"ทนง" ชี้จุดเริ่มต้นสำคัญของประวัติศาสตร์ด้านการเงิน "ปูติน" ประกาศใช้หยวนเป็นสกุลเงินหลักในการค้าขายกลุ่มทวีปเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา บวกกับอีกหลายประเทศพร้อมใจกันเท เชื่อจ่อปิดฉากเปโตรดอลลาร์
วันที่ 3 เม.ย. 2566 นายทนง ขันทอง ผู้เชี่ยวชาญข่าวต่างประเทศ ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "สหรัฐถูกเท..ฉากสุดท้ายของเปโตรดอลลาร์"
นายทนงกล่าวในช่วงหนึ่งว่า จุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประวัติศาสตร์ด้านการเงิน คือการประกาศของ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศว่ารัสเซียจะใช้หยวนเป็นสกุลเงินหลักในการค้าขายกับกลุ่มทวีปเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานเบอร์หนึ่งของโลก รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย ก็จะทำให้การใช้ดอลลาร์ ยูโร รวมถึงสกุลเงินอื่นลดลง ถือว่าเป็นการประกาศแยกโลกตะวันออกกับตะวันตก ต่อไปจะเห็นการค้าขายโดยใช้เงินหยวนมากขึ้น
นายทนงกล่าวอีกว่า ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้กลุ่ม BRICS จะมีการประชุมครั้งสำคัญ ตนคาดว่าจะมีวาระสำคัญ 3 วาระ คือ 1. รับสมาชิกเพิ่ม โดยมีประเทศตุรกี, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย, อาร์เจนตินา, ซาอุฯ, ยูเออี และอียิปต์, ล้วนแล้วแต่แสดงความสนใจที่จะสมัครเข้าร่วม แล้วก็มีข่าวว่าไทยสนใจด้วย ตนว่าก็ควรสมัคร เพราะต่อไปกลุ่มนี้จะเป็นเสาหลักเศรษฐกิจโลก
2. การค้าขายโดยใช้สกุลเงินตัวเองไม่ผ่านดอลลาร์ ซึ่งนั่นก็จะทำให้ความต้องการดอลลาร์น้อยลง ดอลลาร์ก็จะอ่อนค่าลง การปกป้องดอลลาร์ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ย ระบบการเงินตอนนี้กำลังมีปัญหาอยู่ นี่คือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอเมริกาที่กำลังเผชิญอยู่ ในขณะที่ BRICS เข้มแข็งยิ่งขึ้น
3. การสร้างสกุลเงินร่วม ก็คือเอาสกุลเงินของ 5 ประเทศสมาชิกตอนนี้ เอามาใส่ในตะกร้าเพื่อที่เป็นเงินกองทุนของสถาบันใหม่ที่จะตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่คล้ายกับ IMF โดยเงินที่ใส่ในกองทุนก็มากน้อยตามน้ำหนักจีดีพีของแต่ละประเทศ สถาบันการเงินนี้ก็จะออกสกุลเงินร่วม แล้วใช้เงินนี้ในการค้าขายกันเอง แต่คงไม่ได้เกิดง่ายๆ ภายในปีนี้ปีหน้า BRICS ต้องการความมั่นคงของเงินตัวเอง เช่นมีทองคำหนุนหลัง เพื่อสร้างความแตกต่างจากดอลลาร์ไม่มีอะไรหนุน