพท์แบบเป็นขั้นตอน เสี่ยงต่อการติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก (ไฟล์อาจเป็นอันตราย หรือไฟล์นามสกุล .apk) และการหลอกให้ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จำนวนหลายๆ ครั้ง เพื่อหวังให้ผู้เสียหายกรอกรหัสชุดเดียวกันกับรหัสเข้าถึง หรือทำธุรกรรมการเงินของแอปพลิเคชันธนาคารต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย รวมไปถึงขอสิทธิในการควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ เช่น ดูและควบคุมหน้าจอ ดูและดำเนินการ เป็นต้น กระทั่งเมื่อมิจฉาชีพได้สิทธิควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือแล้ว จะทำการล็อกหน้าจอโทรศัพท์ ทำให้เสมือนโทรศัพท์ค้าง ซึ่งมักจะแสดงข้อความว่า อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ ห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือ ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำรหัสที่ผู้เสียหายเคยกรอกเอาไว้ก่อนหน้านี้ทำการโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย


ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบมาโดยตลอด มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวยังคงเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ เพียงแต่มิจฉาชีพจะเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน และเปลี่ยนเนื้อหาไปตามวันเวลา และสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งว่าได้รับสิทธิ หรือได้รับเงินคืน ให้อัปเดตข้อมูล โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะหลอกลวงให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้าง ที่ผ่านมา ก็ปรากฏในหลายๆ หน่วยงาน มิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภ ของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใช้ความสมัครใจของเหยื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม มีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ประกาศยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) หรือส่งอีเมลไปยังประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ ทั้งนี้ ฝากย้ำเตือนไปยังประชาชน ไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) หรือลิงก์ ในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ


ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้

1. ไม่กดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้รางวัล หรือโปรโมชันต่างๆ
2. หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
3. ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ ในกรณีนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (โทร.1129) หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้น (pea.co.th) รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
4. ระวัง LINE Official Account ปลอม โดยสังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีโล่เลย จะเป็นบัญชีทั่วไป ยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไม่มีช่องทางไลน์ในการติดต่อกับประชาชนเเต่อย่างใด
5. ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
6. ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk
7. ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด
8. ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ
9. หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
10. อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ




กำลังโหลดความคิดเห็น