xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก ก.พ.ลด 4.7% ลบ 5 เดือนติด คาด Q1-2 ยังหดตัวแต่ครึ่งปีหลังฟื้นแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออก ก.พ. 66 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.7% ติดลบ 5 เดือนติด เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอ เงินเฟ้อคู่ค้าพุ่ง ทำกำลังซื้อหด แต่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรฟื้นตัวเพิ่ม 3.6% เป็นบวกครั้งแรกรอบ 5 เดือน แต่อุตสาหกรรมยังลบ 6.2% ประเมินไตรมาสแรกติดลบสูง ไตรมาส 2 ก็ยังลบอยู่ แต่จะฟื้นครึ่งปีหลัง มั่นใจเป้าทั้งปี 1-2% ทำได้
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.พ. 2566 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.7% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 730,123 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 23,489.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 776,424.9 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 1,113.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินบาทมูลค่า 46,301.4 ล้านบาท รวม 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 42,625.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.6% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 1,430,250.2 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 48,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 3.3% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 1,647,854.9 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 5,763.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 217,604.7 ล้านบาท

ทั้งนี้ การส่งออกที่ลดลงมาจากการลดลงของสินค้าอุตสาหกรรม 6.2% ลดต่อเนื่อง 5 เดือนติด โดยสินค้าที่หดตัว เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 20.6% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 22.9% เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ลด 12.9% แต่รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เพิ่ม 3.6% อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 81.7% เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เพิ่ม 22.2% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 15.7% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เพิ่ม 60.5% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 39.7% เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เพิ่ม 53.7%

ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 3.6% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 1.5% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 5.6% สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 21.4% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 5.2% ข้าว เพิ่ม 7.7% ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 95% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 171.4% ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง เพิ่ม 61.6% ส่วนยางพารา ลด 34% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 9.1% อาหารสัตว์เลี้ยง ลด 23.4% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ลด 23.9%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ภาพรวมยังคงหดตัว โดยตลาดหลักลด 5.9% เช่น สหรัฐฯ ลด 9.5% จีน ลด 7.9% ญี่ปุ่น ลด 2.5% CLMV ลด 4.9% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 6.4% แต่สหภาพยุโรป เพิ่ม 0.1% ตลาดรอง เพิ่ม 2.4% เช่น ฮ่องกง เพิ่ม 28.6% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 23.8% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 11.2% แต่เอเชียใต้ ลด 9.4% ทวีปออสเตรเลีย ลด 9.2% ละตินอเมริกา ลด 4.7% รัสเซียและกลุ่ม CIS ลด 26% สหราชอาณาจักร ลด 3.5% และตลาดอื่นๆ ลด 67.1% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ลด 80.7%

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ตัวเลขน่าจะยังติดลบเพราะผู้นำเข้ามีสต๊อกค้างอยู่ ไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ก็จะยังลบอยู่ แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะเริ่มกลับมาเป็นบวกมากขึ้น โดยกรมฯ จะเร่งกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออกต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงขณะนี้ทำไปแล้วประมาณ 25% และตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 จะมีงานแสดงสินค้าใหญ่ๆ มากขึ้น และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศก็จะเริ่มกิจกรรมตั้งแต่ไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป ทั้งนี้ เห็นได้ชัดจากตลาดเป้าหมายที่มีการเพิ่มกิจกรรม เช่น ตะวันออกกลาง ยอดส่งออกเพิ่มได้สูงมาก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกลดลง เนื่องจากฐานปีก่อนสูง ประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้า จึงมีการนำเข้าลดลง และเงินเฟ้อในหลายประเทศยังทรงตัวในระดับสูง มีผลต่อการซื้อสินค้าของผู้บริโภค จึงเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกของไทย โดยการส่งออก ก.พ. 2566 ที่ลบ 4.7% เป็นการลดลงมาแล้ว 5 เดือนต่อเนื่อง และเดือน มี.ค. 2566 คาดว่าจะลบประมาณ 8% ประเมินไตรมาสแรกจะติดลบสูงเพราะฐานปีก่อนสูง ที่ไตรมาสแรกบวก 14.7% แต่จะดีขึ้นเรื่อย ๆ และจะพลิกกลับมาเป็นบวกประมาณกลางปีเป็นต้นไป และเชื่อว่าเป้าหมาย 1-2% จะทำได้ โดยตัวเลขเฉลี่ยต่อเดือนต้องอยู่ที่ 24,700 ล้านเหรียญสหรัฐ 


กำลังโหลดความคิดเห็น